“ไทยชนะ” หลบไป “หมอชนะ” แจ้งเตือนคนไปเดินห้างแหลมทอง ระยอง ที่ทหารอียิปต์ดอดไปใช้บริการ 10 คนไปแล้วเมื่อคืน ระบุ “เป็นแอปฯ ดีที่รัฐบาลไทยจงใจไม่พูดถึง” ทั้งที่ถูกสร้างและเปิดใช้งานก่อน แถมสะดวกกว่า
วันนี้ (14 ก.ค.) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Khomsan Kiatsupaibul โพสต์ภาพการแจ้งเตือนแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ระบุข้อความว่า “คุณได้ไปบริเวณห้างแหลมทอง ระหว่างเวลา 11-15 น. วันที่ 10 กรกฎาคม ซึ่งเป็นบริเวณที่ทหารอียิปต์ที่มีเชื้อโควิด 19 ไป ขอให้สังเกตอาการตัวเองอย่างละเอียด” โดยระบุว่า “เมื่อกลางดึกคืนวาน (13 ก.ค.) แอปพลิเคชัน หมอชนะ ได้ส่งการแจ้งเตือนออกไปยังยูสเซอร์ที่ลงแอปฯ ไว้ จำนวน 10 คน เนื่องจากเข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อจากกรณีคณะทูตซูดานและทหารอียิปต์ ยอด 10 คนนี้ มาจากฐานผู้ลงและเปิดใช้งานแอปฯจำนวน 270,000 คน เมื่อคำนวณคร่าวๆ จากจำนวนประชากรไทยทั้งหมด น่าจะมีผู้เสี่ยงติดเชื้อจากเคสนี้ในระดับ 2,000 คน
หมอชนะ เป็นแอปฯที่สร้างโดยวิศวกรซอฟต์แวร์คนไทยกลุ่มเล็กๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เป็นหนึ่งในแอปฯกลุ่มแรกๆ ของโลกที่นำแนวคิด Contact Tracing มาใช้ และในวันนี้ มันได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นเทคโนโลยีที่ใช้งานได้จริงเมื่อเกิดวิกฤต หมอชนะ เป็นแอปฯดีที่รัฐบาลไทยจงใจไม่พูดถึงด้วยเหตุผลบางประการ ทั้งที่ถูกสร้างและเปิดใช้งานก่อนแพลตฟอร์มไทยชนะและใช้งานสะดวกกว่า
ในช่วงเวลาวิกฤตนี้ นอกจากล้างมือ สวมมาสก์ และรักษาระยะห่างแล้ว ผมขอแนะนำให้ลงแอปฯหมอชนะ กันทุกคนนะครับ ทำเพื่อตัวเอง ทำเพื่อทุกคนครับ หมอชนะ เปิดให้ดาวน์โหลดฟรี ทั้งแพลตฟอร์ม iOS และ แอนดรอยด์ ลงเสร็จ ใส่แบบสอบถามประเมินความเสี่ยงของตัวเอง 1 ครั้ง แล้วลืมไปได้เลย ถึงเวลาถ้าคุณเข้าข่ายเสี่ยง มันจะเตือนขึ้นมาเอง ไม่ต้องสแกนเข้าออกหรือลงชื่อลงเบอร์ตามร้านค้าใดๆ ทั้งสิ้น ขอให้ทุกท่านปลอดภัยครับ”
สำหรับแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เปิดให้ดาวน์โหลดเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2563 พัฒนาโดยกลุ่มอาสาสมัครที่ใช้ชื่อว่า “กลุ่มช่วยกัน” จัดทำขึ้นเพื่อส่งมอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข ได้นำไปใช้เพื่อเก็บข้อมูลหรือจดบันทึกข้อมูลของประชาชนแบบรายบุคคล ในการเดินทางไปยังในสถานที่ต่างๆ เพื่อประมวลผลว่าบุคคลนั้นมีส่วนใกล้ชิดกับบุคคลผู้มีความเสี่ยงหรือไม่ และยังเป็นการประมวลผลข้อมูลความเสี่ยงในตัวบุคคลในแต่ละวันว่า มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด โดยเป็นการเก็บข้อมูลไว้บนเครื่องโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนของบุคคลเท่านั้น ไม่ได้ส่งข้อมูลเข้ามาในระบบ
รูปแบบของแอปพลิเคชันหมอชนะ ก็คือ จะเก็บข้อมูลการเดินทางและวิเคราะห์ข้อมูลจากการพบปะหรือเข้าใกล้กับคนอื่นโดยไม่ระบุตัวตนเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวไว้ มีการรายงานผลเป็นค่าสีต่างๆ ตามระดับความเสี่ยง แบ่งเป็น สีเขียว ความเสี่ยงต่ำมาก ไม่มีอาการ ไม่มีประวัติเสี่ยง สีเหลือง มีความเสี่ยงน้อย สีส้ม มีความเสี่ยง หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยง คนกลุ่มนี้ต้องกักตัวอยู่บ้านจนครบ 14 วัน พร้อมทั้งเฝ้าระวัง และสีแดง มีความเสี่ยงสูงมากและควรพบแพทย์โดยเร็ว ทั้งนี้ ข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกเก็บไว้อย่างปลอดภัยและใช้เพื่อจัดการกับสถานการณ์โควิด-19 เท่านั้น และจะทำลายทันทีที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว
ภายหลังพบว่า รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 มอบหมายให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จัดทำระบบที่ชื่อว่า “ไทยชนะ” เพื่อรองรับมาตรการผ่อนปรนกิจการ-กิจกรรมระยะที่ 2 ที่ให้เปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตีมอลล์ เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2563 โดยรูปแบบจะบังคับให้ประชาชนสแกนคิวอาร์โค้ดเข้าเว็บแอปพลิเคชัน Thaichana เพื่อเช็กอินและเช็กเอาต์ และข้อมูลจะถูกส่งไปยังกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีอายุ 60 วัน แต่ที่ผ่านมาถูกวิจารณ์จากสังคมว่ามีความยุ่งยาก และวิตกกังวลต่อความเป็นส่วนตัว หลังประชาชนส่วนหนึ่งสแกนคิวอาร์โค้ดไทยชนะ แล้วพบว่า มี SMS จากเว็บไซต์พนันออนไลน์เข้ามาที่ระบบ iMessage ของระบบปฏิบัติการไอโอเอส แม้กระทรวงดีอีเอสจะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องก็ตาม
สำหรับ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐในฐานะลูกค้ารายใหญ่ ในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับงานใหญ่ๆ มาแล้วหลายราย ไม่ว่าจะเป็น ระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, โครงการชิมช้อปใช้ แจกเงินเที่ยวในประเทศ 1,000 บาท, โครงการเราไม่ทิ้งกัน จ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน, ระบบแพลตฟอร์มไทยชนะ และล่าสุดคือ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่จะเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 15 ก.ค. 2563 เวลา 06.00 น.