มูลนิธิชัยพัฒนา ส่งมอบ “นวัตกรรมป้องกันโควิด-19 แบบเคลื่อนที่” (Mobile Isolation Unit) ที่พัฒนาโดยเอสซีจี ให้กับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา จ.ยะลา สนองพระราชกระแสรับสั่งในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเร่งบรรเทาทุกข์ประชาชน ด้วยการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันบุคลากรการแพทย์จากการติดเชื้อโควิด-19 มั่นใจนวัตกรรมเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้บุคลากรการแพทย์ ทั้งยังใช้งานง่าย ติดตั้ง-เคลื่อนย้ายสะดวก ตอบโจทย์การใช้ในโรงพยาบาล แม้ในโรงพยาบาลที่ห่างไกล
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิชัยพัฒนา กล่าวว่า “จากสถานการณ์ความรุนแรงในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรู้สึกห่วงใยพี่น้องชาวไทยที่กำลังเผชิญปัญหากันอยู่ในขณะนี้ จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้มูลนิธิชัยพัฒนาเป็นช่องทางในการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์แก่ประชาชน ด้วยการจัดหาอุปกรณ์และสิ่งของที่มีความจำเป็นในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ผ่าน “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด-19 (และโรคระบาดต่าง ๆ)” โดยมูลนิธิฯ ได้จัดสรรงบประมาณของมูลนิธิฯ และเงินบริจาคสนับสนุนที่ได้รับจากภาคเอกชน และภาคประชาชน นำไปจัดหาอุปกรณ์ที่ช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรแพทย์ให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละโรงพยาบาล โดยในเบื้องต้นจะนำไปส่งมอบให้โรงพยาบาล 4 แห่ง คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา จ.ยะลา โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี และโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น และจะเร่งกระจายความช่วยเหลือไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้ทีมแพทย์-พยาบาล และผู้ป่วย ทั้งนี้ มูลนิธิฯ จะนำ “นวัตกรรมป้องกันโควิด-19 แบบเคลื่อนที่” ของเอสซีจี ไปส่งมอบที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา จ.ยะลา เป็นแห่งแรก เพราะนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อในขณะปฏิบัติงานตรวจรักษาผู้ป่วยแล้ว นวัตกรรมนี้ยังสะดวกในการใช้งาน สามารถติดตั้งได้ง่าย และเคลื่อนย้ายสะดวก เหมาะสมกับโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ห่างไกล โดยกลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย จะช่วยสนับสนุนการขนส่งไปยังโรงพยาบาลดังกล่าว”
ด้าน นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี และประธานกรรมการมูลนิธิเอสซีจี เปิดเผยว่า “เอสซีจีรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสรับสั่งให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดหาอุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 เพื่อนำไปใช้ในการป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ ตามโรงพยาบาลที่ขาดแคลน และเอสซีจีได้มีส่วนร่วมในการผลิตนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ใช้ป้องกันโรคดังกล่าว เพื่อนำไปส่งมอบตามพระราชปณิธาน ที่ผ่านมา เอสซีจีได้นำความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีที่มีอยู่ เร่งพัฒนานวัตกรรมป้องกันโควิด-19 ร่วมกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ออกมาเป็นนวัตกรรมที่หลากหลาย และสามารถผลิตมาใช้งานได้ในเวลาอันรวดเร็ว ได้แก่ นวัตกรรมป้องกันโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ (Mobile Isolation Unit) และนวัตกรรมห้องตรวจและคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยง (Modular Screening & Swab Unit) ที่พัฒนาจากเทคโนโลยีของ SCG HEIM และ Living Solution โดยก่อนหน้านี้ มูลนิธิเอสซีจีได้สนับสนุนงบประมาณกว่า 50 ล้านบาท เพื่อนำนวัตกรรมเหล่านี้ไปทยอยส่งมอบให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ขาดแคลน เอสซีจีหวังว่า นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้านความปลอดภัย บวกกับพลังน้ำใจจากผู้ร่วมบริจาค จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้บุคลากรการแพทย์พร้อมสู้ไปด้วยกันอย่างเข้มแข็งและปลอดภัย”
ด้าน นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า “ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้พัฒนานวัตกรรมป้องกันโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ หรือ Mobile Isolation Unit ร่วมกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาล 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานจริงของแพทย์มากที่สุด โดย Mobile Isolation Unit นี้ มีนวัตกรรมหลักอยู่ทั้งหมด 5 ตัว
จุดเด่นคือ นอกจากจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อสู่บุคลากรการแพทย์ด้วยระบบควบคุมความดันอากาศที่มีประสิทธิภาพ เเละระบบกรองอากาศระดับ HEPA ที่ช่วยกรองอากาศให้สะอาด ปลอดภัยแล้ว ยังตอบโจทย์เรื่องความสะดวกในการใช้งานอย่างมาก เพราะสามารถติดตั้ง-รื้อถอนได้ง่าย เคลื่อนย้ายสะดวก โครงสร้างทุกชิ้นแข็งแรง ใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบหลัก เนื่องจากมีน้ำหนักเบาแต่ยังคงความแข็งแรงทนทาน สำหรับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา จ.ยะลา ที่มูลนิธิชัยพัฒนาจะนำนวัตกรรมในกลุ่ม Mobile Isolation Unit ไปส่งมอบ จะมีด้วยกัน 3 นวัตกรรม คือ ห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ ห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่ และแคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางเลือกสำหรับโรงพยาบาล ที่จะช่วยปกป้องบุคลากรการแพทย์ที่ทำงานอย่างหนักเพื่อดูแลพวกเราให้ปลอดภัยจากโควิด-19 ได้”
ทั้งนี้ นวัตกรรมป้องกันโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ หรือ Mobile Isolation Unit ประกอบด้วย 5 นวัตกรรมหลัก ได้แก่
1. ห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ (Negative Pressure Isolation Room) อุปกรณ์เสริมพิเศษที่ออกแบบให้เหมาะกับปฏิบัติการในห้องฉุกเฉิน ห้องไอซียู หรือแม้แต่เป็นห้องพักผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์และพยาบาลสามารถรักษาผู้ป่วยหนักได้ทันท่วงที โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและอุปกรณ์ช่วยชีวิตอื่น ๆ
2. ห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่ (Negative/Positive Pressure Isolation Chamber) ห้องตรวจที่ช่วยให้แพทย์และพยาบาลสามารถสอดมือเข้าไปทำหัตถการ (Swab) โดยไม่ต้องสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย ออกแบบเป็นทรงกระบอกแนวตั้ง ทางเข้าเป็นซิปรูดสำหรับเปิด-ปิด เพื่อให้สะดวกในการใช้งาน
3. แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ (Patient Isolation Capsule) อุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย4. แคปซูลความดันลบขนาดเล็ก สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อเข้าเครื่อง CT Scan (Small Patient Isolation Capsule for CT scan) อุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าเครื่อง CT Scan
5. อุปกรณ์ครอบศีรษะคนไข้เพื่อป้องกันเชื้อสำหรับงานทันตกรรม (Dent Guard) ป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อระหว่างการทำงานทันตกรรม
อย่างไรก็ตาม ยังมีโรงพยาบาลทั่วประเทศอีกจำนวนมากที่ต้องการนวัตกรรมเพื่อการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ผู้ที่สนใจอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ สามารถบริจาคเงินสมทบ “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่าง ๆ)” ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสวนจิตรลดา บัญชีกระแสรายวัน เลขที่บัญชี 067–300487–3 โทร.02-447-8585 ถึง 8 ต่อ 109 / 121 / 259 หรือร่วมบริจาคผ่าน “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” รวมทั้ง “หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย” เพื่อส่งมอบนวัตกรรมต่างๆ ให้โรงพยาบาลที่มีความต้องการ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คอลเซ็นเตอร์ โทร. 02-586-2888
เรื่อง : อรวรรณ เหม่นแหลม