ก่อนที่โควิด ๑๙ จะคร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมากในวันนี้ ชาวโลกต่างต้องเผชิญโรคระบาดร้ายแรงสายพันธุ์ต่างๆมามากมาย และคร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนเป็นล้านๆ เพราะไม่รู้จักโรคจึงไม่รู้วิธีรักษาและป้องกัน แต่ในที่สุดด้วยวิทยาการทางการแพทย์ รวมทั้งความเสียสละทุ่มเทชีวิตจิตใจของบรรดาแพทย์และพยาบาล รวมทั้งบุคลากรผู้รับหน้าที่ในด้านต่างๆ ที่เข้าเข้าปราบปรามโรคร้ายปกป้องชีวิตเพื่อนมนุษย์ เหมือนทหารเข้าปราบปรามข้าศึก อย่างที่ได้เห็นกันอยู่ในวันนี้ เพื่อให้หลายคนได้อยู่ดูโลกต่อไป แม้หลายท่านเหล่านั้นจะไม่มีโอกาสได้อยู่ด้วยก็ตาม จนโรคระบาดร้ายแรงหลายสายพันธุ์ต่างหายไปจากโลก ซึ่งเชื่อได้ว่าโควิด ๑๙ ก็คงจะมีชะตากรรมไม่ต่างกัน
โรคระบาดซึ่งเป็นที่สยองขวัญกันมากในสมัยก่อน ก็คือ “อหิวาตกโรค” หรือที่เรียกกันว่า “โรคห่า” ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมาก ในประเทศไทยก็เคยทำให้คนตายถึงปีละ ๓๐,๐๐๐-๔๐,๐๐๐ คน ในขณะที่มีประชากรอยู่เพียง ๒-๓ ล้านเท่านั้น ศพกองเป็นภูเขาเพราะฝังและเผากันไม่ทัน อีกทั้งความไม่รู้ยังทำให้นำเสื้อผ้าของใช้ของคนตายรวมทั้งศพโยนลงในแม่น้ำลำคลองที่ใช้ดื่มกิน จึงทำให้โรคแพร่ระบาดไปอย่างรุนแรง
เมื่อแรกที่ยังไม่รู้จักวิธีรักษา ชาวบ้านก็คิดว่าเกิดจากผี จึงทำพิธีไล่ผี พระมหากษัตริย์ก็ทรงทำพิธีอาพาธพินาศ ปล่อยปลาและสัตว์ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจประชาชน จนเมื่อวิทยาการตะวันตกแพร่เข้ามา ทำให้เรารู้จักอหิวาต์ จึงรู้วิธีรักษาและป้องกัน และเมื่อปฎิบัติอย่างเคร่งครัดแล้ว ก็ทำให้โรคนี้หมดพิษสงไป
แม้กระนั้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ อหิวาต์ก็ยังกลับมาเกิดขึ้นอีก เพราะในการสร้างทางรถไฟสายมรณะ ญี่ปุ่นเกณฑ์คนงานมาจากพม่าและมลายู ชีวิตความเป็นอยู่ของเชลยศึกที่ขาดอนามัยทำให้อหิวาต์ระบาดขึ้น มีผู้ล้มตายเป็นจำนวนมาก จนถึงปัจจุบันบางปีก็ยังมีอหิวาต์เกิดขึ้นในบางประเทศ แต่เมื่อคนส่วนใหญ่รู้จักวิธีป้องกันและรักษาแล้ว อหิวาต์ก็ไม่สามารถแพร่ระบาดต่อไปได้
อีกโรคหนึ่งที่เป็นโรคเก่าแก่และร้ายแรงไม่แพ้อหิวาต์ ก็คือ “โรคไข้ทรพิษ” หรือ “ฝีดาษ” ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้ผู้ได้รับเชื้อมีอาการไข้ขึ้นสูง มีผื่นขึ้นตามตามใบหน้าและลำตัว ต่อมาจะเป็นตุ่มใส เมื่อแตกออกจะป็นแผลหนอง แม้รักษาหายก็จะแผลเป็น ทำให้ผู้ที่เป็นโรคนี้ถ้าไม่เสียชีวิตก็จะมีแผลเป็นที่ใบหน้าและลำตัวตลอดไป
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่ามีพระมหากษัตริย์ไทย ๒ พระองค์ที่สวรรคตด้วยโรคฝีดาษ คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ หน่อพุทธางกูร พระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาลำดับที่ ๑๑ กับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กษัตริย์ลำดับที่ ๑๘ ซึ่งเป็นฝีละลอกขึ้นที่พระพักตร์ กลายเป็นพิษจนสิ้นพระชนม์ ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นฝีดาษ
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการระบาดหนักในสมัยรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯให้หมอบรัดเลย์เริ่มปลูกฝีป้องกันทรพิษขึ้น ในระยะแรกต้องสั่งหนองฝีนำเข้ามาจากอเมริกา ต่อมาก็เพาะเชื้อขึ้นได้ในประเทศไทย และกักเรือทุกลำที่มาจากต่างประเทศให้จอดที่ด่านตรวจป้องกันโรคเป็นเวลา ๑๔ วัน และให้ทุกคนบนเรือปลูกฝีป้องกันทรพิษก่อน จึงจะได้รับอนุญาตเข้ามาได้
แต่ในขณะที่หมอบรัดเลย์ช่วยชีวิตคนได้เป็นจำนวนมากนี้ ลูกสาวของหมอก็ต้องเสียชีวิตลงด้วยไข้ทรพิษ ที่พ่อหันมาช่วยลูกสาวตัวเองไม่ทัน
ในระยะปี ๒๔๘๘ ที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลง ได้เกิดฝีดาษระบาดรุนแรงขึ้นอีก ในปีนั้นมีผู้ป่วย ๓๖,๓๙๔ คน เสียชีวิต ๘,๖๐๖ คน และในปี ๒๔๘๙ มีผู้ป่วย ๒๖,๔๔๓ คน เสียชีวิต ๗,๐๑๕ คน ทั้งนี้เกิดจากคนงานที่ญี่ปุ่นเกณฑ์มาสร้างรถไฟสายมรณะซึ่งมีทั้งอหิวาต์และฝีดษาษ เมื่อสงครามสงบคนงานเหล่านี้กลับบ้าน ก็ได้นำฝีดาษไปแพร่ระบาดต่อไป
การระบาดครั้งใหญ่ของฝีดาษเกิดขึ้นอีกในปี ๒๕๐๒ โดยเริ่มที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยรับเชื้อมาจากพม่าเช่นกัน ทำให้กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์ปลูกฝีป้องกันทรพิษทั่วประเทศ
ในปี ๒๕๒๓ องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าฝีดาษได้ถูกกวาดล้างหมดไปจากโรคแล้ว จากนั้นมาก็ไม่ปรากฏว่าเกิดฝีดาษขึ้นในประเทศไทยหรือที่ไหนในโลก
นอกจากอหิวาต์และฝีดาษแล้ว โรคที่น่ากลัวในยุคที่ผ่านมาและทำให้คนตายมากที่สุดในโลก ก็ตือ “กาฬโรค” หรือ “มรณะดำ” ซึ่งเกิดครั้งใหญ่ขึ้น ๓ ครั้ง ครั้งแรกระหว่าง ค.ศ.๕๔๑-๕๔๒ มีคนตายทั่วโลกถึง ๑๐๐ ล้านคน ประชาการยุโรปลดลงกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ครั้งที่ ๒ ระหว่าง ค.ศ.๑๓๓๘-๑๓๕๑ เริ่มจากตอนใต้ของอินเดียและจีน ระบาดเข้าสู่ยุโรปตลอดเส้นทางสายไหม ที่อิตาลีมีคนตาย ๒ ใน ๓ ของประเทศ ที่ลอนดอนมีคนตายถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ จากประชากร ๔๕๐,๐๐๐ คนเหลือเพียง ๖๐,๐๐๐ คน การระบาดช่วงนั้นคนยุโรปตายไปถึง ๒๕ ล้านคน ส่วนการระบาดครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นใน ค.ศ.๑๘๕๕ เริ่มขึ้นที่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน แล้วแพร่ไปทั่วโลก ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง ๑๒ ล้านคน จนใน ค.ศ.๑๘๙๔ แพทย์ชาวฝรั่งเศศจึงได้ค้นพบว่าสาเหตุเกิดมาจากเชื้อแบคทีเรียอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ฟันแทะ และสามารถติดต่อถึงคนได้ ทำให้เกิดการคิดวิธีรักษา จนปัจจุบันกาฬโรคสามารถรักษาให้หายได้หากครวจพบได้เร็ว ทำให้โรคนี้หยุดการแพร่ระบาดไป จนในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๒ มานี้ ได้พบกาฬโรคเกิดขึ้นที่มณฑลชิงไห่ในประเทศจีนอีก พบผู้เสียชีวิตจากกาฬโรค ๓ ราย และมีญาติติดเชื้ออีก ๙ ราย แต่ไม่เกิดการระบาด
สำหรับประเทศไทย ที่กล่าวกันในพงศาวดารว่า พระเจ้าอู่ทองทรงย้ายเมิองจากอโยธยามาสร้างกรุงศรีอยุธยา เพาะหนีโรคห่ามานั้น “โรคห่า” นี้อาจไม่ใช่อหิวาต์ แต่เป็นกาฬโรคที่เรียกกันว่า “โรคห่า” เหมือนกันก็ได้ โดยติดมาจากหนูในสำเภาที่เข้ามาจากเมืองจีน แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า “โรคห่า” ตรั้งนี้ เป็นอหิวาต์หรือกาฬโรคกันแน่
เอกสารที่ยืนยันว่ากาฬโรคเกิดขึ้นในเมืองไทย ปรากฎอยู่ในจดหมายเหตุรายวันพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ขณะ ร.๕ เสด็จประพาสยุโรปใน พ.ศ.๒๔๔๐ เรื่องห้ามเรือจากซัวเถาเข้ากรุงเทพฯ ให้จอดที่เกาะไผ่ก่อน ๙ วัน เมื่อแพทย์ตรวจไม่พบกาฬโรคในเรือนั้นแล้ว จึงอนุญาตให้เข้ากรุงเทพฯได้
ต่อมาในปี ๒๔๔๗ นายแพทย์ เอช แตมเบล ไฮเอ็ด เจ้ากรมสุขาภิบาล มีรายงานว่าพบผู้ป่วยเป็นกาฬโรคที่ย่านตึกแดงตึกขาว ซึ่งเป็นโกดังสินค้าของชาวอินเดียที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หลังวัดอนงคาราม ฝั่งธนบุรี น่าจะเกิดจากหนูที่ติดสำเภามาจากเมืองบอมเบบ์ แล้วระบาดข้ามมาสู่ฝั่งพระนคร แต่ไม่มีสถิติผู้ป่วยผู้ตาย
ต่อมาในปี ๒๔๕๖ มีรายงานว่าเกิดกาฬโรคระบาดที่จังหวัดนครปฐม มีคนตาย ๓๐๐ คน และครั้งสุดท้ายเมื่อปี ๒๔๙๕ มีผู้ป่วย ๒ ราย ตาย ๑ ที่ตลาดตาคลี นครสวรรค์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเกิดขึ้นของกาฬโรคในประเทศไทยครั้งสุดท้าย จากนั้นก็ไม่พบกาฬโรคอีกเลยจนกระทั่งปัจจุบัน
“โรคเรื้อน” ก็เป็นโรคระบาดร้ายแรงอีกอย่างในอดีต ปัจจุบันแม้จะมีการป้องกันและรักษาอย่างดีแล้ว แต่โรคนี้ก็ยังคงมีอยู่ เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีอาการทางผิวหนังและเส้นประสาทส่วนปลาย ระยะเริ่มแรกผิวหนังจะเป็นวงด่างสีขาวหรือแดง บริเวณรอยโรคจะแห้งเหงื่อไม่ออก ขนร่วง มีอาการชาและไม่คัน ต่อมาผิวหนังจะเป็นผืนนูนแดงหนา ซึ่งเป็นระยะแพร่เชื้อติดต่อถึงผู้อื่นได้ทางสัมผัสและทางลมหายใจ จากนั้นกล้ามเนื้อมือและเท้าชา อ่อนกำลัง นิ้วงอ ข้อแข็ง กระจกตาชา หลับไม่สนิท ทำให้เกิดความพิการที่มือ เท้า และใบหน้า เกิดตุ่มแดงทั้งตัว หากไม่ได้รับการรักษาก็จะทำให้เกิดตวามพิการทางมือ เท้า และใบหน้าได้ แต่หากผู้ป่วยรับประทานยาแล้วภายใน ๓-๗ วัน ก็ไม่สามารถแพร่เชื้อถึงผู้อื่นได้ และถ้ารับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลา ๖ เดือนหรือ ๒ ปี อาการของโรคก็จะหายได้ ซึ่งขณะนี้มีสถานพยาบาลที่รักษาโรคเรื้อนโดยเฉพาะอยู่หลายแห่ง อย่าง สถาบันราชประชาสมาสัย (รพ.ประประแดง) ที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ พระราชทานไว้
โรคที่ยังแพร่อยู่ในปัจจุบันอีกโรคหนึ่ง ก็คือ “ไข้หวัดใหญ่” ซึ่งแยกได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ๒๐๐๙ ที่กลายพันธุ์มาจากเชื้อไวรัสตัวเดิม จึงทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิคุ้มกันและติดเชื้อในวงกว้าง
ไข้หวัดใหญ่มักระบาดในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม และช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคมของทุกปี โดยมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา ซึ่งไข้หวัดธรรมดาจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป แต่ไข้หวัดใหญ่จะมีไข้สูงติดต่อกันหลายวัน โดยเฉพาะในเด็กจะมีไข้สูงเกินกว่า ๓๙-๔๐ องศาเซลเซียส และมีอาการหนาวสั่นสะท้านร่วมด้วย อีกทั้งปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร
อาการน่ากลัวของไข้หวัดใหญ่อีกอย่างก็คือ การเกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ปอดอักเสบ และ สมองอักเสบ ซึ่งมักเกิดกับเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคหัวใจ โรคปอด เบาหวาน ไต และเอดส์ ซึ่งต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
ไข้หวัดใหญ่กับโควิด ๑๙ จะมีอาการต่างกันคือ
อาการของโรค ไข้หวัดธรรมดา
- มีไข้ต่ำถึงมีไข้สูง ผ่านไป ๓-๔ วัน อาการจะเริ่มดีขึ้น
- อาจมีไอ จาม เล็กน้อย ผ่านไป ๓-๔ วัน อาการจะเริ่มดีขึ้น
- น้ำมูกไหล มีอาการคัดจมูก ทำให้หายใจไม่สะดวก
- ปวดตามตัว รู้สึกอ่อนเพลีย
- ไม่มีอาการท้องเสีย
อาการของโรค COVID-๑๙
-มีไข้สูงมากกว่า ๓๗.๕ องศา
- ปวดเมื่อยตามตัว ทานอาหารไม่ค่อยได้
- ไอ มีเสมหะ เจ็บคอ นานติดต่อกันมากกว่า ๔ วัน
- บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียร่วมด้วย
- หายใจลำบากมีไอร่วมด้วย ในบางรายรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบ หรือปอดบวม
โรคฮิทอีกโรคในเมืองไทย ก็คือ “กามโรค” และเป็นโรคเก่าแก่ของเมืองไทย พงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ผู้เป็นรัชทายาท และเป็นรัตนกวีของกรุงศรีอยุธยา ก็ถูกจารึกไว้ว่าเป็นโรคบุรุษจนไม่สามารถว่าราชการได้ ในที่สุดก็ไปไม่ถึงราชบัลลังก์เพราะโรคนี้
ในสมัยรัตนโกสินทร์ โรคบุรุษครองอันดับยอดนิยมของชายนักเที่ยว โดยเฉพาะในสมัย ร.๕ บ้านเมืองเริ่มเข้าสู่ยุคศิวิไลซ์ มีโสเภณีอินเตอร์ทั้งยุโรปและเอเซียเข้ามาขุดทองกันมาก ชายไทยจึงงอมพระรามด้วยโรคบุรุษกันมากมาย สมัยนั้นยาฝรั่งก็ยังไม่ค่อยมีรักษา จึงต้องซดยาไทยที่ต้มกันเป็นหม้อๆ ที่เป็นหนักถึงขั้น “ออกดอก” น้ำเหลืองเยิ้มไปทั้งตัวก็มี ต้องใช้ใบตองปูให้นอน
“โรคบุรุษ” หรือที่จีนเรียก “จาโบ๊ฮวง” บ้างก็เรียกว่า “โรคสตรี” เพราะต้องมีทั้งบุรุษและสตรีปฏิบัติการร่วมกันจึงเกิดโรคนี้ได้ และมีหลายชนิด เช่น “หนองใน” เกิดจากเชื้อโกโนเรีย ซึ่งพบมากกว่าโรคบุรุษชนิดอื่นๆ ส่วน “หนองในเทียม” มีอาการคล้ายๆหนองใน แต่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโกโนเรีย สาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียตัวอื่นๆ เช่น เชื้อรา เชื้อพยาธิ ฯลฯ จะเกิดจากการร่วมเพศหรือไม่ได้ร่วมเพศก็ได้
โรคบุรุษอีกชนิดที่แพร่หลาย ก็คือ “ซิฟิลิส” พบน้อยกว่าหนองใน แต่อิทธิฤทธิ์ร้ายแรงกว่ามาก ถ้าปล่อยให้เป็นหนักก็จะถึงขั้นทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว หลอดเลือดโป่งพอง ทำลายไปถึงสมองทำให้เป็นอัมพาต หรือสมองเสื่อม ถ้าถึงระยะนี้ก็ยากที่จะรักษาแล้ว และถ้าติดไปถึงภรรยาที่ตั้งครรภ์ ก็จะทำให้เด็กตายในท้อง หรือเป็นซิฟิลิสตั้งแต่เกิดด้วย
โรคบุรุษอีกชนิด ก็คือ “แผลริมอ่อน” ฟังชื่อทางการแพทย์ก็ดูไม่ค่อยน่ากลัว แต่บรรดานักเที่ยวประเภทนี้พากันขยาดหัวหดไปตามกัน และตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “ไอ้ฮวบ” เพราะแผลที่เป็นนั้นจะกัดกร่อนลึกเข้าไปจนทำให้อวัยวะเพศขาดหลุดไปทั้งอันได้
อีกโรคก็คือ “ฝีมะม่วง” เกิดการอักเสบที่ต่อมน้ำเหลืองตรงไข่ดันบวมแดงเป็นหนอง อาจเกิดจากเป็นแผลที่ขาและเท้า หรือเกิดจากแผลริมอ่อนก็ได้ อาจลามไปถึงช่องทวารหนักทำให้ตีบตันจนถ่ายอุจจาระไม่ได้
“หนอนไก่” ก็เป็นโรคบุรุษอีกชนิด เกิดที่อวัยวะสืบพันธุ์จากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง สาเหตุจากไม่รักษาความสะอาด โรคนี้ไม่ค่อยร้ายแรง แค่ใช้ทิงเจอร์ทาไปที่หงอนไก่ก็หายได้
โรคบุรุษเหล่านี้ แม้จะเป็นโรคร้ายแรง แต่ก็รักษาด้วยการกินยาหรือฉีดยาได้ บุรุษชาติอาชาไนยทั้งหลายจึงไม่ค่อยกลัว กล้าเสี่ยงกัน แต่พอมีการพบโรค “เอดส์” และ “HIV” เกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๒๔ ที่อเมริกา จากนั้นก็แพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้คนตายไปเป็นจำนวนมาก ทั้งยังไม่มีวัคซีนป้องกันและรักษาให้หายขาดได้ คนเป็นโรคเอดส์จึงเหมือนไม่ถูกตัดสินให้ประหารชีวิตก็ต้องถูกจำคุกตลอดชีวิต จึงพากันขยาดไปทั้งหญิงและชาย เลยทำให้โรคบุรุษทั้งหลายพากันซบเซาไปตามกัน ไม่มีใครกล่าวถึงกันอีก วิตกกันแต่เอสด์และ HIV เท่านั้น
บัดนี้ โรคระบาดเหล่านี้ต่างหมดพิษสงลงไปมากแล้ว และหลายโรคต้องสูญพันธุ์ไป ถึงแม้โควิด ๑๙ นี้ก็เชื่อได้ว่าต้องเอาอยู่ แต่ก็เชื่อได้อีกเหมือนกันว่า จะต้องมีโรคระบาดสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอีก ฉะนั้นวิถีชีวิตใหม่ของคนรุ่นเราคงจะสนุกสุดเหวี่ยงด้วยความประมาทกันไม่ได้แล้ว
การป้องกันตัวเองจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด “การ์ดอย่าตก” เป็นอันขาด และเงี่ยหูฟังข่าวต่างประเทศไว้บ้าง หากเกิดโรคระบาดขึ้นที่ใดเราจะได้ป้องกันตัวได้ทัน ไม่เป็นคนกลุ่มแรกที่ไปรับการระบาด จะได้มีชีวิตอยู่ในโลกที่แสนสุขและแสนสนุกใบนี้ต่อไป