“กรมควบคุมโรค” ห่วงช่วงหน้าฝนเห็ดพิษระบาด ทำประชาชนเข้าใจผิดนำมารับประทาน อันตรายถึงชีวิต แนะ หากไม่แน่ใจว่าเห็ดที่เก็บมาเป็นเห็ดพิษหรือไม่ ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหารรับประทาน หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. เพจ “Anti-Fake News Center Thailand” ได้ออกมาโพสต์ข้อความเตือนภัยโดยได้นำข้อมูลมาจาก “กรมควบคุมโรค” เกี่ยวกับอันตรายจากการรับประทานเห็ดพิษ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากในฤดูฝน ทำให้มีเห็ดชนิดต่างๆ เจริญเติบโตในธรรมชาติ และบางชนิดที่นำมาปรุงอาหารอาจจะเป็นเห็ดพิษ ทำให้เกิดอาการผิดปกติ จนส่งผลให้ถึงแก่ชีวิตได้ โดยทางเพจได้ระบุข้อความว่า
“ช่วงหน้าฝนระวังอันตรายจากการเก็บหรือซื้อเห็ดป่ามารับประทาน อาจเป็นเห็ดพิษ เสี่ยงเสียชีวิตได้ หลังจากฝนตก จะมีการเจริญเติบโตของเห็ดป่าขึ้นเองตามธรรมชาติ ประชาชนมักนิยมเก็บเห็ดป่ามาขายหรือนำมาปรุงอาหาร ซึ่งในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดพิษเป็นประจำ เนื่องจากเห็ดป่ามีทั้งเห็ดที่รับประทานได้ และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้
อาการหลังจากกินเห็ดพิษแล้ว จะทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือ ถ่ายอุจจาระเหลว ไม่ควรซื้อยากินเอง หรือไปรักษากับหมอพื้นบ้าน จะต้องรีบไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการกินเห็ดโดยละเอียด พร้อมกับนำตัวอย่างเห็ดพิษไปด้วย (หากยังเหลืออยู่) และควรให้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือนัดติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ เนื่องจากเห็ดพิษชนิดร้ายแรงจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนในช่วงวันแรก แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงตามมา คือ การทำงานของตับ และไตล้มเหลว อาจทำให้เสียชีวิตได้
สำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษเบื้องต้น ให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มากที่สุด โดยการล้วงคอ หรือกรอกไข่ขาว จากนั้นรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที
หากไม่แน่ใจว่าเห็ดที่เก็บมาเป็นเห็ดพิษ หรือเป็นเห็ดที่รับประทานได้ ไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าเป็นเห็ดพิษ ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหารรับประทาน ควรเลือกรับประทานเห็ดที่มาจากการเพาะขยายพันธุ์ เช่น เห็ดนางฟ้า หรือเห็ดฟาง
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดร่วมกับการดื่มสุรา เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422”