xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวบิดเบือน อย่าแชร์! มีไข้ ห้ามกินยา ibuprofen จะทำให้ไวรัส COVID-19 ออกฤทธิ์เป็น 10 เท่า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย แจงจากที่มีข้อความเตือนว่า "เวลาไม่สบายมีไข้ให้กินยาบรรเทาปวดลดไข้เท่านั้น ห้ามกินยาibuprofenจะทำให้ไวรัสCOVID-19ออกฤทธิ์มากเป็น10เท่า" ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ชี้แจงถึงประเด็นนี้ว่ามีข้อมูลบิดเบือน เนื่องจากไม่มีการห้ามกินยาibuprofen และยาไม่ออกฤทธิ์10เท่า แต่ยาibuprofen มีข้อควรระวังหลายประการ หากไม่แน่ใจควรหลีกเลี่ยง และใช้ยาพาราเซตามอลแทน

วันนี้ (12 เม.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีข่าวปรากฎในสื่อออนไลน์ต่างๆ ในประเด็นเรื่อง มีไข้ ห้ามกินยา ibuprofen จะทำให้ไวรัส COVID-19 ออกฤทธิ์เป็น 10 เท่า ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น มีข้อมูลบิดเบือน

จากกรณีที่มีข้อความปรากฏเตือนว่า “เวลาไม่สบายมีไข้ให้กินยาบรรเทาปวดลดไข้เท่านั้น ห้ามกินยา ibuprofen และ Advil จะทำให้ไวรัส COVID-19 ออกฤทธิ์มากเป็น 10 เท่า” ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ชี้แจงถึงประเด็นนี้ว่ามีข้อมูลบิดเบือน เนื่องจากไม่มีการห้ามกินยา ibuprofen ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ยา ibuprofen มีข้อควรระวังหลายประการ ต้องระวังในการใช้ยา และที่กล่าวว่ากินยา ibuprofen จะทำให้ไวรัส COVID-19 ออกฤทธิ์มากเป็น 10 เท่านั้นไม่เป็นความจริง

โดยข้อเท็จจริง คือ ยาขนานแรกที่ควรใช้ในการลดไข้ แก้ปวด คือ ยาบรรเทาปวดลดไข้ (พาราเซตามอล) ซึ่งประชาชนควรศึกษาขนาดยาที่เหมาะสมก่อนกิน คือไม่เกิน 15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อครั้ง ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ โดยห้ามใช้ยาชนิดเม็ดเกินกว่า 650-1,000 มิลลิกรัมต่อครั้ง และประชาชนยังคงใช้ยา ibuprofen เพื่อลดไข้ แก้ปวด เมื่อมีอาการไข้หรือปวดศีรษะได้อยู่ในขณะนี้ แม้กำลังมีโรค COVID-19 ระบาดอยู่ แต่ต้องกินด้วยความระมัดระวัง เพราะมีข้อควรระวังหลายประการ หากไม่แน่ใจควรหลีกเลี่ยง และใช้พาราเซตามอลแทน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ

ดังนั้นข้อมูลและภาพที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือโทร. 02 5907000


กำลังโหลดความคิดเห็น