xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.แจงก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูเกิดจากความล่าช้า เร่งแก้ไขไม่ให้กระทบสิทธิ ปชช.มากที่สุด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟม.ชี้แจงประเด็น กสม.เตรียมชงคมนาคมแก้ไขปัญหาผลกระทบจราจรจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู กระทบสิทธิเสรีภาพการเดินทางของประชาชนผู้ใช้เส้นทางสัญจรที่ยากลำบาก โดยประสานกับตำรวจเปลี่ยนแผนปิดกั้นช่องจราจร

วันนี้ (12 พ.ย.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชี้แจงประเด็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเสนอแนะมาตรการและแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีศึกษาผลกระทบด้านการจราจรของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี

ตามที่เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ได้นำเสนอข่าวเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 หัวข้อ “กสม.ชงคมนาคม-รฟม.เร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบจราจรจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู เหตุกระทบสิทธิ ปชช.” โดยสรุปว่า การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ประสบปัญหาสำคัญจากความล่าช้าในการรื้อย้ายสาธารณูปโภคและการส่งมอบพื้นที่ จึงจำเป็นต้องขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปประมาณ 1 ปี ส่งผลให้ต้องขยายระยะเวลาปิดช่องจราจรบางส่วนออกไปด้วย ซึ่งกระทบต่อเสรีภาพในการเดินทางของประชาชนผู้ใช้เส้นทางสัญจรที่ยากลำบาก รวมถึงความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้าง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการและแนวทางในการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอเรียนว่า รฟม.ร่วมกับที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานโครงการฯ ได้กำกับดูแลและติดตามการดำเนินงานของผู้รับสัมปทานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปตามแผนงานและเปิดบริการได้ตามกำหนด และสอดคล้องกับมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยให้ความสำคัญด้านการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่สัญจรผ่านเส้นทางก่อสร้าง ด้วยการประสานและหารือร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสถานีตำรวจในทุกพื้นที่ตลอดแนวเส้นทาง ในการกำหนดแผนการปิดกั้นช่องจราจรเท่าที่จำเป็น (ด้วยหลักการปิดกั้นช่องจราจรเพื่อดำเนินกิจกรรมก่อสร้างที่ต้องใช้พื้นที่กว้างเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนและคืนพื้นผิวจราจรบางส่วนในช่วงเวลากลางวัน) โดยมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลล่วงหน้า รวมทั้ง สตช.ได้อนุเคราะห์เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยอำนวยการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนต่อเนื่องมาโดยตลอด นอกจากนี้ ได้มีการตรวจสอบและแก้ไขจุดเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุและบริเวณที่อาจเกิดปัญหาน้ำท่วมขังตามแนวเส้นทางด้วย 

ทั้งนี้ สำหรับข้อเสนอแนะมาตรการและแนวทางเพิ่มเติมของ กสม.นั้น รฟม.จะรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการนำประสบการณ์งานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ของ รฟม.เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนและกำหนดแนวทางป้องกันและบรรเทาปัญหาให้แก่ประชาชน ในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าในอนาคตต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น