อ.เจษฎา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ออกมาให้ข้อมูลหลังพบมีการใช้รถฉีดพ่นน้ำเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทย โดยยืนยันว่านอกเปลืองน้ำ ก็ไม่ได้ช่วยอะไรในการลดฝุ่น เพราะแพ้กระแสลมแรง แถมก่อมลพิษสร้างฝุ่นซ้ำ
จากกรณี การตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) วันที่ 20 พ.ย. 2563 เวลา 07.00 น ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง พบว่าเกินค่ามาตรฐาน จำนวน 3 พื้นที่ คือ เขตหนองแขม เขตทวีวัฒนา และ เขตบางขุนเทียน คิดเป็นร้อยละ 4.29 จากจำนวนเขตที่มีสถานีตรวจวัดทั้งหมดตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
วันนี้ (20 พ.ย.) เพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” หรือ อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาให้ความรู้เกี่ยวจากกรณีดังกล่าวพบการพ่นฉีดน้ำเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 โดยเน้นย้ำว่า “กรณีมาพ่นฉีดน้ำกันอีกแล้วเหรอเนี่ย พูดเตือนมาหลายปีแล้ว มันเป็นความเข้าใจที่ผิดๆ เชื่อตามๆ กันมา
ฉีดพ่นน้ำ นอกจากจะเปลืองน้ำแล้ว มันไม่ได้ช่วยอะไรในการลดฝุ่น PM 2.5 (ฝุ่นจิ๋วพวกนี้ จะแพ้กระแสลมแรงต่างหาก ส่วนละอองน้ำที่พ่นนั้น ใหญ่กว่าที่จะจับมันลงมาได้) แถมเครื่องยนต์ของรถที่เอามาใช้ ก็เป็นตัวก่อมลพิษสร้างฝุ่น PM 2.5 ด้วยนะ
อันนี้ จริงๆ ไม่ได้ต้องการตำหนิหน่วยงานใดเป็นพิเศษนะ แต่อยากฝากเตือนไปถึงทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนด้วย ว่าไปเน้นการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วยการลดที่ “สาเหตุ” ดีกว่าจะมาพยายามหาทางแก้ที่ “ปลายเหตุ” แบบนี้
เพิ่มความรู้เรื่อง ปัญหาของการฉีดพ่นน้ำการแก้ปัญหาโดยการฉีดน้ำจากภาคพื้นดินนั้น รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า การฉีดน้ำแบบที่ กทม. ทำอยู่ สามารถช่วยลดได้เฉพาะฝุ่นขนาดใหญ่ หรือ PM10 เท่านั้น ไม่สามารถช่วยลดฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ได้
แต่หากต้องการพ่นน้ำแบบที่ช่วยลด PM 2.5 ได้จริง จะต้องใช้ Jet ทางวิศวกรรมแบบที่ใช้ในประเทศอินเดีย ซึ่งสามารถพ่นละอองน้ำที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนได้ ซึ่งไอน้ำนี้จะไปจับตัวฝุ่น PM 2.5 และชะล้างลงมาได้
“ถ้าคุณฉีด อย่างที่อินเดียเขาทำ ก็คือต้องใช้ Jet ทางวิศวกรรมทำได้ คือ ฉีดพ่นละอองฝอยให้มันเล็กกว่า 2.5 นึกออกไหม ให้มันไปติดแล้วก็ตกลงมา” อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนี้ รศ.ดร.ศิริมา ยังแนะนำเพิ่มด้วยว่า หากต้องการลดความเข้มข้น PM 2.5 ให้ได้ตามมาตรฐาน จาก 60 ไมโคกรัม/ลูกบาศก์เมตร เหลือ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ตามมาตรฐานของประเทศไทย จะต้องใช้การฉีดพ่นน้ำพร้อมกัน 30,000 จุดทั่วกรุงเทพฯ จึงจะสามารถช่วยลด PM 2.5 ลงได้”
คลิกชมคลิปต้นฉบับที่นี้