ชุมนุมกลุ่มราษฎรรถเมล์ ร่วมกันดันรถเมล์ที่กีดขวางออก เพื่อนำตู้จดหมายราษฎรสาส์นไปยื่นแก่กษัตริย์ ก่อนโพสต์ข้อความ “ราษฎรสาส์น” ถึงกษัตริย์ ให้ทรงสดับรับฟังคำเตือนแลข้อเสนอแนะขอให้ปฏิรูปปรับปรุง
วันที่ 8 พ.ย. เมื่อเวลา 20.00 น. รายงานข่าวว่า บรรยากาศการชุมนุมกลุ่มราษฎรที่พระบรมมหาราชวัง ผู้ชุมนุมได้ร่วมกันดันรถเมล์ที่เจ้าหน้าที่นำมากีดขวางออก เพื่อขนตู้จดหมายราษฎรสาส์นนำไปยื่นแก่กษัตริย์
เวลาประมาณ 20.50 น. ภายหลังมีการเคลื่อนย้ายตู้ไปรษณีย์จำลอง มาจัดวางไว้ใกล้สำนักพระราชวัง แกนนำเริ่มอ่านแถลงการณ์ หลังจากนั้นเปิดโอกาสให้ผู้ชุมนุมทยอยนำราษฎรสาส์น (จดหมาย) หย่อนลงในตู้ไปรษณีย์จำลอง ที่จัดวางไว้ โดยระบุว่าจดหมายทั้งหมด จะถูกนำส่งไปยังสำนักพระราชวังในลำดับต่อไป
โดยหลังจากนี้จะมีการติดตามตรวจสอบว่าจดหมายทั้งหมด จะถูกส่งต่อและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ ภายหลังกิจกรรมทั้งหมดเสร็จสิ้น ในเวลาประมาณ 20.55 น. แกนนำประกาศยุติการชุมนุม และแจ้งให้มวลชนเดินทางกลับ
ต่อมาเวลา 20.53 น. เพจเฟซบุ๊ก เยาวชนปลดแอก-Free YOUTH ได้โพสต์ข้อความว่า “ราษฎรสาส์น” ราชอาณาจักรแห่งนี้เป็นดินแดนแห่งการประนีประนอมด้วยความรัก มิใช่จะหาญหักฟาดฟันกันด้วยอำนาจอาญาและกำลังเสนาอันหยาบช้า
———
จากราษฎรผู้มิมีมลทินมัวหมอง
ถึงกษัตริย์วชิราลงกรณ์
ด้วยความอ่อนโยน มิใช่ความแข็งกร้าว
ด้วยความปราถนาดี มิใช่ความเกลียดชัง
แลด้วยความหวัง มิใช่ความหวาดกลัว
———
มนุษย์ทุกผู้นามย่อมกอปรไปทั้งผู้ที่รักและผู้ที่ชังเป็นสัจธรรมมิอาจหลีกหนีได้
เมื่อหน่อเนื้อชาติกำเนิดมิใช่เครื่องตัดสินว่าบุคคลใดจะเป็นที่รักหรือที่ชัง
ความรักแลความศรัทธาทั้งปวงจึงล้วนเกิดจากการครองตนทั้งสิ้น
สามัญชนอาจเลือกได้ว่าจะขออยู่ท่ามกลางผู้ที่รักและศรัทธา
แม้สุดท้ายรอบกายของสามัญชนอาจอุดมไปด้วยคนจัญไรไร้ความสามารถเก่งแต่ประจบสอพลอก็เป็นสิ่งซึ่งสามัญชนสามารถเลือกสรรหรือปฏิเสธ
แต่กษัตริย์มิอาจทำเช่นนั้น ด้วยกษัตริย์มิอาจเลือกที่รักมักที่ชัง
ราษฎรไม่ว่าจะรักและศรัทธากษัตริย์มากน้อยเพียงใด
ย่อมเป็นที่รักของกษัตริย์ผู้ซึ่งต้องยึดมั่นหลักสิทธิเสรีภาพและความบริสุทธิ์ยุติธรรม
เมื่อท่านพูดคุยกับราษฎรที่รักและศรัทธาท่านได้
ท่านก็จำเป็นต้องพูดคุยกับราษฎรที่ไม่ได้รักและศรัทธาท่านได้ เช่นเดียวกัน
เมื่อท่านสดับรับฟังคำสรรเสริญเยินยออันมีรสหวานจากราษฎรได้
ท่านก็จำเป็นต้องสดับรับฟังคำเตือนแลข้อเสนอแนะขอให้ปฏิรูปปรับปรุงอันเป็นคำสัตย์ซึ่งดีกว่ารสทั้งหลายจากราษฎรได้เช่นเดียวกัน
เพราะท้ายที่สุดแล้ว
ถ้าพระราชาเป็นผู้ยึดมั่นประชาธิปไตย ราษฎรทั้งปวงก็เป็นสุข
———
3 ข้อเรียกร้องของประชาชนคือการประนีประนอมที่สุดแล้ว
ด้วยอำนาจแห่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันของทุกคน
“ราษฎร”