xs
xsm
sm
md
lg

โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นประธานองคมนตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นประธานองคมนตรี ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2563 เป็นต้นไป

วันนี้(4 ม.ค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ เรื่อง แต่งตั้งประธานองคมนตรี ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า

โดยที่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ได้ขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2562 และทรงพระราชดำริเห็นเป็นการสมควรแต่งตั้งประธานองคมนตรี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 14 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นประธานองคมนตรี

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 2 มกราคม พุทธศักราช 2563 เป็นปีที่ 5 ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
นายชวน หลีกภัย
ประธานรัฐสภา

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (แฟ้มภาพ)
ประวัติ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2486 ในค่ายจักรพงษ์ จังหวัดปราจีนบุรี บิดาคือ พันโท พโยม จุลานนท์ (บุตรของพันเอก พระยาวิเศษสิงหนาถ (ยิ่ง จุลานนท์) ต้นตระกูลจุลานนท์) มารดาคือ นางอัมโภช จุลานนท์ (สกุลเดิม ท่าราบ บุตรของพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ)

พลเอก สุรยุทธ์ จบการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเลขประจำตัว ส.ก.12129 เข้าโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่น 1 และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 12 โดยสำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2508

เมื่อเข้ารับราชการแล้วยังผ่านการอบรมในหลายหลักสูตรคือ
พ.ศ. 2509 หลักสูตรชั้นนายร้อย เหล่าทหารราบ
พ.ศ. 2509 หลักสูตรส่งกำลังทางอากาศจู่โจม
พ.ศ. 2511 หลักสูตรชั้นนายพัน เหล่าทหารราบ สหรัฐอเมริกา
พ.ศ. 2516 หลักสูตรเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 52
พ.ศ. 2517 หลักสูตรเสนาธิการทหารบก สหรัฐอเมริกา
พ.ศ. 2517 หลักสูตรการบริหารทรัพยากร กระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา
พ.ศ. 2536 หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

ประวัติการรับราชการของ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีดังนี้
-เริ่มรับราชการในยศร้อยตรี ประจำศูนย์การทหารราบ พ.ศ. 2508
-ผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 1 กรมผสมที่ 31 พ.ศ. 2509
-ผู้บังคับชุดปฏิบัติการ กองร้อยรพิเศษ กองรบพิเศษ (พลร่ม) ที่2 พ.ศ. 2513
-ครูโรงเรียนสงครามพิเศษ ศูนย์สงครามพิเศษ พ.ศ. 2515
-ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 4 กรมผสมที่ 23 พ.ศ. 2521
-ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 กองพลรบพิเศษที่ 1 พ.ศ. 2526
-นายทหารคนสนิทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) พ.ศ. 2529
-ผู้บัญชาการกองรบพิเศษที่ 1 พ.ศ. 2532
-ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ พ.ศ. 2535
-แม่ทัพภาคที่ 2 พ.ศ. 2537
-ที่ปรึกษาพิเศษ กองทัพบก พ.ศ. 2540
-ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก พ.ศ. 2540
-ผู้บัญชาการทหารบก พ.ศ. 2541 - 2545
-ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พ.ศ. 2545 -2546

หลังจากเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2546 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2546 เมื่อดำรงตำแหน่งองคมนตรีได้สักระยะจึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตลาอุปสมบทเป็นเวลา 1 พรรษา ณ วัดป่าแห่งหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

หลังจากการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 พลเอก สุรยุทธ์ ได้รับแต่งตั้งจาก คปค.ให้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 24 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 และได้ดำรงตำแหน่งไปจนถึงวันที่ 29 มกราคม 2551 เมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้าบริหารประเทศ

จากนั้น พลเอก สุรยุทธ์ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรีครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2551 ต่อมาภายหลังจากที่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ถึงแก้อสัญกรรมเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2562 พลเอก สุรยุทธ์ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรักษาการประธานองคมนตรีตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2562