xs
xsm
sm
md
lg

ลาก่อนอิเซตัน สำรวจห้างญี่ปุ่นในไทย ถึงม้วนเสื่อแต่ยังไปต่ออีก 5 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำรวจห้างสัญชาติญี่ปุ่นในไทย เปิดมาแล้ว 8 ราย ม้วนเสื่อไป 2 ก่อนที่ “อิเซตัน” จะโบกมือลาเซ็นทรัลเวิลด์ ยังมีอีก 5 รายที่ขอไปต่อในยุคนี้

... รายงานพิเศษ โดยทีมข่าวโซเชียลมีเดีย MGR Online ...

กลายเป็นที่พูดถึงบรรดานักช้อปสายญี่ปุ่น เมื่อห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ออกหนังสือถึงผู้มีอุปการคุณ ระบุว่า ทางห้างฯ ตัดสินใจยุติการดำเนินธุรกิจห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 อันเนื่องจากการสิ้นสุดลงของสัญญาเช่ากับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)

ปิดตำนานห้างสรรพสินค้าสัญชาติญี่ปุ่นในไทยอีกราย หลังเปิดกิจการมานานกว่า 28 ปี

โดยบัตรกำนัล (Gift Voucher) จะจัดจำหน่ายถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 และสามารถใช้ชำระค่าสินค้าได้ตามปกติ จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ส่วนคะแนนสะสมของสมาชิกบัตร IPC จะได้รับคะแนนสะสมจากการซื้อสินค้าตามเงื่อนไขปกติ ถึงวันที่ 8 เมษายน 2563 และสามารถใชัคะแนนสะสม (Redeem) จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563

หากบัตรกำนัลและคะแนนสะสมไม่ได้ใช้ภายใน 31 สิงหาคม 2563 ทางห้างฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการแลกเปลี่ยน หรือทอนเป็นเงินสดในทุกกรณี

ก่อนจะอำลาลูกค้าชาวไทย อิเซตันออกโปรโมชัน “Guest Card” สำหรับคนไทยที่จะบินไปช้อปที่ญี่ปุ่น โดยสมัครได้ทางออนไลน์ หรือที่แผนกบริการลูกค้า ชั้น 6 เพื่อนำไปเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าในเครือ “อิเซตัน มิตซูโคชิ” (ISETAN MITSUKOSHI) ประเทศญี่ปุ่น 5% สำหรับสินค้าที่ร่วมรายการ


ข้อมูลในปี 2562 เครืออิเซตัน มิตซูโคชิ มีห้างสรรพสินค้ารวม 22 แห่งในญี่ปุ่น ได้แก่ มิตซูโคชิ (Mitsukoshi) 12 สาขา, อิเซตัน (Isetan) 6 สาขา, มารุอิ อิไม (Marui Imai) 2 สาขา และ อิวาตายะ (Iwataya) 2 สาขา ไม่นับรวมค้าปลีกขนาดกลางและขนาดเล็กเล็กอีก 130 แห่ง

ส่วนต่างประเทศมีห้างอิเซตัน มิตซูโคชิ 19 แห่ง แบ่งออกเป็นประเทศจีน 5 สาขา สิงคโปร์ 5 สาขา มาเลเซีย 4 สาขา และไทย 1 สาขา ส่วนห้างชินโค มิตซูโคชิ มี 15 แห่ง ในประเทศอิตาลี สหรัฐอเมริกา จีน และ ไต้หวัน

ห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ประเทศไทย เปิดให้บริการเมื่อปี 2535 ในศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ สี่แยกราชประสงค์ ท่ามกลางความล่าช้าของโครงการที่กลุ่มวังเพ็ชรบูรณ์ ของตระกูลเตชะไพบูลย์ ซึ่งเช่าที่ดิน 65 ไร่ จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไม่สามารถก่อสร้างโรงแรมและอาคารสำนักงานให้แล้วเสร็จตามกำหนด

สุดท้าย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงยกเลิกสัญญาและเปิดประมูลใหม่ ปัจจุบันเจ้าของคือ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ในกลุ่มเซ็นทรัล และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ก็กลายเป็นผู้เช่าพื้นที่ระยะยาว (เซ้ง) ของซีพีเอ็นอีกที


ท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรง เฉพาะกลุ่มเซ็นทรัล ที่มีห้างเซ็นทรัล ชิดลม และ เซน, กลุ่มเดอะมอลล์ มีห้างพารากอน ดีพาร์ทเมนท์ สโตร์ ในศูนย์การค้าสยามพารากอน และศูนย์การค้ากลุ่ม “เอ็ม ดิสทริค” ทั้งดิ เอ็มโพเรียม และ ดิ เอ็มควอเทียร์ ไม่นับรวมกระแสเกาหลีที่มาแรงในไทย

ถึงกระนั้น อิเซตัน ยังคงเน้นลูกค้าที่เป็นคอญี่ปุ่น และตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ตัวห้างมีทั้งหมด 6 ชั้น พื้นที่รวม 27,000 ตารางเมตร จำหน่ายสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนไทย รองลงมาคือ ญี่ปุ่นและชาติอื่นๆ

อิเซตันปรับปรุงห้างครั้งล่าสุดเมื่อปี 2558 โดยเพิ่มพื้นที่ฟู้ดฟลอร์บริเวณชั้น 5 ภายใต้ชื่อ “วะโชกุ แกลเลอรี่” โซนอาหารนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะแบรนด์ที่ส่งตรงมาถึงไทยและจำหน่ายที่อิเซตันที่เดียว โดยปัจจุบันมีลูกค้ามาใช้บริการประมาณ 1 ล้านคนต่อปี แต่ก็ยังไม่มีแผนที่จะขยายสาขาไปยังทำเลอื่น

ที่ผ่านมา อิเซตันเหมาจ่ายค่าเช่าพื้นที่ระยะยาวตั้งแต่สมัยเป็นเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ โดยที่ซีพีเอ็นไม่มีการรับรู้รายได้ เมื่อสัญญาจะหมดลงในปี 2563 ซีพีเอ็นต้องการขอพื้นที่คืน 50% จากอิเซตันเพื่อนำมาพัฒนาเอง แต่สุดท้ายอิเซตันตัดสินใจไม่ต่อสัญญาเช่า และยุติการดำเนินธุรกิจในไทย


ในประเทศไทย มีห้างสรรพสินค้าสัญชาติญี่ปุ่นครั้งแรกในปี 2507 ในชื่อ ห้างไทยไดมารุ สาขาแรกที่สี่แยกราชประสงค์ เปิดให้บริการ 10 ธันวาคม 2527 มีบันไดเลื่อนแห่งแรกในไทย ก่อนจะย้ายไปที่ศูนย์การค้าราชดำริ อาเขต (บิ๊กซี ราชดำริ) แต่หมดสัญญาในปี 2537 ย้ายไปที่ศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์ ปิดกิจการในปี 2543

จากนั้นในปี 2527 ก็เริ่มมีห้างสรรพสินค้าสัญชาติญี่ปุ่นเปิดให้บริการตามมา ทั้ง ห้างโซโก้ สาขาแรกที่อมรินทร์พลาซา, ห้างจัสโก้ สาขาแรกที่รัชดาภิเษก, ปี 2528 มี ห้างโตคิว สาขาแรกที่มาบุญครองเซ็นเตอร์, ปี 2534 มี ห้างเยาฮัน สาขาแรกที่ฟอร์จูนทาวน์ โดยอิเซตันเข้ามาเป็นแบรนด์ที่ 6 ในปี 2535

ที่ผ่านมา ห้างสัญชาติญี่ปุ่นต่างล้มลุกคลุกคลาน นับตั้งแต่การรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นในปี 2516 กระทั่งหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ไทยไดมารุ และ เยาฮัน ม้วนเสื่อกลับบ้าน ส่วนจัสโก้ของกลุ่มอิออน หลังเจ็บตัวกับธุรกิจห้างสรรพสินค้า ก็ปรับตัวทำธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตในชื่อ แม็กซ์แวลู เปิดสาขาต้นแบบที่ถนนนวมินทร์ในปี 2550

อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 มีห้างสัญชาติญี่ปุ่นเปิดเพิ่ม ได้แก่ ห้างสยาม ทาคาชิมายะ สาขาแรกที่ศูนย์การค้าไอคอนสยาม และในปี 2562 มี ห้างดองกี้ มอลล์ สาขาแรกที่ย่านเอกมัย ร่วมทุนกับกลุ่มสีทีโอเอ โดยเตรียมเปิดสาขาที่ 2 ที่ศูนย์การค้าเดอะ มาร์เก็ต แบงคอก ถนนราชดำริ ของกลุ่มแพลทินัมอีกด้วย

การม้วนเสื่อกลับบ้านของห้างอิเซตัน นับเป็นรายที่ 3 ต่อจากไทยไดมารุ และ เยาฮัน แต่ยังมีห้างสัญชาติญี่ปุ่นเหลืออีก 5 แบรนด์ ที่ยังคงตอบสนองไลฟ์สไตล์ญี่ปุ่นแก่ลูกค้าชาวไทย ขณะที่ผลจากการแข่งขันของสายการบินโลว์คอสต์แอร์ไลน์ และทางการญี่ปุ่นฟรีวีซ่าชาวไทย ก็ทำให้คนไทยส่วนหนึ่งได้มีโอกาสชอปปิ้งไกลถึงญี่ปุ่นอีกด้วย

รายชื่อห้างสรรพสินค้าสัญชาติญี่ปุ่น

2507-2543 ไทยไดมารุ สาขาแรก ราชประสงค์ เปิด 10 ธันวาคม 2507 (ปิดกิจการปี 2543)
2527 โซโก้ สาขาแรก อมรินทร์พลาซ่า เปิด 1 ธันวาคม 2527
2527 จัสโก้ สาขาแรก รัชดาภิเษก เปิดเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2527 (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น แม็กซ์แวลู)
2528 โตคิว สาขาแรก มาบุญครองเซ็นเตอร์ เปิดกลางปี 2528
2534 เยาฮัน สาขาแรก ฟอร์จูนทาวน์ (ปิดกิจการปี 2540)
2535 อิเซตัน สาขาแรก เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (ปิดกิจการ 31 สิงหาคม 2563)
2561 สยาม ทาคาชิมายะ สาขาแรก ไอคอนสยาม เปิด 9 พฤศจิกายน 2561
2562 ดองกี้มอลล์ สาขาแรก เอกมัย เปิด 22 กุมภาพันธ์ 2562
กำลังโหลดความคิดเห็น