คงจำกันได้ถึงภาพเมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล ณ สีหบัญชรพระที่นั่งอนันตสมาคม เนื่องในมหามงคลสมัยทรงครองราชย์สมบัติครบ ๖๐ ปีเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ ประชาชนคนไทยต่างใส่เสื้อสีเหลืองอย่างพร้อมเพรียงกัน แออัดเต็มลานพระบรมรูปทรงม้า และล้นหลามไปตามถนนราชดำเนินนอกจนสุดสายตา นับว่าเป็นภาพที่ “เขย่าโลก” ทำให้ชาวโลกตะลึงไปตามกัน แสดงถึงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศใดมาก่อน จนเกิดคำถามขึ้นทั่วไปว่า
“ทำไมคนไทยถึงรักพระมหากษัตริย์ของเขาถึงเพียงนี้”
คำถามนี้ไม่เพียงแต่คนไทยจะตอบได้ดี แม้แต่ชาวต่างประเทศที่ติดตามข่าวสารความเป็นไปของโลกก็ตอบได้ เพราะได้รับรู้ความเป็น King of King ของพระองค์ ที่ทรงสละความสุขเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างสม่ำเสมอและยาวนานตลอดระยะเวลาที่ครองราชย์
จากพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ที่ทรงประกาศต่อหน้ามหาสโมสรสันนิบาติในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ไม่เพียงแค่ครบ ๖๐ ปีที่ครองราชย์เท่านั้น แต่จนสิ้นรัชกาลเป็นเวลาถึง ๗๐ ปี ๑๒๖ วัน พระองค์ทรงยึดมั่นในพระบรมราชโองการนี้ ครองแผ่นดินโดยทศพิธราชธรรม คือจริยวัตร ๑๐ ประการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรมประจำพระองค์ หรือเป็นคุณธรรมประจำตนของผู้ปกครองบ้านเมือง ให้เป็นไปโดยธรรมและยังประโยชน์สุขแก่ประชาชน คือ
๑.ทาน คือการให้ ทรงเป็น “ผู้ให้” มาตลอด ทรงให้ปัญญาความรู้ ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทุกย่างก้าวพระบาทไม่ว่าจะเสด็จไป ณ ที่ใด ทรงบำเพ็ญทานบารมีทั้งธรรมทาน อามิสทาน รวมทั้งอภัยทาน คือการให้อภัยผู้ที่ควรได้รับอภัย อย่างสม่ำเสมอ
๒.ศีล คือความประพฤติที่ดีงาม ทั้งกาย วาจา และใจ ทรงเป็นแบบอย่างและสนับสนุนศาสนิกชนไม่ว่าศาสนาใด ให้ยึดมั่นในศีลธรรมของศาสนาที่ตนนับถือ เพราะกฎหมายควบคุมได้แต่กาย แต่หลักศีลธรรมทางศาสนาช่วยควบคุมจิตใจ
๓.บริจาค คือการเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อความสุขส่วนรวม พระราชกรณียกิจต่างๆของพระองค์ที่ทรงตรากตรำพระวรกาย จนเป็นพระมหากษัตริย์ที่พสกนิการได้มีโอกาสเห็นหยดพระสาโท ย่อมยืนยันข้อนี้ได้เป็นอย่างดี
๔. อาชชวะ คือความซื่อตรง ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนและประเทศชาติด้วยความซื่อตรง ทั้งซื่อตรงต่อพระองค์เอง ซื่อตรงต่อหน้าที่ ซื่อตรงต่อประเทศชาติ และซื่อตรงต่อประชาชนมาโดยตลอด
๕.มัททวะ คือความอ่อนโยน ทรงมีพระราชอัธยาศัยสุภาพอ่อนโยน ทั้งทางพระวรกาย ทางพระวาจา และทางพระราชหฤทัย ภาพประทับใจเหล่านี้ปรากฏอยู่ตลอดมาเมื่อทรงออกเยี่ยมเยียนราษฎร
๖. ตบะ คือความเพียร ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะเพื่อให้บรรลุความสำเร็จในการช่วยราษฎรพ้นทุกข์ ความเพียรต่อการทุ่มเทพระราชหฤทัยในด้านนี้ ทำให้ทรงคิดค้นสิ่งประดิษฐ์และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริออกมามากมาย
๗.อักโกธะ คือความไม่โกรธ พระองค์ไม่เคยทรงแสดงความโกรธให้ปรากฏ ทรงมีแต่พระเมตตา ไม่มุ่งร้ายผู้อื่น แม้มีเหตุก็ทรงเตือนด้วยเหตุผลและพระราชกุศโลบายที่แยบคาย
๘.อวิสิงหา คือความไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นเครื่องแสดงออก ซึ่งมีอยู่อย่างเปี่ยมล้นในพระราชอัธยาศัย จะเห็นได้จากทรงส่งเสริมคุณธรรมที่ให้สามัคคีรักใคร่ปรองดองกันเพื่อความผาสุกของสังคม
๙.ขันติ คือความอดทน การบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ ย่อมมีปัญหานานัปการ แต่พระองค์มีพระขันติธรรมอย่างสูงยิ่ง จึงทรงเอาชนะอุปสรรคทั้งหลายนั้นได้ สร้างความผาสุกให้ราษฎรได้ทั่วแผ่นดิน
๑๐.อวิโรธนะ คือการวางตนหนักแน่นในธรรม ไม่มีความเอนเอียงหรือหวั่นไหว ทรงสถิตมั่นในธรรม คือแบบแผนและหลักการ โดยไม่มีข้อบกพร่องให้เสื่อมเสียพระเกียรติ
ส่วน “เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” พสกนิกรทั้งหลายต่างได้ประจักษ์แจ้งถึงพระราชปณิธานที่ทรงมุ่งมั่นในการสร้างความสุข บรรเทาความทุกข์ให้คนทั้งแผ่นดินอย่างไม่ทรงเหน็ดเหนื่อย แม้แต่ชาวต่างประเทศเทศยังยอมรับว่า พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในบรรดากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ในโลก เป็นกษัตริย์ที่พสกนิกรได้เห็นพระเสโทหยดย้อย ทั้งๆที่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้พระมหากษัตริย์จะต้องบำบัดทุกข์บำรุงสุขพสกนิกรด้วยพระองค์เอง ไม่มีอะไรบังคับให้พระองค์ต้องเหนื่อย แต่ก็ทรงเหนื่อยด้วยความรักและห่วงใยในอาณาประชาราษฎร์
ตลอดเวลากว่า ๗๐ ปีที่ครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาภูมิพลฯได้เสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วพระราชอาณาจักร ไม่มีจังหวัดใดในประเทศไทยที่พระองค์ไม่ได้เสด็จไป ทรงรับทราบถึงชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรแต่ละภูมิภาคด้วยพระองค์เอง และเมื่อที่ไหนมีปัญหา ไม่ว่าในเมืองหลวงหรือชนบทไกล ก็จะเสด็จไปที่นั่นเพื่อแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที จนเป็นที่กล่าวกันว่า “ในประเทศนี้ อะไรๆก็ต้องในหลวง”
ด้วยพระราชปณิธานที่ทรงมุ่งมั่นเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม จึงมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริระหว่างปี ๒๕๒๕-๒๕๕๐ เกิดขึ้นถึง ๔,๑๗๖ โครงการกระจายอยู่ทั่วผืนแผ่นดินไทย ทั้งด้านพัฒนาการเกษตร การจัดการทรัพยากรน้ำ การจัดการทรัพยากรดิน การพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้ การคมนาคม สาธารณูปโภคและการสื่อสาร ทั้งยังทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ให้โลก ทรงได้รับการถวายสิทธิบัตรและรางวัลจากสิ่งประดิษฐ์หลายรางวัล ทรงได้รับรางวัลความสำเร็จพัฒนามนุษย์จากองค์การสหประชาชาติ และเมื่อประเทศชาติมีปัญหาวิกฤติจนเกิดสงครามกลางเมือง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้อีกเหมือนกัน ที่ทรงแก้ไขให้คืนสู่ความสงบได้ราวปาฏิหาริย์ ทรงมีพระราชดำรัสเพียงไม่กี่ประโยคก็สามารถยุติสงครามกลางเมืองที่กำลังเข่นฆ่ากันได้ ซึ่งเป็นคนเดียวในโลกที่ทำได้ อีกทั้งพระราชดำรัสของพระองค์ก็มีคุณค่าอย่างมหาศาล เป็นแนวทางของประเทศและของบุคคลได้เป็นอย่างดี
ตลอดเวลากว่า ๗๐ ปีที่ครองราชย์ ทรงงานหนักในการสร้าง “ประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” อย่างมากมายมหาศาล มากกว่าที่จะมีใครคนใดคนหนึ่งในแผ่นดินนี้ทำได้ ฉะนั้นด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ปวงชนชาวไทยจึงมีความรู้สึกต้องตรงกันว่า พระองค์คือ “พ่อของแผ่นดิน”
ในวาระที่วันเสด็จสู่สรวงสวรรค์ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งในวันที่ ๑๓ ตุลาคมนี้ เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ จึงขอเป็นส่วนร่วมเชิญชวนพี่น้องไทยสวมใส่เสื้อเหลืองให้โลกประจักษ์อีกครั้ง เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ ผู้ทรงงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างสม่ำเสมอและยาวนานตลอดระยะเวลาที่ครองราชย์ ทั้งนี้ก็ด้วยพระราชหฤทัยที่เปี่ยมล้นในความรักต่อผองเราประชาชนคนไทยนั่นเอง