รถไฟฟ้าล้อยางไร้คนขับขบวนแรกของไทยมาแล้ว ถึงท่าเรือแหลมฉบัง 10 มิ.ย.นี้ เตรียมพร้อมขึ้นโรงจอดลอยฟ้าโครงการ “รถไฟฟ้าสายสีทอง” ที่สถานีกรุงธนบุรี พร้อมให้บริการชาวกรุงภายในเดือน ต.ค.นี้
วันนี้ (28 พ.ค.) นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง ช่วง สถานีกรุงธนบุรี-สถานีสำนักงานเขตคลองสาน (รถไฟฟ้าสายสีทอง) ว่า หลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้กำหนดการจัดส่งขบวนรถไฟฟ้าในโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองต้องเลื่อนจากเดือนเมษายน 2563 ที่กำหนดไว้เดิม ล่าสุด ขณะนี้ทางบริษัทผู้ผลิตในจีน ได้จัดส่งขบวนรถไฟฟ้าในเส้นทางดังกล่าวมาแล้ว โดยขบวนรถจะมาถึงไทย ในวันที่ 10 มิถุนายน 2563 นี้ โดยจัดส่งมาก่อน 1 ขบวนมี 2 ตู้โดยสาร จากจำนวนที่จัดซื้อทั้งหมด 3 ขบวน โดยขบวนที่เหลือจะจัดส่งมาภายหลัง
นายมานิต กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง จะใช้รถ รุ่น Bombardier Innovia APM 300 ซึ่งผลิตจากเมืองอู่หู มณฑลอานฮุย สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อรถมาถึงและผ่านพิธีการทางศุลกากรแล้ว จากนั้นจะมีการนำขบวนรถไฟฟ้ายกขึ้นสู่โรงจอดและซ่อมบำรุงที่สถานีกรุงธนบุรี เพื่อเตรียมการทดสอบระบบในช่วงเดือนมิถุนายน ถึงกันยายน และทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Running) ในเดือนกันยายน ก่อนเปิดให้บริการในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2563 นี้ ซึ่งกำลังเร่งรัดงานในส่วนที่ล่าช้าจากผลกระทบโควิด-19
“สำหรับรถไฟฟ้ารุ่น Bombardier Innovia APM 300 มีความพิเศษ คือ เป็นระบบที่ใช้เป็นรถไฟฟ้ารูปแบบไร้คนขับ โดยใช้รางนำทาง มีผิวสัมผัสระหว่างล้อและทางวิ่งเป็นยาง ซึ่งจะทำให้เกิดความนุ่มนวลและก่อให้เกิดเสียงรบกวนต่ำ ความเร็วการทำงานสูงสุดที่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขบวนรถที่ใช้ในระบบมีทั้งหมด 3 ขบวน ขบวนละ 2 ตู้ โดยใช้รับส่งผู้โดยสารจำนวน 2 ขบวน และสำรองไว้ในระบบ 1 ขบวน ความจุผู้โดยสาร 137 คน/ขบวน รถไฟฟ้ามีความกว้าง 2.8 เมตร ความยาว 12.75 เมตร ความสูง 3.5 เมตร ประตูมีความกว้าง 1.9 เมตร ความสูงของพื้นรถ 1.1 เมตร น้ำหนัก 16,300 กิโลกรัม”
นายมานิต กล่าวต่อด้วยว่า สำหรับความคืบหน้างานก่อสร้างโรงจอดและซ่อมบำรุง รวมถึงสถานีกรุงธนบุรี (G1) สถานีเจริญนคร (G2) และสถานีคลองสาน (G3) ความก้าวหน้าภาพรวม 88 % แบ่งออกเป็นความก้าวหน้างานโยธา 93% และความก้าวหน้างานระบบการเดินรถ 81% .