รักษาการผู้ว่าการรถไฟฯ แจงโซเชียลปั่น "ปีสุดท้ายของหัวลำโพง" อ้างสื่อญี่ปุ่น ระบุปี 64 ไม่ได้ย้ายไปสถานีกลางบางซื่อทั้งหมด เฉพาะขบวนที่พร้อม ส่วนหัวลำโพงยังมีขบวนรถแต่น้อยลง พร้อมพัฒนาบางส่วนเป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟ
วันนี้ (19 ม.ค.) จากกรณีที่เว็บไซต์คลิกเบต (Clickbait) หลายแห่งมีการแชร์ภาพสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) จากเฟซบุ๊กเพจแห่งหนึ่ง ระบุว่า "ปีสุดท้ายของหัวลำโพง" ระบุว่า ในปี 2564 สถานีรถไฟหัวลำโพงจะถูกปิดตัวลง เพื่อย้ายไปที่สถานีรถไฟกลางบางซื่อ ทิ้งไว้แค่ภาพความทรงจำให้กับคนไทย และอ้างถึงเว็บไซต์นิเคอิ เอเชียน รีวิว จากประเทศญี่ปุ่น เผยแพร่บทความเกี่ยวกับการยุติการให้บริการของสถานีรถไฟหัวลำโพงนั้น
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า ในต้นปี 2564 สถานีกลางบางซื่อจะเปิดใช้งาน ในช่วงแรกการรถไฟฯ จะยังไม่ย้ายขบวนรถไฟทางไกล และขบวนรถชานเมืองที่ออกจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปสถานีกลางบางซื่อทั้งหมด แต่จะพิจารณาให้ขบวนรถที่มีความพร้อมไปเปิดใช้บริการที่สถานีกลางบางซื่อก่อน
ส่วนสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) จะเปลี่ยนสถานะจากสถานีรถไฟหลัก เนื่องจากจะมีขบวนรถเข้าสู่สถานีกรุงเทพน้อยลง แต่ยังคงเป็นสถานีรถไฟที่ให้บริการประชาชนเหมือนเช่นที่ผ่านมา และพัฒนาพื้นที่บางส่วนเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ของประชาชนด้านประวัติศาสตร์ของการรถไฟฯ ต่อไป
ทั้งนี้ สถานีกลางบางซื่อ จะเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ภายในสถานีจะประกอบไปด้วย ชั้น 1 เป็นพื้นที่สำหรับห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร ชั้นที่ 2 เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟทางไกล และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต)
ส่วนชั้นที่ 3 ประกอบด้วยรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (แอร์พอร์ต เรล ลิงก์) รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเฉียงเหนือ สายเหนือ และสายใต้ โดยจะเป็นศูนย์รวมการเดินทาง จุดเชื่อมต่อทั้งรถไฟ รถไฟใต้ดิน รถขนส่งสาธารณะต่างๆ สามารถแก้ไขปัญหาจราจร พื้นที่โดยรอบก็จะถูกพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ อาทิ ศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน เพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชนอีกด้วย