ทวิตเตอร์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตอบผู้ใช้ไฟ “เงินประกันค่าไฟฟ้า” ไม่เกี่ยวกับมิเตอร์ ใช้เฉพาะกรณีมีหนี้ค้างชำระเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับมิเตอร์ไฟฟ้า ถ้ามิเตอร์พัง ไม่ได้เป็นความผิดของผู้ใช้ไฟ ไม่ต้องชดใช้ แต่ถ้าเกิดจากผู้ใช้ไฟฟ้าทำมิเตอร์พังเองต้องจ่าย
วันนี้ (25 มี.ค.) จากกรณีที่การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และกิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ เปิดให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า 23 ล้านรายทั่วประเทศ ลงทะเบียนขอคืนเงินประกันค่าไฟฟ้า ตามมาตรการช่วยเหลือผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ของรัฐบาล วงเงินกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท พบว่า มีประชาชนแห่เข้าไปลงทะเบียนจนทำให้เว็บไซต์ล่มเป็นระยะ ขณะเดียวกัน มีประชาชนส่วนหนึ่งเข้าใจว่าเงินประกันค่าไฟฟ้า คือ เงินประกันมิเตอร์ เมื่อขอเงินประกันคืนแล้ว มิเตอร์ไฟฟ้าเสียหาย เราต้องจ่ายเงินเอง
ทำให้ทวิตเตอร์ @pea_thailand ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตอบคำถามยืนยันว่า เงินประกันค่าไฟฟ้า คือ หลักประกันที่ กฟภ. ใช้เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ค่าไฟฟ้า เช่น กรณีมีหนี้ค้างชำระ ค่าเบี้ยปรับ หรือหนี้อื่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ไฟฟ้าเท่านั้น ไม่ใช่เงินประกันมิเตอร์ ไม่เกี่ยวกับกรณีมิเตอร์ชำรุดหรือเสียหาย ซึ่งกรณีดังกล่าว หากเกิดจากผู้ใช้ไฟฟ้าเองจะต้องชดใช้ค่าเสียหาย ค่าบริการ ตามระเบียบเดิมของ กฟภ. เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้เป็นการกระทำของผู้ใช้ไฟฟ้า
เงินประกันค่าไฟฟ้านี้ กฟภ. จะใช้เป็นหลักประกันในการใช้ไฟฟ้า กรณีไม่จ่ายค่าไฟฟ้า หรือค่าเสียหายอื่นๆ ซึ่งไม่มีผลกระทบใดๆ กับทางผู้ใช้ไฟฟ้า ยังสามารถใช้ไฟฟ้าและใช้มิเตอร์ได้ตามปกติ กฟภ. จะเข้าดำเนินการงดจ่ายกระแสไฟฟ้าต่อเมื่อกรณีที่มียอดค้างชำระเท่านั้น โดย กฟภ. จะคืนให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย และประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก ปัจจุบันยังไม่มีช่องทางการรับเงินประกันค่าไฟฟ้าคืน ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถรับได้ผ่านระบบพร้อมเพย์ (ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชน), โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร หรือ เคาน์เตอร์เซอร์วิส ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น
เรียน คุณ @PalmGuin เงินประกันค่าไฟฟ้า คือ หลักประกันที่ กฟภ.ใช้เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ค่าไฟฟ้า เช่น กรณีมีหนี้ค้างชำระ ค่าเบี้ยปรับ หรือหนี้อื่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ไฟฟ้า ไม่เกี่ยวกับกรณีมิเตอร์ชำรุดหรือเสียหาย
— การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (@pea_thailand) March 25, 2020
เรียน คุณ @Rickmaniac40 กรณีมิเตอร์ชำรุดหรือเสียหาย หากเกิดจากผู้ใช้ไฟฟ้าเองจะต้องชดใช้ค่าเสียหาย ค่าบริการ ตามระเบียบเดิมของ กฟภ. เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้เป็นการกระทำของผู้ใช้ไฟฟ้า สำหรับเงินประกันการใช้ไฟฟ้าที่จะคืนให้คือเงินที่ กฟภ. ใช้เป็นหลักประกันในการชำระค่าไฟฟ้า
— การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (@pea_thailand) March 25, 2020
เรียน คุณ @ALaphosin กฟภ. จะคืนให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย และประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก รบกวนท่านตรวจสอบความถูกต้องของหมายเลขผู้ใช้ไฟฟ้าที่ทำรายการอีกครั้ง ว่าเป็นไปตามเงื่อนไขหรือไม่
— การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (@pea_thailand) March 25, 2020
เรียน คุณ @offneewha ปัจจุบันยังไม่มีช่องทางการรับคืนเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ท่านสามารถรับได้ผ่านระบบพร้อมเพย์ (ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชน) , โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร หรือเคาน์เตอร์เซอร์วิส ร้านเซเว่นอิเลฟเว่น
— การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (@pea_thailand) March 25, 2020
เรียน ท่านผู้ใช้ไฟฟ้า เงินประกันการใช้ตัวนี้ กฟภ. จะเป็นหลักประกันในการใช้ไฟฟ้า กรณีไม่จ่ายค่าไฟฟ้า หรือค่าเสียหายอื่นๆ ซึ่งไม่มีผลกระทบใดๆกับทางผู้ใช้ไฟฟ้า ท่านยังสามารถใช้ไฟฟ้าและใช้มิเตอร์ได้ตามปกติ กฟภ. จะเข้าดำเนินการงดจ่ายกระแสไฟฟ้าต่อเมื่อกรณีที่ท่านมียอดค้างชำระเท่านั้น
— การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (@pea_thailand) March 25, 2020