xs
xsm
sm
md
lg

คำพิพากษาฉบับเต็ม ชี้ “สกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ยัดเงินใต้โต๊ะ 20 ล้าน ฮุบที่ดิน สนง.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาจำคุก 3 ปี เจ้าหน้าที่ฝ่ายโครงการพิเศษ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ร่วมกับพวกทำเอกสารปลอมแอบอ้าง พบพฤติกรรม “สกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ” น้องชาย “ธนาธร” ยัดเงินใต้โต๊ะ 20 ล้าน หวังฮุบที่ดินผืนงามทีโอที ชิดลม

---

ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง

วันที่ 27 เดือน พฤศจิกายน พุทธศักราช 2562

ความอาญา

ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 4 โจทก์

นายประสิทธิ์ อภัยพลชาญ ที่ 1
นายสุรกิจ ตั้งวิทูวนิช ที่ 2 จำเลย

เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 143, 264, 265, 268 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 มาตรา 4 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 123/4 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 มาตรา 13 ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4, 175

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ประกอบคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) หรือสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จัดตั้งขึ้น ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 ซึ่งตาม มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ หรือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานในพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่จัดการดูแลรักษา จัดหาผลประโยชน์ และดำเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตามที่จะทรงมอบหมาย การจัดการ การดูแลรักษา การจัดหาผลประโยชน์ และการดำเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อการนี้ พระมหากษัตริย์จะทรงมอบหมายให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บุคคลใด หรือหน่วยงานใด เป็นผู้จัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์สำหรับทรัพย์สินใดภายใต้เงื่อนไขอย่างใดก็ได้ ในสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์" ประกอบด้วย ประธานกรรมการและคณะกรรมการอื่น ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย และในจำนวนนี้จะได้ทรงแต่งตั้งกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์คนหนึ่งเป็นผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทำหน้าที่กรรมการ และเลขานุการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) หรือสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลและจัดหาผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ จึงเป็นหน่วยงานของรัฐ เป็นหน่วยงานราชการ เพราะเป็นหน่วยงานที่ดูแลงานของพระมหากษัตริย์ ดังนั้น พนักงานสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือตำแหน่งอื่นใดที่ถูกแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ จึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา อนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประเทศไทยถือว่าเป็นรัฐเดี่ยว ดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 1 “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้” และมาตรา 2 “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และมาตรา 3 “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” จากบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ โดยหน่วยงานของรัฐนั้น หมายถึงกิจการของรัฐทุกส่วนที่รวมกันขึ้นเป็นรัฐ ซึ่งมิได้หมายความรวมถึงคณะรัฐบาล หรือองค์กรการบริหารเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงสถาบันอื่นด้วย เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐด้วย ฉะนั้น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลจัดการผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์จึงถือได้ว่าเป็นหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น กรรมการ อนุกรรมการ และลูกจ้างประจำหรือชั่วคราวของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานราชการและหน่วยงานของรัฐ จึงเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 มาตรา 13 และ “เจ้าพนักงานของรัฐ” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

ระหว่างกลางเดือนมีนาคม 2560 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 18 กันยายน 2560 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ 1 ซึ่งดำรงตำแหน่ง เจ้าหน้าที่บริหารโครงการ ระดับ บ.4 แผนกโครงการธุรกิจ 1 กองโครงการธุรกิจ 1 ฝ่ายโครงการพิเศษ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ทำหน้าที่สนับสนุนงานหลักของฝ่ายโครงการพิเศษ และจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ไปจัดประโยชน์แต่อย่างใด และจำเลยที่ 2 ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

1. จำเลยทั้งสองร่วมกันทำเอกสารราชการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ปลอมขึ้นทั้งฉบับ โดยการให้จำเลยที่ 1 ทำปลอมขึ้นซึ่งหนังสือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ ฝบอ.2000/0064 ลงวันที่ 18 กันยายน 2560 เรื่อง การพัฒนาที่ดินบริเวณองค์การโทรศัพท์แห่ประเทศไทย (ชิดลม) เรียน นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นหนังสือในแบบพิมพ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีตราครุฑอันเป็นตราสัญลักษณ์ของหน่วยงานราชการตามระบบงานสารบรรณ ตั้งแท่นลงนามเป็นชื่อ นายสุรพล เล็กเลิศผล ตำแหน่ง นักบริหารงานอสังหา แต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงนามในหนังสือฉบับดังกล่าว โดยปลอมลายมือชื่อนายสุรพล เล็กเลิศผล มีข้อความสรุปได้สาระสำคัญว่า บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ลงทุนในเบื้องต้นแล้ว สำนักงานทรัพย์สินฯ จึงใคร่ขอให้ท่านยื่นแผนการพัฒนาพื้นที่และการลงทุนของท่านภายใน 90 วัน ตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1 อีกทั้ง หนังสือฉบับดังกล่าวมิได้ออกโดยฝ่ายบริหารงานอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลจัดประโยชน์อสังหาริมทรัพย์ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ รวมถึงพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) เนื่องจาก เลขหนังสือที่ฝ่ายบริหารงานอสังหาริมทรัพย์ออกนั้น จะต้องขึ้นต้นด้วย ฝอท.1000 ในการออกหนังสือ จะต้องใส่ข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์และชื่อเว็บไซต์ของหน่วยงานไว้ที่ด้านซ้ายล่างของหนังสือ แต่ในสำเนาหนังสือฉบับดังกล่าว ไม่ปรากฎหมายเลขโทรศัพท์ และชื่อเว็บไซต์ของหน่วยงาน อีกทั้ง ตำแหน่ง นักบริหารงานอสังหา ไม่มีอยู่ในสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยชื่อตำแหน่งที่ถูกต้อง คือนักบริหารอสังหาริมทรัพย์ แล้วให้จำเลยที่ 2 นำไปแสดงต่อ นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพื่อให้นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ที่แจ้งให้บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทราบว่าบริษัทฯ ได้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ลงทุนในเบื้องต้นแล้ว และขอให้ยื่นแผนการพัฒนาพื้นที่และการลงทุนภายใน 90 วัน ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด นายสุรพล เล็กเลิศผล ผู้อื่นและประชาชน

2. ระหว่างกลางเดือนมีนาคม 2560 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสองร่วมกันทำเอกสารราชการ ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ปลอมขึ้นทั้งฉบับ โดยการให้จำเลยที่ 1 ทำปลอมขึ้น ซึ่งหนังสือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ ฝบอ.2000/002 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 เรื่อง การพัฒนาที่ดินบริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) เรียน นายสกุลธร จึงรุ่งเรื่องกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นหนังสือในแบบพิมพ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีตราครุฑ อันเป็นตราสัญลักษณ์ของหน่วยงานราชการ ตามระเบียบงานสารบรรณ มีข้อความสรุปได้สาระสำคัญว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ ขอเรียนเชิญเจ้าหน้าที่ของบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับแผนการพัฒนาที่ดิน บริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 ลงลายมือชื่อโดยจำเลยที่ 1 ตำแหน่ง นักบริหารงานอสังหา ตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจและมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในฝ่ายบริหารงานอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างใด อีกทั้งหนังสือฉบับดังกล่าวมิได้ออกโดยฝ่ายบริหารงานอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลจัดประโยชน์อสังหาริมทรัพย์ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ รวมถึงพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) เนื่องจากเลขหนังสือที่ฝ่ายบริหารงานอสังหาริมทรัพย์ออกนั้นจะต้องขึ้นต้นด้วย ฝอท.1000 และหมายเลขโทรศัพท์ที่ปรากฏด้านซ้ายล่างของหนังสือดังกล่าวไม่ใช่หมายเลขโทรศัพท์ของฝ่ายบริหารงานอสังหาริมทรัพย์ แต่เป็นหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานฝ่ายโครงการพิเศษ ที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่อยู่และตำแหน่ง นักบริหารงานอสังหา ไม่มีอยู่ในสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยชื่อตำแหน่งที่ถูกต้อง คือ นักบริหารอสังหาริมทรัพย์ แล้วให้จำเลยที่ 2 นำไปแสดงต่อนายสกุลธร จึงรุ่งเรื่องกิจ เพื่อให้นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ หลงเชื่อว่า เป็นเอกสารที่แท้จริงของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ที่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ของ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เข้าร่วมประชุมที่เกี่ยวกับแผนการพัฒนาที่ดินบริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปม้นท์ จำกัด ผู้อื่นและประชาชน

3. ระหว่างกลางเดือนมีนาคม 2560 เวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงเดือนพฤศจิกายน 2560 เวลาใดไม่ปรากฏชัด ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองร่วมกันนำข้อมูลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ไปแจ้งต่อนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเรียลแอสเสท ดีเวลลอปม้นท์ จำกัด ว่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์บริเวณที่เป็นที่ตั้งขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) กำลังจะหมดสัญญาเช่าและจะเปิดให้ผู้สนใจมาลงทุนพัฒนาที่ดินดังกล่าว โดยจะมีการทำสัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ระยะยาวเมื่อนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ เชื่อว่าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มีที่ดินแปลงดังกล่าวให้เช่าจริงจึงให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการติดต่อประสานงานและอำนวยความสะดวกเพื่อให้ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้สิทธิการเช่าที่ดินแปลงดังกล่าวโดยมีค่าตอบแทนจำนวน 500,000,000 บาท (ห้าร้อยล้านบาทถ้วน) จากนั้น จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำโดยจำเลยที่ 1 ได้แนะนำให้นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ยื่นหนังสือแสดงความจำนงขอเช่าที่ดินต่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ตามช่องทางปกติ แล้วจำเลยทั้งสองร่วมกันเรียกรับเงินงวดแรกจำนวน 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) จากนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ และร่วมกันใช้เอกสารราชการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันทำปลอมขึ้นดังกล่าวตามข้อ 1 และ 2 อ้างต่อนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพื่อให้นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) จัดทำแจ้งว่าบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ลงทุนเบื้องต้นและเชิญให้เจ้าหน้าที่ของบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับแผนพัฒนาที่ดินบริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) มีชื่อนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้รับหนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าว จึงได้จ่ายเงินงวดที่สอง จำนวน 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) และงวดที่สามอีกจำนวน 10,000,000 บาท (สิบล้านบาทถ้วน) รวม 3 งวด จำนวนงินรวมทั้งสิ้น 20,000,000 บาท (ยี่สิบล้านบาทถ้วน) ให้แก่จำเลยทั้งสองรับไว้สำหรับตนเองเพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จำเลยทั้งสองจะร่วมกันไปดำเนินการติดต่อประสานงานและนำเงินส่วนหนึ่งไปมอบให้รองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าพนักงานของรัฐ ตามกฎหมายโดยวิธีอันทุจริตและผิดกฎหมายเพื่อจูงใจรองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้กระทำการในหน้าที่ด้วยการจัดสรรที่ดินบริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) ซึ่งเป็นทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้สิทธิการเช่าที่ดินระยะยาว โดยไม่ต้อผ่านการประมูลแข่งขันตามขั้นตอนปกติของการขอเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์อันเป็นคุณแก่ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และทำให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เสียประโยชน์ที่จะได้รับเงินจากการประมูลที่สูงที่สุด ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ผู้อื่นและประชาชน

อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2540 มาตรา 123/4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและมีบทกำหนดโทษที่มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ออกใช้บังคับและให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 175 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่แต่มีกำหนดโทษเท่ากัน จึงเห็นสมควรลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด

พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 143, 264, 265, 268 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/4 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมป็นความผิดไป ตมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม รวมสองกระทง ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 จำคุกกระทงละ 2 ปื ฐานร่วมกันเป็นตัวกลางในการเรียกรับสินบนเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 6 ปื จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 3 ปื
กำลังโหลดความคิดเห็น