แห่แชร์ “วิศวกรหนุ่ม” DIY ทำ Face Shield ต้นทุนแค่ 8 บาท ชูคุณสมบัติ “เบา-ยืดหยุ่น-ไม่เคืองผิว-ราคาถูก” ใช้ได้ทุกอาชีพ-ทุกเพศ-ทุกวัย
จากวิกฤตการณ์การแพร่ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรคโควิด-19 ส่งผลให้หน้ากากอนามัย หรือเวชภัณฑ์ในการป้องกันการได้รับเชื้อไวรัสขาดแคลน กระทบการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงอย่างสูงในการจะได้รับเชื้อไวรัส แม้จะสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือแว่นตา ตลอดเวลาก็ตาม
ในสังคมออนไลน์จึงได้เกิดกระแสประดิษฐ์ทำหน้ากากเฟสชิลด์ (Face Shield) เพื่อบริจาคและสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งใช้เองภายในครัวเรือนเพื่อป้องกันการโอกาสการรับเชื้อจากการฟุ้งกระจายน้ำลายกับผู้ที่ติดต่อได้
ล่าสุด ผู้ใช้เฟสบุ๊กชื่อ “Kittisak Angkhuanphanit” ของ นายกิตติศักดิ์ อังควรพานิช อาชีพวิศวกรอิสระ ได้โพสต์วิธีทำหน้ากากเฟสชิลด์ (Face Shield) ด้วยตัวเองแบบง่ายๆชื่อว่า “M-DIY Face Shield for All mankind” เพื่อสะท้อนว่าเป็นสามารถใช้ได้ทุกอาชีพทุกเพศทุกวัย ด้วยต้นทุนแค่ไม่เกิน 8 บาทต่อชิ้นเท่านั้น โดยใช้วัสดุที่หาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป หรือวัสดุเหลือใช้ที่มีอยู่แล้ว
ซึ่งนายกิตติศักดิ์ได้ระบุาถึงคุณสมบัติไว้ว่า “เบา เหนียว ยืดหยุ่น ดัดงอได้ ตัดเฉือนง่าย ไม่ระคายเคืองผิว มี Texture เทปกาวยึดเกาะดี ราคาถูก หาซื้ออุปกรณ์ได้ทั่วไป”
ทั้งนี้เจ้าของเฟสบุ๊คได้โพสต์ภาพขั้นตอนการประดิษฐ์โดยละเอียด ตั้งแต่การตัดและขึ้นรูปแผ่นใส 1 แผ่น เพื่อประกอบให้มีลักษณะคล้ายกับหมวกพยาบาลป้องกันด้านบนศรีษะ และใช้เทปใสติดยึดกับแผ่นใสอีก 1 แผ่นที่ใช้ป้องกันด้านหน้า ปิดรอยต่อด้วยเทปใสทั้งหมดจากด้านนอก จากนั้นเจาะยึดโครงที่ดัดแปลงจากสายพลาสติดรัดกล่อง ด้วยหมุดตาไก่ (หรืออาจใช้คลิปหนีบกระดาษแทนได้) เพื่อใช้เป็นแกนหมุน ขณะที่ปลายของโครงให้เจาะรูเพื่อใส่ยางรัดผม แล้วใส่เทปกาวสองหน้าแปะยึดโครงกับแผ่นใสตามแบบ โดยขั้นตอนสุดท้ายใช้คลิปหนีบกระดาษดัดปลาย (หรือคลิปดำขนาดเล็กดัดปลาย) เป็นสตอปเปอร์
สำหรับวัสดุที่ใช้ต่อการประดิษฐ์ Face Shield 1 ชิ้น มีเพียง
1.แผ่นใสขนาด A4 จำนวน 2 แผ่น ราคา 5 บาท
2.สายพลาสติกรัดกล่อง 2 เส้น ราคา 1 บาท (ราคาขายตามร้านวัสดุก่อสร้าง 4.5 กิโลกรัม ราคาประมาณ 170 บาท)
3.หมุดตาไก่ หรือคลิปหนีบกระดาษ หรือคลิปดำ
4.เทปกาว 2 หน้า, เทปใส, ยางรัดผม
รวมราคาต้นทุนต่อ 1 ชิ้น ประมาณ 8 บาท
หลังจากที่ นายกิตติศักดิ์ เผยแพร่วิธีการประดิษฐ์หน้ากากเฟสชิลด์ (Face Shield) ด้วยตัวเองออกไป ก็พบว่ามีผู้ให้ความสนใจและแชร์ต่อจำนวนมาก
https://www.facebook.com/1151078584/posts/10221463950605446
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะ แพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาแนะนำวิธีการใช้หน้าเฟสชิลด์ให้ปลอดภัย ต้องใช้ควบคู่กับหน้ากากอนามัยด้วย.