นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง คิดค้นอุปกรณ์พกพาสำหรับตรวจจับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ที่ได้ผลรวดเร็ว ลดระยะเวลาของขั้นตอนทั้งหมด เหลือเพียง 40 นาที
วันนี้ (7 ก.พ.) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ได้คิดค้นอุปกรณ์พกพาสำหรับตรวจจับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ที่ได้ผลรวดเร็ว ซึ่งช่วยลดระยะเวลาของขั้นตอนทั้งหมด ตั้งแต่การสุ่มตัวอย่างไปจนถึงการทดสอบให้เหลือเพียง 40 นาทีเท่านั้น
รายงานข่าวจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง ระบุเมื่อวันที่ 6 ก.พ. ว่าอุปกรณ์จะทำให้ตัวอย่างทดสอบร้อนขึ้น 30 องศาเซสเซียสต่อวินาที ด้วยเทคโนโลยีไมโครฟลูอิดิก (Microfluidic) บนชิปแบบใหม่ล่าสุดซึ่งจะร้อนเร็วขึ้นมากกว่าอุปกรณ์ทดสอบในปัจจุบันที่ทำความร้อน 4-5 องศาเซสเซียสต่อวินาที
นักวิจัยชี้ว่า ความเร็วของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเป็นกุญแจสำคัญที่กำหนดประสิทธิภาพของการตรวจจับ ยิ่งอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเร็วเท่าไหร่ อุปกรณ์ก็จะได้ผลทดสอบในระยะเวลาสั้นลงเท่านั้น
สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าว คิดค้นโดยทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง ซึ่งนำโดยศาสตราจารย์เวิน เหวยเจีย และบริษัทสตาร์ทอัพ ด้านเทคโนโลยีภาพในเซินเจิ้น ซึ่งศาสตราจารย์เวิน และเกาอี้โป๋ นักศึกษาปริญญาเอกของเขาร่วมกันก่อตั้ง
นักวิจัยคิดค้นชุดทดสอบนี้ภายใน 1 สัปดาห์ หลังจากได้รับลำดับทางพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในวันที่ 20 ม.ค. ซึ่งปัจจุบัน ชุดอุปกรณ์นี้ได้ถูกใช้งานโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคในเมืองเซินเจิ้นและกว่างโจว มณฑลกว่างตง ทางตอนใต้ของจีน และอีก 2 ชุดกำลังถูกส่งไปยังศูนย์กลางมณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน อนึ่งสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวได้รับการรับรองมาตรฐาน CE ตามกฎหมายและระเบียบของสหภาพยุโรป