xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.ธรณ์” โพสต์สรุปความร่วมมือของคนไทยในการกู้วิกฤตด้านธรรมชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” โพสต์ข้อความชื่นชมความร่วมมือและการตื่นตัวในการแก้วิกฤตด้านธรรมชาติ-สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการรณรงค์เรื่องขยะพลาสติก จนสถานการณ์ดีขึ้นทำให้แม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่มากถึง 7 รัง

จากกรณี แม่เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่รังที่ 7 ของฤดูกาลแล้ว ระบุเป็นตัวที่ 2 ของภูเก็ต คราวนี้ขึ้นหาดทรายแก้ว ด้านหลังศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติ ที่ 6 ในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ หลังเจ้าหน้าที่พยายามค้นหาต่อเนื่อง ตั้งแต่พบรอยแม่เต่าขึ้นมา ซึ่งหลังจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตาม

ต่อมา เมื่อวันที่ 20 ม.ค. “ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความ ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thon Thamrongnawasawat” กล่าวถึงเหตุการณ์แม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่มากถึง 7 รัง ในครั้งนี้ว่า

“ผมขอสรุปข้อมูลให้เพื่อนธรณ์เข้าใจเต่าและรักเต่า อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างการกู้วิกฤตด้านธรรมชาติ/สิ่งแวดล้อม จนเริ่มมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นครับ เต่ามะเฟืองกินแมงกะพรุนเป็นอาหารหลัก เธอจึงเป็นผู้ควบคุมปริมาณแมงกะพรุนตามธรรมชาติ เมื่อมีเต่าน้อยลง แมงกะพรุนย่อมเพิ่มขึ้น ปัญหาหลักที่ทำให้เต่าลดลง ได้แก่ 1. ขยะทะเล โดยเฉพาะถุงพลาสติก เพราะเต่ามะเฟืองแยกไม่ออกว่าเป็นแมงกะพรุนหรือเป็นถุง เนื่องจากขยะลอยไปทั่วมหาสมุทร จึงเป็นภัยคุกคามตลอดช่วงชีวิต 2. การประมงชสยฝั่ง 3. การสัญจรทางน้ำ 4. การเปลี่ยนสภาพชายหาด ทำให้พื้นที่วางไข่ลดน้อยลง 5. การขโมยไข่เต่า

ปริมาณเต่ามะเฟืองวางไข่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนมีการวางไข่ครั้งสุดท้ายที่ภูเก็ตในปี 2556 ถือเป็นวิกฤตอย่างแท้จริง เริ่มมีความเข้าใจว่าลำพังเพียงภาครัฐ ไม่สามารถดูแลได้ จึงมีการเร่งแก้ไขโดยเน้นความร่วมมือ และขยายผลให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมเต็มที่การดำเนินงานทำต่อเนื่อง แต่ผมขอสรุปรวมกันให้เห็นว่าเราแก้อย่างไรบ้าง

กฎหมาย/กระแสสังคม - ผลักดันให้เต่ามะเฟืองเป็นสัตว์สงวน บทลงโทษรุนแรง อีกทั้งยกระดับความสำคัญ ทำให้คนไทยหันมาสนใจ เป็นข่าวเด่น เกิดการผลักดันในทุกด้าน

ขยะทะเล - มีการรณรงค์ในทุกด้าน มีกิจกรรมเก็บขยะในพื้นที่ ไปจนถึงการไม่แจกถุงก๊อบแก๊บตามห้างร้าน เป็นการแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้น/ยาว ที่จะส่งผลดีต่อเต่ามะเฟือง

การประมงชายฝั่ง/การสัญจรทางน้ำ - มีการออกระเบียบ/ขอความร่วมมือในช่วงเต่าขึ้นวางไข่ อีกทั้งเมื่อมีกระแส ผู้คนในพื้นที่ให้ความสนใจและช่วยกัน

การเปลี่ยนสภาพชายหาด - โชคดีที่เราเห็นความสำคัญของเต่ามะเฟืองมาตั้งแต่ต้น จึงมีการเปิดอุทยานสิรินาถ (ภูเก็ต) และอุทยานท้ายเหมือง (พังงา) ทำให้ยังมีพื้นที่ธรรมชาติเหลืออยู่

การป้องกันขโมยไข่เต่า - เกิดกระแสช่วยดูแล แม้ยังมีการขโมย แต่เกิดการตื่นตัวเป็นอย่างมาก มีการตั้งรางวัลนำจับสูงถึง 150,000 บาท แม้ยังจับไม่ได้ แต่ถือเป็นการป้องปรามในอนาคต

ยังมีกองทุนอนุรักษ์เต่า มอบรางวัลผู้แจ้ง ซึ่งก็ช่วยได้ เห็นได้ว่าการวางไข่บางหนเป็นนอกพื้นที่ แต่ก็มีรายงานและช่วยกันดูแล ทั้งหมดนี้ ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น หลังจากหายไป 5 ปีในฤดูวางไข่ 61-62 มีเต่าวางไข่ 3 รัง ในฤดูนี้ (62-63) วางไข่แล้ว 7 รัง และกระจายไปทั่วพื้นที่ทั้งพังงาและภูเก็ต 7 รังนับถึงตอนนี้ ยังอาจมีอีกนะครับ นับตั้งแต่วันไปเปิดอุทยานสิรินาถตั้งแต่เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน เขียนเรื่องกำเนิดเต่ามะเฟืองเมื่อ 20+ ปีก่อน ลงไปช่วยเปิดกองทุนเต่าที่ไม้ขาวเมื่อ 10+ ปีก่อน ผลักดันสัตว์สงวนเมื่อ 5 ปีก่อน ผมเชื่อมั่นว่า การก้าวไปข้างหน้าแม้จะเป็นทีละก้าวในวันก่อน เป็นรากฐานของทุกอย่างในวันนี้ และการแก้ไขปัญหาด้านธรรมชาติ/สิ่งแวดล้อม จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมองให้รอบ แก้ไขให้ครบทุกด้าน และรวมพลังไปพร้อมกัน ซึ่งนั่น...อาจเป็นเพียงคำพูดสวยหรู แต่นี่...เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อคนไทยหันมาสนใจจริงจัง อะไรก็เกิดได้ จาก 0 รัง 5 ปีรวด กลายเป็น 10 รังต่อเนื่อง 2 ปี ภาพน้องเต่าทะลักออกมาจากรัง เป็นหลักฐานยืนยันดีกว่าคำพูดใด ว่าคนไทยทำได้ครับ”




กำลังโหลดความคิดเห็น