ภาคการท่องเที่ยวฝั่งทะเลอันดามันขานรับนโยบาย “เปิดประเทศ” รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ “อยู่ยาว” แต่เสนอรัฐทำข้อมูลสภาพเศรษฐกิจของลูกค้า ชี้ยังไม่มั่นใจว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาจริง
รายงานพิเศษ
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 ที่อนุมัติหลักการให้ “เปิดประเทศ” รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จจะเดินทางมาพำนักที่ประเทศไทยในระยะยาว ประเภทพิเศษ Special Tourist Visa (STV) หลังธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศต้องซบเซา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก
โดยมีเงื่อนไขว่า นักท่องเที่ยวที่จะมาประเทศไทยจะได้วีซ่ายาว 90 วัน และสามารถต่อวีซ่าได้รวม 3 ครั้ง เป็น 270 วัน แต่จะต้องกักตัวในห้องพัก 14 วันในช่วงแรกที่เข้ามาก่อนในสถานที่กักตัวทางเลือก (Alternative State Quarantine) มีหลักฐานที่พักอาศัยในประเทศไทย และต้องยอมให้ติดตามตัวรวมทั้งอยู่ภายใต้มาตรการสาธารณสุขของไทย
นายอมฤต ศิริพรจุฑากุล ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.กระบี่ แสดงความเห็นตอบรับต่อนโยบายนี้ของรัฐบาล เพราะอาจจะเป็นแนวทางที่พอช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้บ้าง เนื่องจากฐานของนักท่องเที่ยวในประเทศไทย มีนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เคยมาพักระยะยาวในประเทศไทยเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ทั้งกลุ่มที่มีครอบครัวในประเทศไทย มีธุรกิจในประเทศไทย มีบ้านพักหรือคอนโดมีเนียมที่เช่าซื้อไว้ในระยะยาว
โดยเฉพาะในฝั่งทะเลอันดามันจะมี “ชาวสแกนดิเนเวีย” มาในลักษณะนี้มากเป็นพิเศษ และหากทำได้จริงก็อาจส่งผลทางจิตวิทยาต่อนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ ที่ยังไม่รู้ข่าว หรือยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ ให้มีความมั่นใจมากขึ้น แต่ก็ยังต้องการให้รัฐบาลทำข้อมูลออกมาให้ชัดเจนว่าได้คาดการณ์ไว้อย่างไร จะมีนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มาในจำนวนเท่าไหร่ รวมทั้งสภาพทางเศรษฐกิจของนักท่องเที่ยว เพราะยังไม่มีความมั่นใจว่า จะมีนักท่องเที่ยวมาจริง
“เรายังเห็นว่า ระบบเศรษฐกิจของเขา (นักท่องเที่ยว) อาจจะยังเป็นปัญหาที่สำคัญที่ทำให้เราไม่แน่ใจว่าเมื่อเปิดประเทศให้เขามาแล้ว เขาจะเดินทางมาหรือไม่ เพราะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง โดยเฉพาะยิ่งเมื่อมาแล้วจะต้องกักตัว 14 วัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำตามมาตรการ แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงตั้งแต่เริ่ม ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งทำข้อมูลในส่วนนี้ออกมาเพื่อหารือกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว”
“โดยปกติกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาพักในประเทศไทยระยะยาว จะเป็นกลุ่มสแกนดิเนเวีย และกลุ่มวัยเกษียณ ซึ่งมักจะที่พักอาศัยถาวรอยู่แล้ว ทั้งบ้าน วิลล่า คอนโดฯ ในรูปแบบการเช่าซื้อระยะยาว และยังนิยมไปจ่ายตลาดเพื่อมาทำอาหารเอง แต่ก็ยังมาท่องเที่ยวจับจ่ายซื้อของ นั่งกินอาหารตามร้านบ้าง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าแม้เขาจะมา ก็ยังไม่ได้ทำให้เกิดรายได้กับธุรกิจโรงแรม ดังนั้นนโยบายนี้จึงยังช่วยกระตุ้นกลุ่มโรงแรมไม่ได้ แต่ก็ถือว่า เป็นแนวทางที่น่าลอง เพราะอาจจะส่งผลดี”
“ถ้าให้ความมั่นใจได้ว่า มีมาตรการในการกักตัวที่ดี ไม่ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 เพราะเมื่อเขามาแล้วเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ท่องเที่ยวได้และปลอดภัยจากโควิด ก็อาจส่งผลดีทางจิตวิทยาตามมาจากการสื่อสารกันเองของกลุ่มนักท่องเที่ยวกลับไป อย่างที่เกาะลันตา จะมีโรงเรียนที่เป็นของกลุ่มคนจากแถบสแกนดิเนเวียอยู่ 3-4 แห่ง ในทุกๆ ปี เขาก็จะมาอยู่กันยาว 5-6 เดือน พร้อมนำเด็กๆมาเข้าโรงเรียนที่นี่เลย ซึ่งหากใช้นโยบายนี้ ก็อาจได้นักท่องเที่ยวประเภทนี้กลับมาบ้าง” นายอมฤต กล่าว
ส่วนสถานการณ์ของธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันในขณะนี้ นายอมฤต เปิดเผยว่า ยังคงซบเซา แต่ก็มีนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มาจากจังหวัดใกล้เคียงในพื้นที่ภาคใต้มาเที่ยวบ้างในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ซึ่งก็พอทำให้สามารถหล่อเลี้ยงคนงานในอุตสาหกรรมให้มีรายได้บ้าง แต่การจัดประชุม-สัมมนาในพื้นที่ยังมีน้อยมาก ทั้งที่หากรัฐบาลส่งเสริมเป็นนโยบายให้หน่วยงานจัดการสัมมนาในแหล่งท่องเที่ยวก็อาจช่วยได้มากกว่านี้
อีกหนึ่งแนวทางที่นายอมฤตเสนอ คือ รัฐบาลน่าจะกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กับกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มนักศึกษา ที่นิยมการท่องเที่ยวแบบผจญภัย พักในโฮสเทลราคาไม่แพง เที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ไปเรื่อยๆ เพื่อหาประสบการณ์ ซึ่งเชื่อว่า เป็นกลุ่มที่แม้ไม่ได้ใช้จ่ายมาก แต่ก็จะมาช่วยการท่องเที่ยวในอีกรูปแบบหนึ่งได้มาก