ในหนังสือขอลาออกจากราชการและขอลาบวช ที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์วางไว้ในห้องบรรมของสมเด็จพระอนุชา กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช หัวหน้าคณะราชทูตขณะเดินทางกลับจากญี่ปุ่นแวะที่นครเซี่ยงไฮ้ แล้วหายตัวไปอย่างลึกลับนั้น ได้อ้างว่าทรงท้อแท้ที่จะรับราชการต่อไป จากนั้นทรงไปปรากฏตัวที่ไซ่ง่อนกับหญิงสูงศักดิ์คนหนึ่งที่ปลอมตัวเป็นชาย ก่อนที่จะไปทำงานกับองค์นโรดมที่กรุงพนมเปญ แต่ทำได้แค่ ๖ เดือน ก็ถูกฝรั่งเศสบีบเขมรให้ออกเพราะกลัวว่าจะสร้างเรื่องหนีมาเป็นสายลับให้ไทยซึ่งกำลังมีกรณีพิพาทเขตแดนกัน พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงต้องหาอาชีพใหม่เลี้ยงชีวิตโดยไปทำงานตามวิชาชีพที่เรียนมาคือวิศวกร รับจ้างทำงานให้อังกฤษที่รัฐเประในมลายู
ท่านต้องเรร่อนในช่วงนี้ถึง ๕ ปีจึงไปบวชที่ลังกา ซึ่งเป็นเรื่องตื่นเต้นของชาวพุทธในลังกามาก และเปรียบกันว่าท่านเป็นเหมือนเจ้าชายสิทธัตถะที่สละฐานันดรมาแสวงหาธรรมะ ได้ฉายาว่า พระชินวรวงศ์
ในระหว่างที่ทรงผนวช พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ยังระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่เสมอ พยายามผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มศาสนิกชนทั่วโลก เพื่อให้สถาบันกษัตริย์สยามซึ่งเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวของโลกที่นับถือศาสนาพุทธ เป็นประมุขสูงสุดของชาวพุทธ เช่นเดียวกับโป๊ปของชาวคาทอลิก แต่ก็เป็นงานยาก เพราะในลังกาที่มีพุทธถึง ๓ นิกายใหญ่ คือ นิกายสยามวงศ์ อมรปุระนิกาย (พม่า) และรามัญวงศ์นิกาย ก็ยังรวมกันไม่ได้
ต่อมาในปี ๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ทรงแวะลังกาซึ่งเป็นเส้นทางผ่าน พระชินวรวงศ์คิดว่าเป็นโอกาสดีที่อาจจะได้เข้าเฝ้า ทางกรุงเทพฯได้ส่งพระยาพิพัฒโกษา (เซเลสติโน ซาเวียร์) ชาวโปรตุเกสที่เกิดในไทยและเคยรับราชการที่สถานทูตปารีส ไปเตรียมการรับเสด็จ มีข่าวว่าพระเจ้าอยู่หัวมีพระกระแสรับสั่งจะให้พระชินวรวงศ์กลับไปช่วยสมณกิจในกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส พระยาพิพัฒน์ฯได้ไปแสดงความยินดีและปวารณาจะกลับมาเรี่ยรายเงินเจ้านายและญาติมิตรส่งไปถวายเป็นค่าเดินทางให้พระชินวรวงศ์ พระชินวรวงศ์ได้เข้าช่วยอย่างเต็มที่จัดงานรับเสด็จได้อย่างยิ่งใหญ่
แต่ในรายการเสด็จไปชมพระเขี้ยวแก้วที่เมืองแคนดี เจ้าหน้าที่ของลังกาไม่ยอมให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงสัมผัสพระเขี้ยวแก้ว อ้างว่าคนที่สัมผัสได้ต้องเป็นพระเท่านั้น แต่ความจริงหลายคนรวมทั้งกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช หรือคนต่างศาสนาอย่างชาวอังกฤษก็เคยสัมผัสมาแล้ว ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯซึ่งมีพระราชประสงค์จะตรวจดูว่าพระเขี้ยวแก้วนั้นเป็นของจริงหรือไม่ ทรงกริ้วเป็นอันมาก งานรับเสด็จก็เลยกร่อยไป พระเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จไปที่วัดทีปทุตตมารามที่พระชินวรวงศ์เป็นเจ้าอาวาส
รุ่งขึ้นในปี ๒๔๔๑ ชาวอังกฤษที่ไปทำไร่ในอินเดีย ขุดพบผะอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเป็นจำนวนมาก พระชินวรวงศ์ทราบข่าวก็รีบไปที่นั่นทันที และเสนอต่อผู้สำเร็จราชการอังกฤษในอินเดียให้ถวายพระบรมสารีริกธาตุนี้ต่อพระมหากษัตริย์สยาม ซึ่งเป็นองค์เอกอัครราชูปถัมภ์ศาสนาพุทธ ทางรัฐบาลอังกฤษก็เห็นชอบด้วย จึงให้สถานทูตที่กรุงเทพฯติดต่อกับรัฐบาลสยามโดยตรง ฝ่ายสยามได้ส่งพระยาสุขุมนัยวินิต ซึ่งต่อมาก็คือเจ้าพระยายมราช เป็นผู้ไปรับ
ความดีความชอบของพระชินวรวงศ์ในช่วงนี้ เป็นเหมือนปิดทองหลังพระไม่มีใครเห็นแล้วยังเจอกรรมซัดยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อมีเรื่องลับเรื่องหนึ่งที่ท่านเปิดเผยเองมาถูกเปิดที่กรุงเทพฯ
เมื่อพระยาสุขุมนัยวินิตอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาถึงกรุงเทพฯ ได้รายงานต่อสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ ว่าระหว่างที่ได้พบพระชินวรวงศ์ที่กัลกัตตานั้น พระชินวรวงศ์ได้เล่าให้ฟังว่า ท่านได้แอบหยิบพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเศียรไว้ ๑ ชิ้นโดยไม่ได้บอกให้เจ้าของที่ขุดรู้ หากอังกฤษไม่ยอมถวาย ท่านก็มีทูลเกล้าฯถวายเมือนกัน พระยาสุขุมนัยวินิตก่อนที่จะเข้ารับราชการนั้นเคยบวชเป็นพระชั้นมหาที่เคร่งครัดพระธรรมวินัย จึงถือว่าพระชินวรวงศ์ลักทรัพย์ต้องอาบัติขั้นปาราชิก ขาดจากความเป็นพระแล้ว
คณะสงฆ์ทางกรุงเทพฯก็ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องร้ายแรงเช่นกัน กระทรวงการต่างประเทศจึงมีโทรเลขไปถึงอัครราชทูตไทยประจำกรุงโคลัมโบ ห้ามพระชินวรวงศ์เดินทางเข้าไทยหากยังอยู่ในเพศบรรพชิต ทำให้พระชินวรวงศ์ต้องเลิกล้มแผนการเดินทางกลับ และหมดอาลัยกับทางโลก มุ่งแต่ทางธรรม ธุดงค์ไปที่เกาะร้างแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่ทิ้งศพผีตายโหงและที่นำงูมาปล่อย เพราะชาวลังกาไม่ฆ่างู ภาพที่ท่านนั่งทำสมาธิท่ามกลางกองกระดูก ทำให้เรื่องราวของพระชินวรวงศ์ได้รับความสนใจจากคนทั่วไปเป็นจำนวนมาก มีผู้คนหลั่งไหลไปนมัสการ ทำให้ท้องถิ่นนั้นเจริญขึ้นทันตา มีโรงเรียนสำหรับเด็กที่อยู่ห่างไกลเกิดขึ้น มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสมากมายหลายชาติจากยุโรปมาขอบวชเป็นศิษย์ ผู้สำเร็จราชการอังกฤษก็เลื่อมใสมาช่วยสร้างสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดได้จากอินเดียครั้งนั้น อีกทั้งชาวโคลัมโบยังแห่กันมาขอให้ท่านกลับไปที่วัดทีปทุตตมารามที่ท่านเป็นเจ้าอาวาส พระชินวรวงศ์เลยต้องกลับโคลัมโบ และพัฒนาวัดจนเป็นที่สงบร่มรื่น กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ผู้โดยสารเรือเดินสมุทรที่แวะลังกาต้องไปชม ส่วนตัวท่านก็ได้รับการสถาปนาจากคณะสงฆ์ลังกาให้มีสมณศักดิ์เป็น เถระนายกแห่งนครโคลัมโบ ทรงสร้างโรงเรียนขึ้นในวัด และบุคคลสำคัญของอังกฤษที่เดินทางมาเมืองหลวงของลังกา จะต้องไปปลูกต้นไม้เป็นที่ระลึกไว้ที่วัดนี้
ปัจจุบันมีเจ้านายไทย ๔ พระองค์ไปทรงปลูกต้นไม้ไว้ที่วัดทีปทีปทุตตมาราม คือ รัชกาลที่ ๘ ในปี ๒๔๘๒ รัชกาลที่ ๙ ในปี ๒๔๙๓ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ในปี ๒๕๔๒ และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในปี ๒๕๕๖
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จประพาสยุโรปในครั้งที่ ๒ และแวะกรุงโคลัมโบ ผู้สำเร็จราชการอังกฤษซึ่งชื่นชมพระชินวรวงศ์มาก ได้กราบทูลว่าจะขอนำพระชินวรวงศ์เข้าเฝ้า แต่พระเจ้าอยู่หัวรู้ทันทรงตอบว่า คนไทยทุกคนสามารถจะเข้าเฝ้าพระองค์ได้อยู่แล้ว โดยไม่ต้องให้ผู้สำเร็จราชการอังกฤษนำเข้าเฝ้า พระชินวรวงศ์ที่เตรียมจะเชิญเสด็จพระเจ้าอยู่หัวไปวางศิลาฤกษ์พระสถูปที่จะสร้างขึ้นที่วัด ก็เลยไม่กล้าเข้าเฝ้า
ชีวิตของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ที่ยังทรงมีเยื่อใยอยากจะกลับสยาม ก็ถูกปิดสนิทไปอีกเรื่องด้วยปาราชิก
และไม่ใช่แค่เรื่องที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญและเรื่องแอบหยิบพระสารีรีกธาตุไว้เท่านั้น เรื่องมัวหมองของท่านยังมีเกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นพี่สะใภ้ของจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของท่าน
ผู้หญิงสูงศักดิ์ผู้นี้ เรียกกันในคำเล่าลือนินทาว่า “พี่ศรี” เป็นภรรยาของพระยาสุนทรบุรี เจ้าเมืองสุพรรณบุรี พี่ชายของจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เมื่อพระยาสุนทรบุรีถึงแก่กรรม ได้ค้างเงินภาษีที่เก็บส่งรัฐบาลยังไม่ครบ ระบบการปกครองในสมัยนั้นเจ้าเมืองมีหน้าที่ต้องเก็บภาษี หากใครไม่ส่งหรือส่งขาดก็ถือว่าเป็นหนี้หลวง และความรับผิดชอบนี้ตกมาถึงภรรยาด้วย พี่ศรีจึงต้องรับภาระนี้ด้วยความทุกข์ใจ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพี่ศรีอย่างใกล้ชิด จนถูกนินทาว่ามีความสัมพันธ์ล้ำลึกเกินกว่าพี่สะใภ้ของเพื่อนรัก ได้เป็นคู่ปรับทุกข์อย่างใกล้ชิด กล่าวกันว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงยกเงินก้อนนี้ให้พี่ศรีแล้ว แต่ก็ไม่มีลายลักษณ์อักษร ทั้งพี่ศรียังจะได้รับความอุปการะให้เข้าไปอยู่ในวังหลวงด้วย แต่พี่ศรีรักที่จะมีชีวิตอิสระมากกว่าไม่ยอมเข้าไปอยู่ในวัง ซึ่งถือได้ว่าขัดพระกระแสรับสั่ง เมื่อเจ้าพระยาสุศักดิ์นำทัพไปปราบฮ่อ พี่ศรีได้แอบขนสมบัติมีค่าของพระยาสุนทรบุรีที่เก็บไว้ที่บ้านเจ้าพระยาสุรศักดิ์ฯ ซึ่งอยู่ในรั้วเดียวกับบ้านพี่ศรี หนีออกนอกประเทศไป และเชื่อกันว่าหญิงที่แต่งตัวเป็นชายไปปรากฏตัวที่ไซ่ง่อนกับพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ก็คือพี่ศรี อีกทั้งในพระประวัติที่ทรงนิพนธ์ขึ้นในวัยชรา กล่าวว่าพระองค์ได้แต่งงานกับผู้หญิงคนหนึ่งที่ปีนัง ก็เชื่อว่าเป็นพี่ศรีอีกเช่นกัน
ความจริงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงมีชายาอยู่แล้ว โดยได้แต่งงานกับหม่อมตลับเมื่อมีพระชนม์ ๑๙ ชันษา แต่ขณะข้าวใหม่ปลามันได้เดือนเดียวก็ถูกส่งไปเรียนที่สิงคโปร์ ๖ เดือน กลับได้ไม่เท่าไหร่ก็ถูกส่งไปเรียนที่อังกฤษอีก ๓ ปี แม้ตอนที่ท่านไปเป็นทูตที่ยุโรปก็ไม่ได้เอาหม่อมไปด้วย เมื่อท่านเป็นหนุ่มสังคมอยู่ในยุโรป กระทรวงต่างประเทศเกรงว่าท่านจะไปติดพันแหม่ม ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามในสมัยรัชกาลที่ ๕ แม้พระราชโอรส พระอนุชาที่ส่งไปเรียนเมืองนอก ก็ยังทรงกำชับเรื่องนี้ทุกพระองค์ เกรงว่าจะส่งผลเสียมาถึงประเทศได้ จึงได้พาหม่อมตลับไปส่งให้ถึงสถานทูตเพื่อจะยับยั้งเรื่องติดพันแหม่ม แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะข้าวใหม่ปลามันของคู่นี้กลายเป็นข้าวบูดไปแล้ว
หลังจากพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ล่องหนจากคณะทูตที่เซี่ยงไฮ้ไปแล้ว ทางกรุงเทพฯได้มีหนังสือเวียนไปถึงเจ้าเมืองชายแดน มีความบางตอนที่พอจะบ่งบอกเรื่องนี้ได้ชัดขึ้นว่า
...พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ซึ่งรับราชการเป็นไดเรกเตอร์ เยอเนอราล อยู่ในกรมไปรษณีย์และโทรเลขประจุบันนี้ มีความรักใคร่กับสีภรรยาพระยาสุนทรสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรีมาหลายปีแล้ว แต่มีความกระดาก ครั้น ณ เดือนกรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กราบถวายบังคมลาไปประพาศเมืองยี่ปุ่น พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้ตามเสด็จไปด้วย ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์เสด็จกลับจากเมืองฮ่องกง พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็หาตามเสด็จกลับมาไม่ หลบหนีอยู่ในเมืองฮ่องกง ฝ่ายสีนั้นก็เก็บเอาทรัพย์สมบัติของพระยาสุรศักดิ์มนตรีผู้น้องพระยาสุพรรณ ที่ให้เก็บรักษาไว้หนีออกไปอยู่เมืองฮ่องกง ครั้นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกลับเข้ามาถึงจึงทราบว่า พระองค์เจ้าปฤษฎางค์กับสีคิดอ่านพากันหนีไปอยู่ด้วยกัน ครั้นได้ตรวจดูราชการในกรมไปรษณีย์ก็ไม่มีเหตุผิดร้ายฉกรรจ์อันใด นอกจากพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เอาเงินหลวงในกรมไปรษณีย์แลโทรเลขไปใช้เองประมาณร้อยชั่งเศษ กับพระองค์เจ้าปฤษฎางค์แลสีเป็นหนี้ไทยแลฝรั่งในกรุงเทพมหานครรุงรังอยู่หลายราย เห็นจะเป็นเพราะเหล่านี้จึ่งพากันหลบหลีกหนีหายออกไปอยู่นอกพระราชอาณาเขตร แต่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้รับราชการเป็นทูตอยู่ในประเทศยุโรปหลายปีมีความชอบในราชการ จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตั้งให้เป็นพระองค์เจ้า ภายหลังฟั่นเฟือนหลงไหลผู้หญิงละครฝรั่ง ความทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงพระราชวิตกจะทำให้เป็นที่ขึ้นชื่อขายหน้าราชทูตฝ่ายสยาม จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เรียกกลับเข้ามา ณ กรุงเทพมหานคร ครั้นเข้ามาถึงกรุงเทพมหานครก็ยังทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงให้มีตำแหน่งรับราชการฉลองพระเดชพระคุณ และมีเบี้ยหวัด เงินเดือนเป็นผลประโยชน์อยู่ถึงปีละแปดสิบชั่งเศษ ยังไม่มีความกตัญญูคิดถึงพระเดชพระคุณ กลับกลายเป็นไปตามจริตเดิมที่ฟั่นเฟือนหลงไหล เห็นว่าจะหลบเหลื่อมเข้ามาในปลายแดนพระราชอาณาเขตร ฤๅหัวเมืองไกลๆ ที่ไม่ทราบความแล้ว ก็จะอวดลวงล่อเอาเงินทอง ฤๅอ้างเอาพระนามไปขึ้นให้เป็นที่เสียราชการ จึ่งแจ้งความมาให้ใต้เท้าทราบไว้ เพื่อว่าจะได้ข่าวคราวที่แปลกประหลาดฤๅจะมีเหตุอย่างไร ใต้เท้าจะได้คิดอ่านแก้ไขจัดการไม่ให้เป็นที่เสื่อมเสียเพระเกียรติยศได้...
และเมื่อตอนที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไปทำงานกับองค์นโรดมที่เขมร ทูตฝรั่งเศสได้ถามมาทางกรุงเทพฯว่าพระองค์มีความผิดอะไร กระทรวงการต่างประเทศก็ตอบไปอย่างไม่มีเยื่อใยว่า “เป็นบ้าแล้วหนีไปกับแม่ม่าย” (gone mad and ran away with a widow)
นอกจากเรื่องเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เรื่องแอบเม้มพระบรมสารีริกธาตุ และเรื่องผู้หญิงกับหนี้สินรุงรังนี้แล้ว เมื่อครั้งที่ ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน นำเรื่องชีวิตลับของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์มาเขียนในเรือนไทยดอทคอม ยังมีความเห็นจากผู้อ่านที่เป็นแพทย์ว่า สาเหตุทั้งหมดนี้น่าจะมาจากท่านป่วยด้วยโรคทางจิตที่มีชื่อว่า Delusional Disorder หรือโรคจิตหลงผิดด้วย
เวบไซต์รามาแชลแนล กล่าวว่า โรคจิตหลงผิด คือ การมีความเชื่อหรือความคิดไม่ตรงกับความเป็นจริง เรียกว่า อาการหลงผิด (delusion) โดยอาการหลงผิดที่พบบ่อยที่สุดคือ ระแวงว่าตนถูกกลั่นแกล้ง หรือถูกปองร้าย ผูกเรื่องเชื่อมโยงไปในแนวทางเดียวกัน ส่วนใหญ่ไม่พบว่ามีประสาทหลอน เช่น หูแว่ว ผู้ป่วยมักจะยังคงทำหน้าที่ได้ตามปกติ ยกเว้นบางกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความหลงผิด เช่น ถ้าหลงผิดว่าเพื่อนร่วมงานกลั่นแกล้งก็อาจจะขอลาออกจากที่ทำงาน ทั้งๆที่ยังทำงานด้านนั้นได้ตามปกติ สามารถพบได้ในคนที่มีความเครียดสูง ผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน มีฐานะไม่ดี ซึ่งสามารถพบได้ตั้งแต่ช่วงอายุ ๑๘-๙๐ ปี และพบมากในคนอายุ ๔๐ ปีขึ้นไป
ชีวิตที่รุ่งโรจน์ของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ที่พลิกผันไปอย่างไม่น่าเป็นไปได้นั้น มีสาเหตุเกี่ยวพันมากมาย แต่จะเกิดจากการกระทำของคนอื่น รวมทั้งแผนสะกัดดาวรุ่ง หรือพระองค์ทำตัวเอง คงต้องสรุปลงในตอนหน้าครับ