“ฉลาดซื้อ” สุ่มตรวจน้ำปูใน 6 จังหวัดภาคเหนือ พบมีสารพาราควอตตกค้างอยู่ถึง 8 ตัวอย่าง จากจำนวน 24 ตัวอย่าง วอนกระทรวงเกษตรฯ และคณะกรรมการวัตถุอันตราย คงมติแบนสารพิษพาราควอตและคลอไพริฟอส และเร่งดำเนินการเพิกถอนไกลโฟเสต ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
วันนี้ (25 ก.ย.) ฉลาดซื้อนิตยสารออนไลน์ ได้เผยแพร่ข้อมูลหลังร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์น้ำปูจำนวน 24 ตัวอย่าง จากตลาดในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ ระหว่างวันที่ 7-15 กันยายน 2563 และนำส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐาน เพื่อตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของพาราควอต
ผลการตรวจวิเคราะห์พบการตกค้างของสารพาราควอต จำนวน 8 ตัวอย่าง จากจำนวน 24 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 33 หรือ 1 ใน 3 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจทั้งหมด ใน 6 จังหวัด โดยตัวอย่างทั้งหมดมีค่าเฉลี่ยของการตกค้างพาราควอตเป็นจำนวน 0.04275 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ตัวอย่างน้ำปูที่พบปริมาณพาราควอตตกค้างมากที่สุด ได้แก่
1. น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ต.บ้านลา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง พบปริมาณพาราควอต 0.090 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
2. น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ต.ทุ่งฮั้ว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง พบปริมาณพาราควอต 0.074 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
3. น้ำปู ยี่ห้อน้ำปู๋แม่แจ่ม เก็บตัวอย่างจาก ตลาดสดข่วงเปา ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ พบปริมาณพาราควอต 0.046 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
4. น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ร้าน น.ส.นิตยา ต.แม่ยางฮ่อ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ พบปริมาณพาราควอต 0.042 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
5. น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก บ้านป่าสัก ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา พบปริมาณพาราควอต 0.040 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
6. น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ตลาดบ้านปางลาว ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย พบปริมาณพาราควอต 0.031 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
7. น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก บ้านหนุน อ.ปง จ.พะเยา พบปริมาณพาราควอต 0.011 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
8. น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ร้านป้าหวิน บ้านร่องกาศใต้ ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น จ.แพร่ พบปริมาณพาราควอต 0.006 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า จากผลการวิเคราะห์เราพบสารพาราควอตแม้ว่าจะเป็นปริมาณไม่มาก แต่ก็ถือว่าผิดกฎหมาย สันนิษฐานได้ว่า ปูนาที่เก็บมาจากท้องนานั้น เป็นปูนาที่มีการปนเปื้อนสารเคมีประเภทพาราควอต จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า แม้จะมีการห้ามการนำเข้า การผลิต และการจำหน่ายสารพาราควอตตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยังพบการตกค้างของสารพาราควอตในสิ่งแวดล้อมและในอาหาร ไม่สอดคล้องกับการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำข้อมูลของ “ฉลาดซื้อ” ไปอ้างว่าไม่พบพาราควอตในปูนา ตามที่เป็นข่าวเผยแพร่เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา และใช้เป็นเหตุผลในการพิจารณาให้ยกเลิกการใช้สารพาราควอตในการประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ (28 กันยายน) ทั้งที่ข้อเท็จจริงการสุ่มตรวจของนิตยสารฉลาดซื้อเมื่อเดือนธันวาคม 2561 เป็นการสุ่มตรวจปูนาเลี้ยงดองเค็มที่ใช้ในการทำส้มตำในพื้นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ยังไม่เคยทำการทดสอบน้ำปูหรือน้ำปู๋อาหารของคนไทยภาคเหนือตามที่อ้าง
วันนี้ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอยืนยันว่า น้ำปู หรือน้ำปู๋ของ 5 จังหวัด จาก 6 จังหวัด มีการตกค้างพาราควอตถึง 1 ใน 3 จาก 24 ตัวอย่างจากทั้งหมดที่ได้ทำการทดสอบ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าสารพาราควอตเป็นสารเคมีที่มีพิษเฉียบพลัน มีอันตรายร้ายแรง การพบตกค้างในอาหารจึงเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภคทุกคน ซึ่งเป็นต้นทุนในการรักษาพยาบาลของรัฐ โดยผู้ค้าสารเคมีไม่เคยต้องแบกรับและไม่ต้องเสียภาษีในการนำเข้าประเทศ รวมทั้งยังใช้การกดดัน การจ้างมืออาชีพล็อบบี้ เจรจา ให้กระทรวงเกษตรฯ และคณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนการยกเลิกสารเคมีอันตรายกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง
องค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ขอคัดค้านให้มีการทบทวนการยกเลิกการใช้สารพิษพาราควอตและคลอไพริฟอส โดยขอให้คงมติการยกเลิกการใช้สารเคมีทั้งสองชนิดและเร่งดำเนินการเพิกถอนไกลโฟเสต ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค