xs
xsm
sm
md
lg

“อ.อ๊อด” พูดให้คิด ตรวจ “วิตามินซี” มีเบื้องหลังหรือไม่ เผย “วิตามินซี” อาจแค่เปลี่ยนรูป แต่ไม่หายไปไหน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกมาแสดงความคิดเห็นกรณีมีการตรวจสอบปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี พบ 8 ยี่ห้อ ไม่พบปริมาณวิตามินซี ระบุ งานนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่ ก่อนจะให้ความรู้ว่า วิตามินซี สลายตัวง่าย อัดแพ็กลงลัง ขนส่ง ไม่ถึง 5 ชั่วโมง วิตามินซีก็ลดลง แต่ สสารไม่สูญหายไปไหน แค่เปลี่ยนรูปเปลี่ยนฟอร์ม ถาม การตรวจไม่เจอคือตรวจอะไร เอื้อธุรกิจบางยี่ห้อไหม?

จากกรณี เว็บไซต์ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เผยผลทดสอบปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่างที่วางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด พบมีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลากสินค้า และมีถึง 8 แบรนด์ดังที่ไม่พบปริมาณวิตามินซี พร้อมแนะให้กินผักผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวเพื่อให้ได้วิตามินซีเช่นกัน

สำหรับ เครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ตรวจไม่พบปริมาณวิตามินซี จำนวน 8 ตัวอย่าง ได้แก่

1) ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ Yanhee VITAMIN C WATER กราสเจลลี่ (เครื่องดื่มผสมน้ำเฉาก๊วยสกัดและวิตามินซี) ขนาด 460 มล.(วันผลิต 07-10-2020 / 07-10-2021)

2) นูริชเมท Nurish Mate ขนมเยลลีบุก และคาราจีแนน ผสมคอลลาเจน วิตามินซี และน้ำองุ่นขาว 15% กลิ่นสตรอว์เบอร์รี และพีช ขนาด 150 มล.(วันผลิต 11-08-2020 / 10-08-2021)

3) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นส้มผสมวิตามิน ขนาด 48 มล. (วันผลิต 12-06-2019 / 12-06-2021)

4) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นเบอร์รีเลมอนผสมวิตามิน ขนาด 48 มล. (วันผลิต 07-03-2019 / 07-03-2021)

5) เครื่องดื่มรสมะนาวเลมอน ตรามินิ Lemonade Vitamin C200 ขนาด 345 มล. (วันผลิต 00-00-0000 / 03-10-2021)

6) เฟสต้า-ซี เดลี่ ไฟเบอร์ ลิ้นจี่ เฟลเวอร์ เครื่องดื่มน้ำรสลิ้นจี่ 12% ผสมวิตามินซี และใยอาหาร 100 ขนาด มล.(วันผลิต 02-09-2019 / 01-03-2021)

7) มินิ พิงค์ เลม่อนเนด เครื่องดี่มรสเลมอนผสมเบอร์รี ขนาด 345 มล. (วันผลิต 00-00-00 / 26-08-21)

และ 8) ดี.อาร์.ดริ้งค์ D.R.DRINK เจนไม วิตามิน วอเตอร์ (เครื่องดื่มผสมวิตามินซี วิตามินบี 3 บี 6 บี 12 ไบโอติน กรดโฟลิก แซฟฟลาเวอร์ และแคลเซียมจากสาหร่ายลิโทรามเนียน) ขนาด 500 มล. (วันผลิต 09-11-2020 / 09-11-2021)

อ่านข่าวประกอบ - เตือนผู้บริโภค เผยผลทดสอบเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ไม่มีวิตามินซี เจอถึง 8 แบรนด์ดัง

อย่างไรก็ตาม วันนี้ (15 ธ.ค.) เฟซบุ๊ก “Weerachai Phutdhawong” หรือ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า การตรวจมีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่ ขอให้ประชาชนฉุกคิด โดยเฉพาะยี่ห้อที่วิตามินซีเต็มครบตามฉลาก ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย ทั้งนี้ อ.อ๊อด ได้ระบุข้อความว่า

“วิตามินซีสลายตัวได้เร็วที่สุดในเจ้าพวกวิตามินด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวต่อออกซิเจนมาก (มีความ ไวต่อปฎิกิริยา Oxidation) นอกจากนี้ ยังสามารถสลายตัวได้ง่ายในบรรยากาศที่มีความร้อน แสง ความชื้น โลหะหนัก (เช่น เมื่อตั้งทิ้งไว้ในบรรยากาศที่มีทองแดง) และในสิ่งแวดล้อมที่มีสภาพเป็นด่าง เป็นต้น

สสารไม่ได้สูญหายไปไหนแค่เปลี่ยนรูปแล้วเปลี่ยนฟอร์ม เป็นไปไม่ได้เลยที่จะตรวจแล้วได้ 0 และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะตรวจแล้วค่าเต็ม

การตรวจดังกล่าวมีเบื้องหลังหรือไม่มาลองติดตามกันครับ หลายยี่ห้อถูกเคลมว่าตรวจไม่เจอวิตามินเลยเท่ากับศูนย์ แต่บางยี่ห้อตรวจว่าเจอวิตามินซีเต็ม มันดูย้อนแย้งและมีพิรุธชอบกล อาจารย์อ๊อดขอคืนความเป็นธรรมให้กับวิตามินซี ยี่ห้อที่ตรวจแล้วมีค่าเต็มมันใช้วิตามินซีรุ่นมนุษย์เหล็กหรือไงครับถึงไม่สูญสลายไปเลย

การสุ่มตรวจมีความเป็นธรรมหรือไม่ แต่ละล็อตที่ออกมาใส่วิตามินใหม่ๆ พร้อมกันหรือไม่ อยากให้พวกเราฉุกคิด ยี่ห้อ ก.ไก่ ออกจากไลน์ผลิตใหม่ๆ ก็นำมาตรวจก็เจอเยอะ ส่วนยี่ห้อ ข.ไข่ ผลิตออกมานานแล้วมาสุ่มตรวจก็เจอน้อย ต้องถามกลับว่าตรวจด้วยเทคนิคอะไร และสุ่มตรวจอย่างไร เพราะหลายยี่ห้อที่มีผลต่างกัน ทั้งที่ผลิตที่โรงงานเดียวกันก็มี

อาจารย์อ๊อดขอฝากให้ฉุกคิด เพราะไอ้ขบวนการตรวจๆ กลุ่มนี้แหละ ที่เคยอยู่ในกระบวนการฟ้องร้องกับกระทะดัง ที่อาจารย์อ๊อดเคยผ่าพิสูจน์ ถึงเวลาจะขึ้นศาลกับ กลับคำให้การเฉย

งานนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่ ขอให้ประชาชนฉุกคิด โดยเฉพาะยี่ห้อที่วิตามินซีเต็มครบตามฉลาก ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย”

ล่าสุด วันนี้ (16 ธ.ค.) อ.อ๊อด ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวอีกครั้ง เกี่ยวกับการตรวจหาวิตามินซีในขวนน้ำวิตามินว่า

“ตามที่ อ.อ๊อด บอกในกระทู้ก่อนแหละครับว่า วิตามินซี สลายตัวง่ายมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวต่อออกซิเจนมาก (มีความ ไวต่อปฏิกิริยา Oxidation) อย่าลืมว่าในน้ำดื่มมีออกซิเจนเพียบ นอกจากนี้ ยังสามารถสลายตัวได้ง่ายในบรรยากาศที่มีความร้อน แสง ความชื้น โลหะหนัก (เช่น เมื่อตั้งทิ้งไว้ในบรรยากาศที่มีทองแดง) และในสิ่งแวดล้อมที่มีสภาพเป็นด่าง เป็นต้น..

เรื่องความร้อน ขวดน้ำวิตามินแค่อัดแพ๊คลงลัง ใส่สิบล้อ ขนส่ง ไม่ถึง 5 ชั่วโมง วิตามินซีก็ลดลงอย่างมาก แต่วิตามินซีจะกลายไปเป็นสารอื่นแทนคือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์และช่วยให้มีสุขภาพที่ดี (สสารไม่สูญหายไปไหน แค่เปลี่ยนรูปเปลี่ยนฟอร์ม) ดังนั้น การตรวจไม่เจอคือตรวจอะไร เอื้อธุรกิจบางยี่ห้อไหม? และที่ตรวจเจอเยอะ เจอเท่าเดิม เจอเยอะกว่าเดิม คือมั่วมาหรือไม่ มีเบื้องหลังคืออะไร สารวิตามินซีเหล่านี้ในน้ำแต่ละยี่ห้อไม่มีวันลดลงจนเหลือศูนย์และไม่มีวันมีมากเท่าฉลากหรือมีเกิน”





กำลังโหลดความคิดเห็น