ด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยและทรงให้ความสำคัญต่อการดูแลรักษาสุขภาพพลานามัยของประชาชน ตลอดจนการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษาโรคโควิด-19 ทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคนี้อย่างใกล้ชิด ทรงทราบว่าหากสถานการณ์รุนแรงขึ้น โรงพยาบาลในประเทศไทยจะมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่เพียงพอ จึงได้ทรงจัดหาพระราชทานให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้พร้อมรับมือกับโรคโควิด-19 อันจะเป็นประโยชน์แก่การให้บริการทางการแพทย์ แก่ประชาชนต่อไป การณ์นี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) อันเป็นหนึ่งในโครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทานให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศจำนวน 20 แห่ง
วันนี้ (13 พ.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit)” หนึ่งใน “โครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน” เพื่อรับสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ให้แก่โรงพยาบาลกลาง สังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร อันเป็นโรงพยาบาลแห่งที่ 3 ที่ได้รับพระราชทานห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) โดยมีนายแพทย์สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร แพทย์หญิงสุภาพร กรลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์เพชรพงษ์ กำจรกิจการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกลาง นางสาวอภิรดี สุนันทตานนท์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลกลาง ฝ้ายบริหาร พร้อมด้วยนายยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี และนางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงาน Enterprise Brand Management เอสซีจี ร่วมพิธีรับพระราชทานห้องตรวจหาเชื้อดังกล่าว
นายแพทย์สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระเมตตาต่อโรงพยาบาลกลาง บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนของโรงพยาบาลกลางอย่างหาที่สุดมิได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit)” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเครื่องช่วยหายใจ และเครื่องมือแพทย์พระราชทาน โรงพยาบาลกลาง บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนของโรงพยาบาลกลาง และประชาชนทุกคนรู้สึกซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี อย่างหาที่สุดมิได้ และจะนำนวัตกรรมห้องตรวจหาเชื้อที่ได้รับพระราชทานในครั้งนี้ไปใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีที่สุดเต็มกำลังความสามารถ และเพื่อเป็นเครื่องมือป้องกันให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานเป็นแนวหน้าอีกทั้งเป็นกำลังหลักในการรักษาผู้ป่วยให้มีขวัญ มีกำลังใจ และมีความปลอดภัยในกาปฏิบัติงานต่อไป
ขณะที่ นายยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี รู้สึกปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้มีสวนร่วมในการผลิตนวัตกรรมห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) เพื่อช่วยปกป้องแพทย์พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ขณะปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งห้องตรวจหาเชื้อดังกล่าวพัฒนาจากเทคโนโลยีของ SCG HEIM และ Living Solution โดยออกแบบให้มีระบบที่จะช่วยควบคุมแรงดันและการหมุนเวียนของ อากาศให้สะอาด ปลอดภัย มีระบบการป้องกันอากาศรั่วไหล ทำให้ห้องปิดสนิท ป้องกันอากาศเข้าออกตัวอาคาร ทำให้ภายในอาคารสามารถควบคุมแรงดันอากาศได้เป็นอย่างดี ช่วยเพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์ขณะปฏิบัติหน้าที่ได้มากขึ้น ด้วยระบบที่ช่วยควบคุมแรงดันและการหมุนเวียนของอากาศของนวัตกรรมห้องตรวจหาเชื้อนี้ โรงพยาบาลฯ สามารถปรับห้องตรวจหาเชื้อเป็นห้องตรวจผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจได้เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ การติดตั้งห้องตรวจหาเชื้อดังกล่าวสำเร็จลงภายในเวลาเพียง 2 วัน ด้วยความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทางโรงพยาบาลฯ ประกอบกับประสบการณ์และความชำนาญของทีมติดตั้ง จึงทำให้โรงพยาบาลฯ พร้อมให้บริการแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนได้ในทันที
ทางด้าน นายแพทย์เพชรพงษ์ กำจรกิจการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกลาง กล่าวว่า “โรงพยาบาลกลาง สำนักการแพทย์ นับเป็นโรงพยาบาลแห่งที่ 3 ที่ได้รับพระราชทานห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) พวกเรารู้สึกปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มขวัญและกำลังใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปที่มาใช้บริการการตรวจหาเชื้อ ซึ่งจุดคัดกรอง และตรวจหาเชื้อนับว่าเป็นจุดที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายชื้อให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานหรือผู้มารับบริการ ดังนั้น หากมีห้องตรวจหาชื้อ (Modular Swab Unit) จะเป็นการเพิ่มศักยภาพ และลดการแพร่กระจายเชื้อ ช่วยลดอัตราเสี่ยงจากการติดเชื้อและเกิดความปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์และผู้ปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี ทำให้การรักษาพยาบาลของประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งรองรับผู้ที่มารับการตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลฯ ซึ่งมีเฉลี่ยวันละมากกว่า 100 คน”
นายแพทย์เพชรพงษ์ อธิบายถึงขั้นตอนการทำงานของห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) ว่า มีทั้งหมด 3 ห้องด้วยกัน และระบบการป้องกันอากาศรั่วไหล (Air Tightness) ที่ทำให้ห้องปิดสนิท ป้องกันอากาศเข้าออกตัวอาคารทำให้ในตัวอาคารสามารถควบคุมแรงดันอากาศได้เป็นอย่างดี โดยทีมแพทย์จะอยู่ห้องความดันบวก ที่ไม่มีอากาศเสียจากภายนอกเข้าไป ส่วนผู้ป่วยจะอยู่ห้องความดันลบ และมีระบบดูดอากาศเสียออกไปกำจัดอย่างต่อเนื่อง ป้องกันไม่ให้มีอากาศฟุ้งกระจายออกไปภายนอก เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้แก่ทีมแพทย์ ซึ่งการเก็บตัวอย่าง (Swab) จะทำผ่านแผ่นอะคริลิกที่เจาะเป็นช่อง โดยแพทย์สามารถสอดมือผ่านช่องที่มีถุงมือคลุมด้วยพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวโดยผู้เข้ารับการตรวจเชื้อต้องเป็นผู้คลุมพลาสติกที่ถุงมือให้แพทย์ จึงสามารถลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนจากผู้ที่เข้ารับการตรวจพร้อมใช้แสงยูวีเข้มขันสูง ฆ่าชื้อโรคต่างๆ (UV Germicide) หลังจากการใช้งานในห้องทุครั้ง
นายแพทย์เพชรพงษ์ เล่าต่อว่า ห้องตรวจหาเชื้อจะใช้เวลาเพียงแค่ 2-3 นาทีในการตรวจผู้ป่วยต่อครั้ง และภายใน 2 ชั่วโมงสามารถทราบผลการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ในทันที โดยในแต่ละวันสามารถรองรับการตรวจผู้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากถึงวัน140-150 คน อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วป้องกันการแพร่ระบาดของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวแพทย์ผู้ที่ทำการตรวจหาเชื้อไม่จำเป็นต้องใส่ชุด PPE เพราะแต่ละห้องได้ออกแบบให้มีระบบ Smart Indoor Air (IAQ Smart) ที่ช่วยควบคุมแรงดันและการหมุนเวียนของอากาศให้สะอาด ปลอดภัย จึงสามารถช่วยให้ลดต้นทุนในการจัดซื้อชุด PPE ที่ขาดแคลนอยู่ในขณะนี้
ทั้งนี้ โรงพยาบาล 20 แห่งที่ได้รับพระราชทานห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) ได้แก่ 1.รพ.ภูมิพลอดุลยเดซ กรมแพทย์ทหารอากาศ 2. รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา 3. สถาบันบำราศนราดูร 4. รพ.สมเด็จพระยุพราชสระแก้ว 5. สถาบันโรคทรวงอก 6. รพ.ตำรวจ 7. รพ.กลาง 8. รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ 9. รพ.นครปฐม 10. รพ.ราชบุรี 11. รพ.พุทธชินราช พิษณุโลก 12. รพ.พหลพลพยุหเสนา 13. รพ.อุตรดิตถ์ 14. รพ.สวรรค์ประชารักษ์ 15. รพ.นครพิงค์ 16. รพ.อุดรธานี 17. รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ 18. รพ.สุราษฎร์ธานี 19. รพ.สงขลานครินทร์ และ 20. รพ.หาดใหญ่
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงรับเป็นพระราชภารกิจสำคัญที่จะต้องดูแลประชาชนให้มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ อันจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดี ดังพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจด้านสาธารณสุขของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง