ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน สะท้อนปัญหากรณีกลุ่มสิทธิว่างราว 2 ล้านคน ถูกยกเลิกหน่วยบริการ ชี้ประโยค “เข้ารับการรักษาที่ไหนก็ได้” ไม่ได้สวยหรูกับผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง โดยเฉพาะการประสานงานโรงพยาบาลเป็นไปอย่างยากลำบาก
รายงานพิเศษ
“สิทธิว่าง” จากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “บัตรทอง” เกิดขึ้นภายหลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกาศยกเลิกหน่วยบริการทั้งจากคลินิก และโรงพยาบาลเอกชน 108 แห่ง ซึ่งตรวจสอบพบว่า อาจมีการทุจริตในการเบิกค่ารักษาเกินกว่าความเป็นจริง ทำให้ยกเลิกหน่วยรับผู้ป่วยเหล่านี้ไป
.
ส่งผลให้มีประชาชนราว 2 ล้านคน กลายเป็นกลุ่ม “สิทธิว่าง” ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 เป็นต้นมา .
ก่อนหน้านี้ สปสช.อธิบายว่า ประชาชนที่เคยใช้สิทธิกับคลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชน 108 แห่ง ที่ถูกยกเลิกสิทธิไป ไม่ต้องกังวลว่าจะเสียสิทธิ เพราะได้กำหนดให้กลุ่ม “สิทธิว่าง” กลายเป็นกลุ่มที่สามารถเข้าไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลไหนก็ได้
.
แต่ล่าสุด มีข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ ที่ให้บริการด้าน “การแพทย์ฉุกเฉิน” เปิดเผยว่า กลุ่ม “สิทธิว่าง” จาก “บัตรทอง” กลายเป็นกลุ่มที่มีปัญหาในการให้บริการเป็นอย่างมากมาตลอด นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา
.
เพราะประสานหาโรงพยาบาลที่พร้อมรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้อย่างยากลำบาก โดยมักจะได้รับคำตอบว่า “ห้องฉุกเฉินไม่พอให้บริการ”
ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าวว่า “ในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 เจ้าหน้าที่ประจำรถฉุกเฉินจะได้รับการประสานให้ไปรับผู้ป่วยใน 2 กรณี คือ ผู้ป่วยฉุกเฉินรุนแรง (เคสสีแดง) และผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (เคสสีเหลือง) ซึ่งถ้าเป็นเคสสีแดง จะไม่มีปัญหาเพราะสามารถนำตัวผู้ป่วยไปส่งยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้เลย
แต่มาพบปัญหาในเคสสีเหลือง กับผู้ป่วยที่เป็นกลุ่ม “สิทธิว่าง” เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่มารับผู้ป่วย ก็จะต้องประสานงานกลับไปศูนย์เอราวัณ ให้เช็คสิทธิผู้ป่วยเพื่อจะนำไปส่งโรงพยาบาลตามสิทธิ แต่เมื่อไปพบผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มสิทธิว่าง ทางศูนย์เอราวัณก็จะต้องประสานหาโรงพยาบาลเพื่อรับผู้ป่วยแทน
และปรากฎว่า การประสานเป็นไปอย่างยากลำบากแทบทุกเคสในช่วง 10 กว่าวันที่ผ่านมา เพราะทางโรงพยาบาลเอง มีผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินเต็มอยู่แล้ว โดยเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐ ทั้งผู้ป่วยที่อยู่ในสิทธิเดิมของโรงพยาบาล และผู้ป่วยที่วอล์กอิน (Walk-in) มาที่โรงพยาบาลเอง
ทำให้ในช่วงนี้ มีหลายเคส ที่รถฉุกเฉินต้องจอดรอข้างทางถึงประมาณ 30 นาที เพราะยังไม่สามารถระบุโรงพยาบาลปลายทางที่จะนำผู้ป่วยไปส่งได้ และมีอยู่เคสหนึ่งซึ่งรถฉุกเฉินหยุดรอเป็นเวลานานจากการรับผู้ป่วยแถวดินแดง กว่าจะประสานโรงพยาบาลได้ที่แถวสะพานใหม่ ซึ่งถือเป็นระยะทางที่ไกล”
ผู้ปฏิบัติงานในระบบการแพทย์ฉุกเฉินคนหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า ถ้าผู้ป่วยเคสสีเหลืองในกลุ่ม “สิทธิว่าง” ไปโรงพยาบาลด้วยตัวเอง ไปจอดรถที่หน้าห้องฉุกเฉิน ทางโรงพยาบาลก็จำเป็นต้องรับเคสเข้าโรงพยาบาลทันที
แต่ในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน จะต้องให้ทางศูนย์เอราวัณ ประสานกับทางโรงพยาบาลปลายทางก่อน จึงจะนำผู้ป่วยเคสสีเหลืองไปส่งได้ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดปัญหากับทางโรงพยาบาล เช่น เตียงห้องฉุกเฉินเต็มอยู่แล้ว ซึ่งการประสานงานที่ยากลำบากเช่นนี้
.
ดังนั้น คำพูดที่บอกมาว่า “ใช้สิทธิรักษาที่ไหนก็ได้” จึงไม่ได้สวยหรูเช่นนั้นจริง เพราะการที่มีกลุ่มสิทธิว่างเพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านคน ก็ทำให้โรงพยาบาลของรัฐมีภาระต้องรับผิดชอบผู้ป่วยมากขึ้น
.
ส่วนโรงพยาบาลเอกชน แทบจะประสานงานเพื่อขอให้รับผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ได้เลย และทำให้การทำงานของระบบการแพทย์ฉุกเฉินยเกิดปัญหา ส่งผู้ป่วยได้ช้า ยังทำให้รถฉุกเฉินแต่ละคันต้องเสียเวลาไปมากกว่าเดิม อาจส่งผลกระทบต่อการรับผู้ป่วยรายอื่นไปด้วย
เดิมทีปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นอยู่แล้วกับผู้ป่วย 2 กลุ่ม ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คือ กลุ่มที่ใช้สิทธิข้าราชการ และกลุ่มประชาชนที่มาอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร แต่มีสิทธิบัตรทองอยู่ในสถานพยาบาลต่างจังหวัด ซึ่งใช้สิทธิเหมือนกลุ่มสิทธิว่างเช่นเดียวกัน คือ เข้ารับการรักษาที่ไหนก็ได้ ซึ่งในระบบการแพทย์ฉุกเฉินก็ประสานหาสถานพยาบาลรองรับได้ยากมาตลอด แต่ก็ยังมีจำนวนไม่มากนัก
แต่เมื่อมีกลุ่มสิทธิว่างเพิ่มขึ้นอีกนับล้านคน จากการยกเลิกสถาพยาบาล 108 แห่งไป ก็ยิ่งทำให้การประสานหาโรงพยาบาลยากขึ้นไปหลายเท่า