เพจดังออกโรงเตือนอีกครั้ง หลังพบ "ยาหมอทหาร" สมุนไพรสรรพคุณครอบจักรวาล อ้างเลข อย.ตะวัน รสลาบแซ่บ เผยรักษาได้ทุกโรค แพทย์เตือนห้ามซื้อรับประทานเด็ดขาด ชี้ยาสเตียรอยด์จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
วันนี้ (5 ก.พ.) เพจ "หมอแล็บแพนด้า" หรือ ผู้ชำนาญการนักเทคนิคการแพทย์ ภาคภูมิ เดชหัสดิน ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความโดยกล่าวถึงยาที่มาชื่อว่า "ยาหมอทหาร" ที่มีการอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น รักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เหน็บชา เส้นตึง กระดูกสับเส้น ปวดขา ปวดข้อ กระดูกเสื่อม ไขข้ออักเสบ โรคเก๊าต์ รูมาตอย ให้รับประทานยา ครั้งละ 2 เม็ด หลังอาหาร เช้า - เย็น ราคาซองละ 150 บาท ล่าสุดหมอแล็บแพนด้าได้นำ อย. ของยาหมอทหารไปตรวจสอบ แต่กลับกลายเป็นเลข อย. ของขนมข้าวเกรียบ รสลาบแซ่บ เครื่องหมายทางการค้า ตะวัน โดยมีข้อความระบุว่า "เอาเลข อย.ของ”ยาหมอทหาร”ไปตรวจสอบกลายเป็นเลข อย.ของข้าวเกรียบตะวัน รสลาบแซ่บ ใครกินยานี้อยู่ นัวเลยมั้ยล่ะ"
ทั้งนี้ เมื่อปี 2561 ได้เกิดเหตุการณ์ที่ผู้บริโภคได้ร้องเรียนผานเพจดังถึงกรณีนี้มาก่อน ซึ่งขณะนั้น "นายแพทย์ สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เปิดเผยถึงกรณีพบยาชื่อ “หมอทหาร” วางขายตามต่างจังหวัดแถบภาคอีสาน มีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง โดยกล่าวย้ำว่า อย.มีความห่วงใยผู้บริโภค โดยเฉพาะวัยผู้สูงอายุขอให้ระมัดระวังเป็นพิเศษอย่าหลงเชื่อซื้อยาดังกล่าวมารับประทานโดยเด็ดขาด เนื่องจากยาที่โฆษณาอวดสรรพคุณรักษาได้สารพัดโรค มักมีการลักลอบใส่สารสเตียรอยด์ เพื่อให้ผู้ใช้เห็นผลได้ทันใจ ซึ่งยาสเตียรอยด์จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เพราะเป็นยาที่มีผลข้างเคียงสูง หากรับประทานเข้าไปในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดการติดเชื้อโรคได้ง่าย เยื่อบุกระเพาะอักเสบ อาจถึงขั้นกระเพาะทะลุ กระดูกผุ ภูมิคุ้มกันลดลง ไตวาย บางรายอาจเสียชีวิตได้
"ขอเตือนผู้บริโภคอย่าซื้อยาจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ ขอให้ซื้อยาจากร้านยาคุณภาพและร้านที่มีใบอนุญาตขายยาเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และควรซื้อยาแผนโบราณที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยสังเกตฉลากต้องมีเลขทะเบียนตำรับยาบนฉลาก เพื่อให้ได้รับยาที่มีคุณภาพและปลอดภัย” รองเลขาธิการ อย. กล่าว
อย่างไรก็ตาม วิธีตรวจสอบเลขจดทะเบียน อย. หรือ “สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา” เริ่มแรกอ่านฉลากของผลิตภัณฑ์ก่อน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา เครื่องสำอางต้องระบุสถานที่ผลิต วันที่ผลิต วันหมดอายุที่ชัดเจน ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศก็ต้องมีฉลากไทยพร้อมเลขกำกับทุกชิ้น และมีสัญลักษณ์ที่แสดงว่าผ่านการอนุญาตหรือจดแจ้งกับ อย. แล้ว ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 แบบ ดังนี้
1. สัญลักษณ์สารบบอาหาร สัญลักษณ์ อย. ที่เราเห็นกันบ่อยๆ แบบนี้จะมีในผลิตภัณฑ์อาหารรวมไปถึงผลิตภัณฑ์อาหารเสริม จะต้องมีตัวเลข 13 หลัก
2. สัญลักษณ์ทะเบียนยา พบในผลิตภัณฑ์ยา ทั้งยาแผนปัจจุบัน ยาแผนไทย หรือยาแผนโบราณ จะมีเลขทะเบียนตำรับยาแสดงบนฉลากเสมอ โดยจะมีลักษณะเป็น “ทะเบียนยาเลขที่ G XXX/XX” ถ้าเห็นเป็นเลขที่จดแจ้งหรือ อย. อาหาร ถือว่าร้านนั้นมั่วข้อมูลแล้วนะ เพราะยาจะต้องเป็นเลขทะเบียนยาเท่านั้นค่า G คือ ตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวใหญ่บอกประเภทยา ถ้าเป็นยาแผนปัจจุบัน จะเป็นตัวอักษร A, B, C, D, E และ F ตัวใดตัวหนึ่ง ส่วนถ้าเป็นยาแผนโบราณจะเป็นตัวอักษร G, H, K, L, M และ N ตัวใดตัวหนึ่ง - XXX คือ ลำดับการอนุญาต - XX คือ ปี พ.ศ. ที่จดทะเบียน
3. สัญลักษณ์เลขที่ใบรับแจ้ง พบในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง มีตัวเลข 10 หลัก หรือ 13 หลัก ลักษณะตัวเลขจะเป็นแบบนี้ค่ะ 10-X-XXXXXXX