ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย แจง จากกรณีที่มีผู้โพสต์ขายหน้ากากอนามัยผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยอ้างว่าเป็นหน้ากากที่ได้รับบริจาคมาจากต่างประเทศนั้น อย.ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง สินค้าที่ขายเป็นคนละรุ่น คนละแบบกับที่ได้รับบริจาค ซึ่งหน้ากากที่ได้รับบริจาคมาขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการกระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ เรียบร้อยแล้ว
เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง หน้ากากอนามัยที่โพสต์ขายทางออนไลน์ ได้รับบริจาค จากต่างประเทศ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากกรณีที่มีผู้โพสต์ขายหน้ากากอนามัยผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยอ้างว่าเป็นหน้ากาก ที่ได้รับบริจาค มาจากต่างประเทศนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง สินค้าที่ขายเป็นคนละรุ่น คนละแบบกับที่ได้รับบริจาค โดยหน้ากากที่รับบริจาคมาจากต่างประเทศ ประกอบด้วย หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (surgical mask) หน้ากาก N95 และชุด cover all gown ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการกระจายไปยังส่วนภูมิภาคโดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่พบมีผู้ป่วยสูงขึ้น รวมทั้งโรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัย ทั้งนี้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่กระจายไปให้สถานที่ต่างๆ เป็นรุ่นที่ได้มาตรฐาน ไม่ใช่เป็นรุ่นที่มีการโพสต์ขายทางออนไลน์แต่อย่างใด
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางด้านสุขภาพ จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือหากสงสัยหรือพบการขายหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ทางสื่อใด ๆ ก็ตาม ที่คาดว่าไม่ได้มาตรฐานหรือกล่าวอ้างต่างๆ โปรดร้องเรียนมายังสายด่วน อย. 1556