xs
xsm
sm
md
lg

คำต่อคำ “ผู้ว่าฯ หมูป่า” แนะเคล็ดลับฝึกวินัยการเงิน ลูกสาว 2 คนเก็บเงินได้หลักล้านเพราะทำสิ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” เจ้าของฉายาผู้ว่าฯ หมูป่า ออกคลิปแบงก์ชาติ สำนักงานภาคเหนือ แนะสร้างวินัยการเงินให้คิดเป็นแผน แยกออมไปเลยเป็น 5 ส่วน เผยให้ลูกสาวทำ Proposal ก่อนโอนเงินให้ใช้เป็นก้อนปีละครั้ง แล้วห้ามขออีก คอมพิวเตอร์ต้องผ่อน มือถือเก็บเงินเอง ผลก็คือมีเงินเก็บหลักล้านตั้งแต่ยังไม่อายุ 30

นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ที่ได้รับฉายาว่าเป็น “ผู้ว่าฯ หมูป่า” ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “การเงินนอกห้อง” ผลิตโดยงานส่งเสริมความรู้การเงิน ส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ โดยพบว่านอกจากจะมีประสบการณ์ด้านการบริหารงานแล้วยังมีความเชี่ยวชาญในการวางแผนทางการเงินด้วย “ทีมข่าวโซเชียลมีเดีย MGR Online” ขอนำ “คำต่อคำ” มานำเสนอ



- เรียนรู้การออมในวัยเด็กจากอะไร

เราเติบโตมาในครอบครัวของพ่อค้า ยังจำได้ว่าถ้าปิดเทอมก็ต้องมาช่วยขายหนังสือพิมพ์ ขายน้ำเก๊กฮวย แต่ก่อนขายเก๊กฮวยถ้วยหนึ่ง 50 สตางค์ ก็ต้องต้มตั้งแต่ตีสี่ 4 เงินทุกบาททุกสตางค์มันสำคัญหมด เราก็สะสมเงินขึ้นมา ทำสต๊อก การตลาด การค้า มันทำให้เราค่อยๆ เรียนรู้ แล้วก็เติบโตมาเราก็ใช้ตรงนี้ในการดูแลครอบครัว ดูแลลูก แล้วก็เอามาสอนคนอื่นให้มีวินัยทางการเงิน เพราะว่าคนไทยเองเรายังขาดวินัยทางการเงินเยอะ

- การออมของท่านในช่วงวัยรุ่น

ตอนช่วงวัยรุ่นเติบโตมา ก็ยังคงไม่ได้มีวินัยการเงินการคลังอะไรที่ชัดเจน พ่อก็จะให้เงินไปเรียนหนังสือวันละ 50 บาท ใน 50 บาท เป็นค่าอาหารกลางวัน ค่าขนม รวมถึงค่ารถเมล์ด้วย ก็ต้องบริหารให้อยู่ใน 50 บาท แต่สิ่งที่ได้ความรู้มากที่สุด มันกลับไปเป็นตอนที่ไปเรียนที่ต่างประเทศ

- ประสบการณ์ที่ได้จากการไปเรียนต่างประเทศ

ผมเรียนอยู่ 2 ปี มันเป็นอะไรที่ต้องบริหารการเงินการคลังของเราอย่างมั่นคง ไม่งั้นเราไม่มีเงินจ่าย เราได้ทุนมา 510 เหรียญฯ ต่อเดือน มันก็พอกินพอใช้ถ้าเรากระเบียดกระเสียร ค่าที่พัก 280 เหรียญฯ ค่าน้ำ ค่าไฟประมาณ 30 เหรียญฯ 300 กว่าเหรียญฯ แล้วนะ เหลืออีก 200 เหรียญฯ ถ้าคิดว่าเป็นค่ากินหมดเลย 30 วัน 3x7 = 21 เหรียญฯ เท่ากับวันหนึ่งแค่ 6 เหรียญฯ ต้องไปชอปปิ้งที่ตลาด แล้วมาทำอาหารกินเอง ถึงจะเก็บเงินได้ ผมก็ไปรับจ้างมหาวิทยาลัยในการทำงานในครัวของแคนทีน เหมือนกับโรงอาหารของมหาวิทยาลัย พอเราไปทำปุ๊บ เราได้สิทธิพิเศษ กินอาหารฟรี 3 มื้อ ผมไม่ต้องทำกินแล้ว ผมไม่ต้องจ่ายเงิน เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องคิดเป็นแผนหมด

- ได้นำประสบการณ์ที่ได้มาสอนผู้อื่นอย่างไรบ้าง

ผมจะบอกกับพวกเราว่า สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเรา มนุษย์ทุกคน ทุกนาที เรามีความเสี่ยง อย่าประมาท เราอยู่บนความเสี่ยงของพื้นฐาน ไม่รู้ว่าจะเกิดอุบัติเหตุเมื่อไหร่ ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร อะไรยังไง การใช้ชีวิตแบบไม่ประมาท เราต้องมองว่า 1. ต้องมีแผนการดำรงชีวิตในอนาคต 2. ต้องมีเงินออมเพียงพอ ถ้าเป็นราชการ เราทำงานอายุ 60 ปี เราต้องเกษียณ หรือเราไม่ใช้ราชการแท้ๆ ที่ได้บำเหน็จบำนาญ แต่เราเป็นลูกจ้าง อายุ 60 ปี เกษียณปุ๊บ เราไม่มีบำเหน็จบำนาญ เราจะอยู่ยังไง

- อยากรวยเร็วแบบใช้ทางลัด จะเป็นไปได้ไหม

ผมบอกว่าการรวยเร็วหรือทางลัด ขออนุญาตใช้คำว่า ไม่มี หรือมีน้อยมาก คนที่รวยเร็วมีอยู่อย่างเดียว เกิดมาในครอบครัวที่รวยอยู่แล้ว เกิดมาบนกองเงินกองทอง พ่อแม่ที่ธุรกิจวางรากฐาน พื้นฐานตัวเองเรียนหนังสือดี แล้วแข็งแกร่ง แล้วมาต่อยอดธุรกิจของครอบครัวของพ่อแม่ได้ นั่นคือคนที่รวยลัด แต่คนที่รวยโดยไม่ต้องเหนื่อย ไม่มี ยาก อย่างผมถึงแม้จะมีครอบครัวที่ทำธุรกิจ แต่ผมก็ไม่เคยแบมือขอพ่อแม่ ผมยืนยันว่าผมสตาร์ทจากศูนย์ เดี๋ยวนี้ช่องทางการหารายได้พิเศษต่างๆ มีมากมาย ถ้าเราแบ่งเงินออมเป็น เรามาออม เราไปลงทุนถูกที่ถูกเวลา ถ้าเรามีรายได้สองแหล่งขึ้นมา เราจะเริ่มเบาแรง เราจะเริ่มรวยแล้ว

- นิยามคำว่ารวยของผู้ว่าฯ เป็นอย่างไร

ถ้าเรามีรายได้จากการที่ไม่ต้องทำงานแล้ว แล้วรายได้จากการไม่ต้องทำงานเท่ากับรายจ่ายเรา วันนั้นรวยแล้ว ถามผมว่าวันนี้ ถึงแม้รายได้ผมไม่ได้มากมายนัก ผมอาจจะไม่มีเงินร่ำรวยแบบคนอื่นเยอะแยะ แต่ผมนิยามตัวของผมเองว่า ผมเข้าสู่ฐานะสบายๆ แต่ถ้าผมลาออกวันนี้ แล้วผมนั่งอยู่เฉยๆ อย่าลืมว่าผมมีเงินทุนฝากไว้แล้ว คือบำนาญจากราชการ ผมจะได้เงินบำนาญจากราชการเดือนหนึ่งประมาณ 4 หมื่นกว่าบาท แล้วผมได้ดอกเบี้ยจากค่าเช่าเดือนหนึ่งประมาณ 2 หมื่นบาท ผมมีรายได้เดือนละ 6 หมื่นบาท โดยที่ถ้าผมลาออก แล้วผมไม่ต้องทำงานแล้ว ผมมีรายจ่ายเดือนละ 5 หมื่นบาท ผมรวยแล้ว เพราะผมเหลือเงิน

- ผู้ว่าฯ ฝากถึงน้องๆ

ถ้าเราไม่มีการฝึกวินัยทางการเงินการคลัง และเงินออมพอสมควร มันก็จะกลายเป็นภาระของรัฐ ภาระของท้องถิ่น ภาระของรัฐบาลในอนาคต ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากในอนาคต ตรงนี้เองมันไม่สามารถปลูกฝังตอนโต มีความรู้แล้วค่อยมาปลูกฝังได้ แต่มันควรจะปลูกฝังในครอบครัวตั้งแต่เล็กๆ ก็อย่างที่บอกว่า ผมเติบโตมาในครอบครัวพ่อค้า ผมเลยถูกปลูกฝังเรื่องนี้มา

ในตอนที่ 2 นายณรงค์ศักดิ์กล่าวว่า การที่คนเราบอกว่าเราไม่มีเงินจะออม ผมว่ามันเป็นการปฏิเสธโดยที่เราไม่ทำต่างหาก ออม 200 บาทก็เป็นออม ออม 20 บาทก็เป็นออม แล้วแต่ว่าเราจะแบ่งและจัดสรรเงินอย่างไรต่างหาก

- เทคนิคการออมของผู้ว่าฯ

ผมขออนุญาตอย่างนี้ ผมขออนุญาตหยิบแบงก์ 10 ขึ้นมา 10 ใบ ... 10 ใบนี้เหมือน 100% ผมอยากให้เราแบ่งเงินเป็น 5 ก้อน ออมก่อนเลย อย่าเพิ่งเหลือแล้วค่อยออม ก้อนแรก คือการออมปกติ ใช้บัญชีเงินฝากอะไรก็ได้ ไปหาดอกเบี้ยที่มันเยอะหน่อยในตลาด แล้วก็ฝากไว้ เงินออมนี้ไว้ใช้ในยามจำเป็น เกิดต้องเจ็บป่วย ญาติพี่น้องเจ็บป่วย ลูกเจ็บป่วย พ่อแม่เจ็บป่วย จะได้เอาเงินตรงนี้ไปใช้ได้ ก้อนที่สอง อยากให้เราแบ่งออกมาเป็นเงินที่เราเรียกว่าเอาไว้ลงทุน ท่านอยากจะลงทุน เปิดร้านขายกาแฟในอนาคต ท่านอยากจะลงทุนเปิดร้านซูเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ ในตลาด

กล่องที่สาม ให้เป็นกล่องของเงินที่เอาไว้ใช้จ่าย กล่องที่ 4 เป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาตัวเอง บางคนเรียน ปวช. ปวส. อยากจะเรียนในอนาคตต่อปริญญาตรี ถ้าเรียนปริญญาตรีจบ ท่านต้องการก้าวหน้า ท่านจะได้เอาเงินไปเรียนปริญญาโทได้ ไม่ต้องขอพ่อแม่ แต่เก็บเงินตรงนี้ได้ การเรียนบางทีมันไม่ใช่แค่อยาก แต่มันพัฒนาตัวเองขึ้นมา สามารถไปสร้างรายได้ สามารถไปดูแลครอบครัวได้เพิ่มขึ้น มันเป็นการลงทุน แล้วกองที่ 5 เอาไว้ให้แก่รางวัลแห่งชีวิต ไม่ใช่เหนื่อยทั้งปีเลย แล้วรางวัลชีวิตไม่มี เราแบ่งสัดส่วนเท่าไหร่ก็ได้

- เราจะแบ่งแต่ละส่วนอย่างไรดี

ผมขอเป็นเงินออม 20% ผมขอเป็นเงินลงทุน 20% เรามีเงินค่าใช้จ่ายประจำเดือน ค่ากิน ค่าอยู่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน 50% แล้วก็เงินสำหรับรางวัลแห่งชีวิต หรือเอาไปพัฒนาตัวเอง อย่างละ 5% ถ้าเราแบ่งเงินได้อย่างนี้ จะเห็นว่าเราจะถูกบีบให้ใช้ใน 50% แต่เรายืดหยุ่นได้ จะกลายเป็น 60% ถ้ารายจ่ายเราเยอะขึ้น

- ถ้าเงินใช้เหลือ เราจะเก็บไว้ที่กองไหนดี

ให้มาเก็บในกองออมทรัพย์ หรือกองลงทุน ท่านจะเห็นว่ากองมันก็จะโตขึ้น ปีนี้ออมทรัพย์ไม่มีรายจ่ายฉุกเฉินเลย ไม่เจ็บป่วย ไม่อะไรเลย เราก็มาเก็บในกองลงทุนเพิ่มขึ้น จะเห็นว่าเงินเราพอที่จะไปซื้อที่ดิน ไปดาวน์บ้าน ไปดาวน์คอนโดย เราก็จะมีทรัพย์สิน เมื่อเรามีทรัพย์สินขึ้นมา วันข้างหน้าเราเอาคอนโดไปให้เขาเช่า เราก็จะมีรายได้ที่ไม่ต้องทำงานเกิดขึ้นมา

- ถ้าเงินไม่พอใช้ ต้องทำอย่างไร

ถ้าเงินไม่พอใช้ อย่าไปเพิ่มการหารายได้เพิ่มก่อน ต้องลดรายจ่ายก่อน ถ้าเราหารายได้เพิ่ม แล้วเราได้เงินมา ความต้องการของเราไม่มีที่สิ้นสุด หารายได้เพิ่มมา อ๋อ เปลี่ยนโทรศัพท์มือถือ ไอโฟนรุ่นใหม่ออกซื้อไอโฟน ซัมซุงรุ่นใหม่ออกซื้อซัมซุง ยี่ห้ออะไรไม่รู้สารพัด รุ่นใหม่ออกซื้อยี่ห้อนั้น โทรศัพท์ผมเอง มือถือที่ผมใช้วันนี้ปีที่ 4 แล้ว ผมยังไม่เปลี่ยนเลย ตราบใดที่ยังโทรรับเข้า ดูข้อมูล ดูทำงานได้ต่อ ผมก็ยังทำงานได้

- เราควรจะเริ่มลดรายจ่ายจากสิ่งไหนก่อนดี

รายจ่ายฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็นต่อครอบครัว ลดไปก่อนเลย เล่นหวยไหม ไม่ได้บอกให้เลิก แต่บอกให้ลด แล้วถ้าเราลดได้ ต่อไปเราจะเลิกได้ เคยซื้อลอตเตอรี 2 คู่ ก็ซื้อคู่เดียวได้ไหม กินเหล้าไหม วันหนึ่งกั๊กหนึ่งหรือแบนหนึ่ง ก็ลดเหลือครึ่งหนึ่งได้ไหม เคยสูบบุหรี่ซองก็ลดเหลือครึ่งหนึ่งได้ไหม แล้วท่านจะรู้ว่าชีวิตมันดีขึ้นเยอะ นี่คือการลดรายจ่าย เราลดจนบุหรี่ไม่สูบ เหล้าไม่กิน ลอตเตอรีไม่ซื้อ หวยไม่ซื้อ เราก็จะเหลือเงินเอาไปลงทุน เอาไปออมได้อีกเยอะแยะ

- การออมที่สอนลูก

ลูกพอโตถึงวันหนึ่ง ตอนที่เขาเรียนมัธยมปลาย กับตอนที่เขาเรียนปริญญาตรี แทนที่เราจะให้เงินเป็นรายวัน ให้เขาทำแผนของมาเลยว่า ตั้งแต่ 1 มกราคม จนถึง 31 ธันวาคม เขาต้องใช้อะไรบ้าง เขาต้องใช้เงินกินเท่าไหร่ ค่าหนังสือเท่าไหร่ ค่าเดินทางเท่าไหร่ แล้วเอาแผนมาดู ก็มาเสนอผมเป็น Proposal ผมจะมาดูเลยว่า อันนี้ตรง อันนี้โอเค ตามนี้ แต่ของพวกนี้ผมบอกได้เลยว่า ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ เป็นมือถือ เราจะให้เขาซื้อได้ แต่เขาจะต้องผ่อนผม อย่างนี้เขาจะได้มีวินัย เขาจะได้ไม่เปลี่ยนของบ่อย มือถือนี่ไม่ได้ ถือว่าเป็นของฟุ่มเฟือย เขาต้องเก็บเงินเอง

เมื่อเขาส่งแผนมาปุ๊บ เราดูว่าเป็นไปได้ เราจะอนุมัติแผนการเงินให้เขา แล้วผมโอนเงินให้เขาทั้งก้อน สมมติบอกว่าปีนี้เขาต้องใช้จ่ายทั้งหมด 1 แสนบาท ผมโอนให้เขา บัญชีทั้ง 1 แสนบาทเลย แล้วให้เขาบริหารเอง โดยที่ห้ามมาขอผมอีก แต่ถ้าเขาเหลือเงินเก็บ เขาเก็บเข้าบัญชีไว้เป็นเงินส่วนตัวเลย หลังจากจบแล้วทำงานมาระยะหนึ่ง ลูกผม 2 คน วันนี้ชีวิตเขายึดถือแบบแผนที่เราสอนมาตั้งแต่เด็กๆ อายุยังไม่ถึง 30 ปี 20 กว่า เขาเก็บเงินหลักล้านได้ทั้งสองคนแล้ว พอเขาทำงาน เขาเอาความรู้จากการวางแผนตรงนี้ไปทำในชีวิตการเรียน การทำงานเขาได้ทันที

- ถ้าเราขาดวินัยทางการเงินจะเกิดอะไรขึ้น?

ถ้าเรายังขาดวินัยในการดำรงชีวิต วินัยการเงิน เราก็จะเป็นเมืองที่กู้หนี้ยืมสินเยอะ เอาเงินอนาคต รูดบัตรเครดิตไปก่อน ประเทศที่เจริญหนี้ครัวเรือนมันไม่ได้เยอ เขาเอาเงินไปลงทุนหมด เพื่อที่จะต่อยอดไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ เอามาให้เช่า แต่ของไทยเราเอาเงินอนาคตไปซื้อหมดเลย แล้วเราจะเอาเงินที่ไหนไปลงทุน


กำลังโหลดความคิดเห็น