xs
xsm
sm
md
lg

นายกสมาคมวิน จยย.รวมตัวหน้าเขตคลองเตย รอคำชี้แจงที่ประชุม 4 ฝ่าย กม. ไม่ระบุยึดเสื้อวิน จยย.ที่ต่อยแกร็บไบค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เลขาฯ นายกสมาคมผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง ขอผู้บริหารแกร็บหาทางออกร่วมกัน พร้อมเสนอรัฐบาลควรแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ส่วนจะยึดเสื้อวินนั้นถามกลับผิดกฎหมายข้อไหน ลั่นจะยึดเสื้อวินได้ต่อเมื่อวินจักรยานยนต์ขึ้นไปขับขี่บนทางเท้า-พบความผิดซ้ำซากถึงจะยึดเสื้อวินได้ ในขณะที่แกร็บไบค์ตอนนี้ก็ยังไม่ถูกกฎหมาย ทำไมไม่มีความผิด

วันนี้ (3 มี.ค.) กรณีวินจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ 3 คนรุมทำร้ายร่างกายแกร็บไบค์ที่บริเวณสุขุมวิท 48 แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กทม. เหตุเกิดเมื่อวานนี้ (2 มี.ค.) โดยผู้โดยสารของแกร็บไบค์บันทึกภาพเหตุการณ์แล้วนำมาเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์

กรุงเทพมหานครได้เชิญคณะอนุกรรมการ 4 ฝ่ายประจำพื้นที่เขตคลองเตย ประกอบด้วย สำนักงานเขตคลองเตย กรมการขนส่งทางบก สถานีตำรวจนครบาลคลองตัน และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน กรุงเทพมหานคร หรือ กอร.มน.กทม. มาประชุมร่วมกัน เพื่อดำเนินการสอบสวนและพิจารณาบทลงโทษผู้ก่อเหตุทั้ง 3 คน และการหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหาเหตุทะเลาะวิวาท ระหว่างผู้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ กับผู้ประกอบอาชีพแกร็บไบค์

ล่าสุดที่สำนักงานเขตคลองเคย กทม. ตัวแทนจากคณะอนุกรรมการ 4 ฝ่าย ประกอบด้วย สำนักงานเขตคลองเตย, กรมการขนส่งทางบก, สถานีตำรวจนครบาลคลองตัน และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร ร่วมกันประชุมเพื่อดำเนินการสอบสวนและพิจารณาการลงโทษต่อผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะสมาชิกวินซอยสุขุมวิท 48 เขตคลองเตย จำนวน 3 ราย ที่ลงมือทำร้ายร่างกาย ผู้ให้บริการรับ-ส่ง ผู้โดยสารเอกชน (Grab) ในพื้นที่เขตคลองเตย จากกรณีที่มีคลิปปรากฏออกมาตามสื่อโซเชียลต่างๆ ก่อนหน้านี้

นายสันติ ปฏิภาณรัตน์ เลขานายกสมาคมผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยตัวแทนกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างวิน กว่า 20 คน ได้มารวมตัวกันที่บริเวณหน้าสำนักงานเขตคลองเคย เพื่อมาติดตามผลการ สอบสวนและพิจารณลงโทษวินจักรยานยนต์ที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาททั้ง 3 ราย

เลขานายกสมาคมฯ ผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง เปิดเผยว่า ความผิดครั้งนี้ของวินจักรยานยนต์ไม่เข้าข่ายโทษของการยึดเสื้อวิน เพราะในประกาศคณะกรรมการกรุงเทพ เรื่องกำหนดสถานที่ตั้งวิน และหลักเกณฑ์การออกหนังสือรับรองการใช้จักรยานยนต์สาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2563 ระบุเพียงว่า หากวินจักรยานยนต์ขึ้นไปขับขี่บนทางเท้ามากกว่า 2 ครั้ง ใน 1 ปี และพบเป็นความผิดซ้ำซาก รวมทั้งหากเป็นการกระทำผิดต่อผู้บริโภค จึงจะสามารถยึดเสื้อวินได้ แต่กรณีนี้อยากทราบเหตุผลว่าทำไมถึงจะมีการลงโทษยึดเสื้อวิน ขณะที่ Grab bike ซึ่งเป็นคู่กรณีตอนนี้มาให้บริการรับส่งผู้โดยสารก็ยังไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำไมจึงไม่มีความผิด แต่หากเมื่อใดที่ Grab bike ถูกกฎหมายและอยู่ภายใต้ข้อระเบียบบังคับเดียวกัน ทางวิน จยย.ก็พร้อมที่จะแข่งขันให้บริการลูกค้าอย่างเท่าเทียม แน่นอน ดังนั้น วันนี้จึงอยากฟังเหตุผลและข้อสรุปจากที่ประชุมอย่างชัดเจนว่าจะลงโทษอย่างไร




กำลังโหลดความคิดเห็น