xs
xsm
sm
md
lg

เสียงจากกู้ชีพหน้าสภาฯ “พวกผมจำเป็นต้องเข้า HOT ZONE ด้วยหน้ากากผ้าที่กันแก๊สน้ำตาไม่ได้”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งในทีมกู้ชีพ เล่าเหตุการณ์ปะทะระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุมที่หน้ารัฐสภา วานนี้ (17 พ.ย.) ชี้ระหว่างเข้าพื้นที่ปะทะช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ อุปกรณ์มีเพียงแว่นตา กับหน้ากากผ้า ป้องกันแก๊สน้ำตาไม่ได้ แต่การมีหน้ากากป้องกันแบบตำรวจไม่สามารถทำได้ เพราะถือเป็นยุทธภัณฑ์

รายงานพิเศษ
“เมื่อวาน (17 พ.ย.) ทีมผมตั้งจุดช่วยเหลืออยู่หน้าบริษัทบุญรอดฯ เป็นฝั่งที่ใช้แก๊สน้ำตาเป็นหลัก ด้านหลังก็มีตลาด มีชุมชน ดีกว่าฝั่งแยกเกียกกายหน่อย นำคนเจ็บไปส่งโรงพยาบาลก็ไม่ไกล แต่ในหน้างานทีมกู้ชีพก็ต้องเข้าไปในจุดที่โดนแก๊สน้ำตา อุปกรณ์ของพวกเราก็ไม่ได้ช่วยป้องกัน ทำให้ทีมกู้ชีพก็ได้รับผลกระทบไปด้วย” 

เสียงสะท้อนจากหนึ่งในทีมกู้ชีพในเหตุการณ์ปะทะระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุมกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร 2563” เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา ช่วยบอกเล่าถึงความชุลมุนในการดูแลปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งแม้แต่พวกเขา ก็ได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตาไปด้วย 

ทีมกู้ชีพถูกแยกออกไปตั้งจุดเตรียมความพร้อมเป็น 2 ด้าน คือฝั่งหน้าบริษัทบุญรอดฯ กับฝั่งแยกเกียกกาย ซึ่งฝั่งแยกเกียกกาย สถานการณ์แย่กว่า เพราะมีมวลชนสองฝ่าย และเป็นพื้นที่ค่ายทหาร ไม่มีชุมชน


กู้ชีพนายนี้ประจำการอยู่ที่ฝั่งบริษัท บุญรอดฯ เขาบอกว่า จากช่วงแรกที่ตำรวจใช้รถฉีดน้ำ ทำให้แนวหน้าของผู้ชุมนุมถอยร่นออกมาให้พ้นรัศมีของน้ำ ทางตำรวจจึงเปลี่ยนยุทธวิธีมาใช้แก๊สน้ำตาชนิดขว้างแทน ซึ่งสามารถทำระยะได้ไกลกว่า และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้การทำงานของพวกเขา จำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่ปะทะ (Hot Zone) มากยิ่งขึ้น

เจ้าหน้าที่กู้ชีพนายนี้ เล่าสิ่งที่เขาเห็นว่า พอตำรวจเปลี่ยนมาใช้แก๊สน้ำตาชนิดขว้าง ทำให้มีผู้ชุมนุมบางส่วนมีอาการตกใจ บางคนเกิดอาการแพนิค (Panic) หรือหวาดกลัว ซึ่งตามแผนช่วยเหลือที่วางไว้ รถของทีมกู้ชีพที่จะตั้งเป็นจุดบริการ จะต้องอยู่นอกพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้เจ้าหน้าที่อยู่ในสภาพร่างกายที่สมบูรณ์พร้อมจะให้ความช่วยเหลือทุกคนทุกฝ่าย

โดยจะเปิดทางให้การ์ดอาสาของผู้ชุมนุม นำตัวผู้บาดเจ็บออกมาส่ง และมีรถจักรยานยนต์ของผู้ชุมนุมสลับกันเข้าไปรับคนเจ็บออกมาส่ง จากนั้นจึงปฐมพยาบาล และหากพบว่ามีคนแน่นหน้าอก หรือหมดสติ มีปัญหาต่อการหายใจ ก็จะนำขึ้นรถฉุกเฉินไปส่งที่โรงพยาบาล


“จากเดิมที่ตำรวจใช้น้ำฉีด ผมเห็นฝั่งผู้ชุมนุมเริ่มเอาเชือกยาวประมาณ 100 เมตร ไปผูกที่แทงแบริเออร์ปูน แล้วใช้วิธีดึงให้ล้มลงทีละแท่งแบบชักเย่อ ทำให้ตำรวจเปลี่ยนมาใช้แก๊สน้ำตาแบบขว้างแทน เพราะมีรัศมีทำการที่ไกลกว่า พอโยนลงมาทีนึง ผู้ชุมนุมก็แตกฮือทีนึง และก็มีบางส่วนที่เริ่มรู้วิธีการควบคุมกระป๋องแก๊สน้ำตา ใช้กรวยยางไปครอบ เอาน้ำไปเทใส่ แต่ก็จะมีผู้ที่ได้รับผลจากแก๊สน้ำตาสลับกันถูกนำตัวออกมาที่จุดพยาบาลอย่างต่อเนื่อง


แต่ในพื้นที่ก็เริ่มมีการฟุ้งของแก๊สน้ำตามากขึ้น ทำให้ทีมกู้ชีพบางส่วนต้องช่วยเข้าไปปฐมพยาบาลในแนวที่เป็นขอบของ Hot Zone มากขึ้น แต่อุปกรณ์ที่เรามีก็แค่แว่นตา กับหน้ากากผ้า ซึ่งไม่ได้ช่วยอะไร โดยเฉพาะหน้ากากผ้า ซึ่งพวกเราดึงลงมาไว้ที่คางในบางช่วง เมื่อใส่กลับมาปิดปาก กลับพบว่า เปื้อนแก๊สน้ำตาไปหมดแล้ว ทีมกู้ชีพจึงได้รับผลกระทบไปด้วย” กู้ชีพ เล่าเหตุการณ์


หน่วยกู้ชีพเหล่านี้ ไม่มีหน้ากากป้องกันแก๊สน้ำตาแบบที่ตำรวจใช้ ซึ่งพวกเขามองว่า ในสถานการณ์เช่นนี้อาจจะมีความจำเป็น ตามหลักการ “คนช่วยเหลือต้องปลอดภัยก่อน” แต่ก็คงจะมีอุปสรรคในการจัดหามาใช้ เพราะหน้ากากป้องกันแก๊สน้ำตา ถือเป็นยุทธภัณฑ์

“ประมาณ 3 ทุ่มกว่า ตำรวจก็เริ่มเปิดทางนะ และมีช่วงหยุดพักบางช่วง ผมก็เห็นทั้งผู้ชุมนุม ทั้งตำรวจ เขาก็นั่งคุยกันนะ นั่งติดกันเลย ถามไถ่อาการกันด้วยซ้ำไป”

ส่วนเหตุที่มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บหลายคนจากกระสุนปืน เขาบอกว่า เป็นเหตุที่เกิดขึ้นในฝั่งแยกเกียกกาย จึงไม่เห็นเหตุการณ์ ได้แต่รับฟังรายงานจากทางวิทยุสื่อสาร ซึ่งมีคำสั่งให้ทีมกู้ชีพฝั่งแยกเกียกกายถอยออกมาจากพื้นที่ทันที เพราะมีการใช้อาวุธปืนที่บริเวณนั้น




กำลังโหลดความคิดเห็น