xs
xsm
sm
md
lg

ชาวเน็ตสงสัย! เพื่อน “ดีเจมะตูม” ไปร่วมงานวันเกิดแต่ปกปิดไทม์ไลน์ ถามแบบนี้ผิดกฎหมายไหม?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิจารณ์เพียบ เพื่อน “ดีเจมะตูม” ไปร่วมงานวันเกิดที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร แต่กลับปกปิดไทม์ไลน์ โดยทางราชกิจจานุเบกษาประกาศเรื่องข้อกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 17 ผู้ติดเชื้อที่จงใจปกปิดข้อมูลการเดินทาง เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน

จากกรณี “ดีเจมะตูม” หรือ นายเตชินท์ พลอยเพชร ติดเชื้อโควิด-19 มาจากสถานบันเทิงแห่งหนึ่งที่ จ.เชียงใหม่ และกำลังเข้ารับการรักษา ภายหลังจัดงานวันเกิดที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ซึ่ง หมอธีระออกมาระบุว่า กรณีดังกล่าวนับเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ เนื่องจากมีคนที่ติดโควิดต่อเนื่องเชื่อมโยงไปถึงงานเลี้ยงดังกล่าวแล้ว 24 รายอีกด้วย

ล่าสุด วันนี้ (27 ม.ค.) กรุงเทพมหานครได้เปิดเผยไทม์ไลน์ผู้ป่วยที่ได้สอบสวนประวัติแล้ว พบว่า ในกลุ่มดังกล่าวมีไทม์ไลน์ที่ระบุว่าไปร่วมงานเลี้ยงวันเกิดมะตูม ที่โรงแรมบันยันทรี เขตสาทร ผู้ป่วยชายรายที่ 658 ซึ่งมีอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่รัฐปกปิดไทม์ไลน์ของตัวเองโดยมีการเผยไทม์ไลน์ ดังนี้

วันที่ 9 มกราคม 2564 : ไปงานวันเกิดเพื่อนที่โรงแรมบันยันทรี เขตสาทร

วันที่ 10-12 มกราคม 2564 : ผู้ป่วยไม่ยอมให้ข้อมูล

วันที่ 13 มกราคม 2564 : ผู้ป่วยเริ่มไอ มีเสมหะ

วันที่ 14 - 21 มกราคม 2564 : ผู้ป่วยไม่ให้ข้อมูล

วันที่ 22 มกราคม 2564 : ทราบว่าเพื่อนที่ไปร่วมงานวันที่ 9 มกราคม 2564 ติดโควิด-19 จึงไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาล ก่อนทราบผลว่าติดโควิด-19 และเข้ารักษาที่โรงพยาบาล โดยเจ้าหน้าที่กำลังสอบสวนหาสาเหตุการติด COVID 19

ส่วนผู้ป่วยรายที่ 657 อาชีพผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ที่มีประวัติไปวันเกิดเพื่อนที่โรงแรมบันยันทรี ซึ่งเป็นงานวันเกิดของดีเจมะตูม ก็ปกปิดข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่โดยมีไทม์ไลน์ ดังนี้

วันที่ 16 มกราคม 2564 : ไปงานวันเกิดเพื่อนที่โรงแรมบันยันทรี เขตสาทร

วันที่ 17-21 มกราคม 2564 : อาศัยอยู่ที่พัก ผู้ป่วยไม่ยอมให้ข้อมูล

วันที่ 22 มกราคม 2564 : ทราบว่าเพื่อนที่ไปร่วมงานวันที่ 16 มกราคม 2564 ติดโควิด-19 จึงไปตรวจหาเชื้อโดยการ Drive thru ที่โรงพยาบาล ก่อนทราบผลว่าติดโควิด 19 และเข้ารักษาที่โรงพยาบาล

นอกจากนี้ ยังมีนักร้อง นักแสดงชายที่ไปร่วมงานวันเกิดดีเจมะตูม ก็ไม่ได้บอกชื่อของตัวเอง และปกปิดไทม์ไลน์ส่วนหนึ่งในวันที่ 14-20 มกราคมเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ชาวเน็ตจำนวนมากออกมาตั้งคำถามว่า การปกปิดข้อมูลแบบนี้ ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เรื่องข้อกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 17 ซึ่งมีข้อความตอนท้าย ระบุว่า

“ผู้ติดเชื้อที่จงใจปกปิดข้อมูลการเดินทางหรือแจ้งข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนและควบคุมโรค เป็นผลให้เชื้อโรคแพร่ออกไป อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ด้วย”











กำลังโหลดความคิดเห็น