จากกรณีที่มีการโฆษณาบนสื่อออนไลน์ว่า “ขายยาป้องกันและรักษาโรคไวรัสปอดอักเสบ COVID-19” ซึ่งทางกรมอาหารและยาชี้แจงว่า วัตถุประสงค์การใช้มุ่งหมายเป็นยา ตามนิยามในมาตรา 4 ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่อนุญาตให้ขายยาผ่านทางอินเทอร์เน็ต เสี่ยงได้รับยาไม่มีคุณภาพหรือยาปลอม
วันนี้ (26 มี.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง ยาป้องกันและรักษาโรคไวรัสปอดอักเสบ COVID-19 ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ กรมอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากกรณีที่มีการโฆษณาบนสื่อออนไลน์ว่า “ยาป้องกันและรักษาโรคไวรัสปอดอักเสบ COVID-19 สรรพคุณช่วยป้องกันและรักษาโรคไวรัสปอดอักเสบ COVID-19 ผลิตจากสมุนไพรหลายชนิด ปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียงใดๆ” ซึ่งทางกรมอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง วัตถุประสงค์การใช้มุ่งหมายเป็นยา ตามนิยามในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ ยา พ.ศ. 2510 ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา หรืออาจเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่อนุญาตให้ขายยาผ่านทางอินเทอร์เน็ต เสี่ยงได้รับยาไม่มีคุณภาพหรือยาปลอม หรืออาจได้รับผลข้างเคียงจากยาจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ การขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก ไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ทั้งนี้ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดแนวทางการให้การรักษาผู้ป่วยที่ยืนยัน COVID-19 โดยสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.dms.moph.go.th/