xs
xsm
sm
md
lg

๒ สถิติโลกที่ถูกสร้างขึ้นในวันมหามงคล ครองราชย์ครบ ๖๐ ปี! คนกล้ากว่า ๓๐ ชาติมาร่วม!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค



เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ เนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี กองทัพอากาศได้ร่วมกับ The World Team ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นศูนย์รวมของนักกระโดดร่มทั่วโลก จัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติคุณ ในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก นับเป็นการร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ของนักกระโดดร่มนานาชาติ มีผู้เข้าร่วมถึง ๓๐ ประเทศ ทั้งจากยุโรป อเมริกา และเอเซีย เนื่องจากทรงเป็นกษัตริย์ที่ได้รับการยกย่องจากผู้คนทั่วโลก รายการในวันนั้นได้สร้างสถิติใหม่ให้โลกถึง ๒ รายการ คือ การกระโดดร่มเกาะหมู่ใหญ่ที่สุดในโลก ๔๐๐ คน จากสถิติเก่า ๓๕๗ คน กับ การกระโดดร่มจำนวนมากที่สุดในโลกถึง ๙๖๐ คน

รายการแรก การกระโดดร่มเกาะหมู่ใหญ่ที่สุดในโลก The World Largest Freefall Formation ที่ใช้นักกระโดดร่ม ๔๐๐ คน มีคนไทย ๕ คน เป็นนักกระโดดร่มของกองทัพอากาศ อีก ๓๙๕ คนเป็นชาวต่างประเทศ จากสถิติเดิมที่ The World Team ทำไว้ในการกระโดดร่มเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๗๒ พรรษาเมื่อปี ๒๕๔๗ จำนวน ๓๕๗ คน จัดขึ้นในวันที่ ๓๐ มกราคม- ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ที่สนามบินกองบิน ๒๓ กองพลบินที่ ๒ กองบัญชาการยุทธทางอากาศ จังหวัดอุดรธานี

ส่วนรายการกระโดดร่มมากที่สุดในโลก World Largest Mass Jump มีนักกระโดดร่มทั้งหมด ๙๖๐ คน มีนักกระโดดร่มไทย ๕๑๐ คน มาจากกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งพลเรือน เป็นชาวต่างประเทศ ๔๕๐ คน จากเดิมที่ทำไว้เมื่อปี ๒๔๔๗ จำนวน ๖๗๒ คน จัดขึ้นในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

สิ่งที่ท้าทายในการกระโดดร่มครั้งนี้ ก็คือการเกาะหมู่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเฉพาะเกาะกันเป็นรูป กงจักรสีธงชาติไทย อันเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดินแห่งปวงชนชาวไทย

เนื่องจากมีนักกระโดดร่มถึง ๔๐๐ คน จึงต้องใช้เครื่องบินจำนวน ๕ ลำ บินไปพร้อมๆกัน ก่อนที่จะส่งสัญญาณให้นักกระโดดร่มกระโดดลงมาในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน เพื่อที่จะเกาะหมู่ให้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ละทีมจะต้องรู้ว่าตัวจะอยู่ในตำแหน่งใดของกงจักร เหมือนจิ๊กซอว์แต่ละชิ้น ซึ่งตามกติกาสากลระบุว่านักกระโดดร่มต้องสามารถเกาะกันเป็นรูปที่สมบูรณ์ได้นานอย่างน้อย ๔ วินาที จึงจะถือว่าผ่าน

เนื่องจากการกระโดดร่มเกาะหมู่ใหญ่ครั้งนี้จะกระโดดในระดับความสูงถึง ๒๓,๐๐๐ ฟุต ซึ่งถือว่าค่อนข้างเสี่ยงเพราะเป็นระดับที่ออกซิเจนเจือจางมาก ฉะนั้นก่อนกระโดดจึงต้องให้นักกระโดดร่มทุกคนสูดออกซิเจนจากถังออกซิเจนในเครื่องบินก่อน

เครื่องบินทั้ง ๕ ลำบินขึ้นพร้อมกันเป็นรูปฝ่ามือ แยกจากกันเป็น ๕ นิ้ว เมื่อถึงกำหนด นักกระโดดร่มจะปล่อยสายออกซิเยนที่กำลังสูด จากนั้นแต่ละคนจะกระโดดออกจากเครื่องบินแล้วพยายามพยุงตัวให้ลอยอยู่ในอากาศ แหวกว่ายเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่ต้องการ เมื่อถึงตำแหน่งที่กำหนดก็เข้าเกาะกับนักกระโดดร่มคนอื่น จนเกิดเป็นรูปตามเป้าหมาย เมื่อครบเวลาที่กำหนด ทุกคนก็แยกตัวออกจากกัน เพื่อกางร่มในระดับความสูงที่ ๗,๕๐๐ ถ้ากระตุกร่มช้ากว่านั้นอาจหล่นลงมากระแทกพื้นได้

นี่คือเหตุการณ์ในวันสำคัญ ซึ่งประวัติการกระโดดร่มนานาชาติได้บันทึกไว้ เพื่อเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก เพื่อประเทศชาติและประชาชนของพระองค์




กำลังโหลดความคิดเห็น