xs
xsm
sm
md
lg

หมอเวร ยัน “ซากเชื้อ” ไม่น่ากลัว เพราะคือเชื้อที่ตายแล้ว ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจหมอเวร ออกมาให้ความรู้หลัง สธ.ประกาศพบผู้ติดโควิด 2 ราย เคยกักตัวครบ 14 วัน ผลตรวจพบเชื้อพบเป็นซากเชื้อ ยืนยัน “ซากเชื้อ COVID-19” ที่ตายแล้ว ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อให้ใครแล้วก็ได้ อย่ากังวล

จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขแถลงยืนยัน พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 2 ราย เป็นเพศหญิงทั้ง 2 ราย เดินทางกลับจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเข้ากักตัวในสถานกักกันโรคของรัฐ ครบ 14 วันแล้ว และได้ออกจากสถานกักกันโรคฯ ผลตรวจพบเชื้อโควิด-19 รายแรกเป็นซากเชื้อ มีภูมิคุ้มกันแล้ว อีกรายต้องรอผลตรวจละเอียด ย้ำชัดยังไม่ใช่ระบาดรอบสอง

วันนี้ (20 ส.ค.) เพจ “หมอเวร” ได้ออกมาให้ความรู้เรื่อง “ซากเชื้อ” โดยระบุรายละเอียดว่า “หลายคนที่สงสัยว่าผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายล่าสุด ที่ว่าตรวจเจอ แต่เจอเป็นซากเชื้อ ซากเชื้อมันคืออะไร ถ้าเชื้อตายแล้วจริงๆทำไมตรวจเจอ จะเหลาให้ฟังงี้นะ การตรวจแบบ PCR เนี่ย เป็นการตรวจที่มีความไวสูงมาก แค่เจอเชื้อที่หลงเหลืออยู่ในสารคัดหลั่งแค่ปริมาณนิดเดียวก็สามารถตรวจเจอแล้ว แถมบางครั้งไอ้เจ้าเชื้อที่ตรวจเจอเนี่ย บอกไม่ได้ด้วยนะ ว่าเจอตัวที่มันเป็นๆ อยู่ หรือเจอตัวที่ตายแล้ว “มันบอกได้แค่ว่า ตรวจเจอเชื้อชนิดนี้อยู่ในร่างกายเราเท่านั้น”

นึกภาพว่า PCR คือ เซลล์ขายรถคนนึงที่ขยันมาก และดูเป็นคนซื่อๆ ส่วนเต็นท์รถในสต๊อกของร้าน ก็คือ ร่างกายของเราแทนสมมติวันนึงเราสั่งให้ PCR ไปเช็กว่า ในลานจอดยังมีรถโตโยต้าเหลืออยู่บ้างไหม ด้วยความที่ PCR เป็นคนซื่อๆ เห็นโตโยต้าจอดอยู่คันนึง ก็รีบวิ่งมารายงานบอสเลยว่าเจอรถแล้ว ทั้งๆ ที่รถคันนั้นเป็นรถที่ใช้งานได้ หรือจริงๆ แล้วเป็นแค่ซากรถที่จอดตายเอาไว้เฉยๆ ฉะนั้น แทนที่การตรวจ PCR จะไปจับมันทั้งตัว ก็จะเอาแค่ส่วนหนึ่งที่บ่งชี้ว่าคือไวรัสตัวนี้แล้วเอาผลมาบอกเราอีกที ซึ่งจริงๆ มันอาจเป็นแค่ “ซากเชื้อ COVID-19” ที่ตายแล้ว ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อให้ใครแล้วก็ได้

ฉะนั้น ก็มีความเป็นไปได้สำหรับคนไข้ที่ติดเชื้อบางคน อาจเคยรับเข้ามาในร่างกายจริง และภูมิคุ้มกันก็รุมยำจนเชื้อมันน่วมตายจนกลายเป็นซากไปแล้ว แต่พอตรวจ PCR ทีไร ก็ยังเจอผลเป็นบวกอยู่นั่นเอง

ส่วนเชื้อที่เจออยู่ในการตรวจ จะระบุได้ว่าเป็นซากเชื้อ หรือสามารถแพร่เชื้อต่อให้คนอื่นอีกได้ไหม อันนี้ก็ต้องลองเอาไปเพาะเชื้อดูอีกที แล้วก็ไม่ได้เพาะกันง่ายๆ เหมือนเพาะถั่วงอกนะ ต้องเอาไปเพาะบนเซลล์ที่มีชีวิตด้วยนะ ซึ่งตรงนี้ใช้ขั้นตอนที่วุ่นวาย รวมถึงมีต้นทุนที่แพงมากด้วย วิธีนี้ส่วนใหญ่มันเหมาะกับการทำวิจัยมากกว่า ไม่ค่อยนิยมใช้ในการตรวจรักษาเท่าไหร่หรอกนะ”

ทั้งนี้ มีชาวเน็ตมากมายให้ความสนใจโพสต์ดังกล่าว และเข้ามาตั้งคำถามมากมาย และบางรายได้เข้ามาชื่นชมในการอธิบายที่กระจ่างและเห็นภาพ ส่วนบางรายก็เสรอแนะว่า การตรวจซากเชื้อหากค่าใช้จ่ายสูงก็ควรที่จะตรวจให้แน่ชัด เพราะอาจคุ้มค่าว่ามีการกระบาดอีกรอบ โดยโพสต์นี้มียอดกดไลก์ 1,400 ครั้ง และแชร์ไปกว่า 230 ครั้งด้วยกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น