xs
xsm
sm
md
lg

ชาติไทยมีมหาราชองค์ที่ ๘ แล้ว! มหาบุรุษผู้เกิดสิ่งมหัศจรรย์ขึ้นหลายอย่างในพระชนม์ชีพ!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จบูรพกษัตริย์ ๗ พระองค์ที่อุทยานราชภักดิ์ มีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวร่วมอยู่ด้วย
จากบันทึกประวัติศาสตร์ ชาติไทยมีมหาราช ๗ พระองค์ คือ

๑.พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ราชอาณาจักร ทรงประดิษฐ์อักษรไทย และปกครองอาณาประชาราษฎร์เสมือน “พ่อปกครองลูก”

๒.สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถ ทำให้ประเทศสยามเป็นที่รู้จักของนานาประเทศ ทรงติดต่อเจริญพระราชไมตรีกับชาติตะวันตก และทรงแก้ไขสถานการณ์ด้วยความเฉลียวฉลาด

๓.สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระหากษัตริย์ผู้ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทย และสร้างชาติให้กลับมาสู่ความเข้มแข็งมั่นคงอีกครั้ง หลังจากการเสียกรุงครั้งที่ ๑

๔.สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กษัตริย์ผู้ทรงกอบกู้เอกราชจากความย่อยยับในการเสียกรุงครั้งที่ ๒ สู่ความกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งกว่าเดิมภายในเวลา ๑๕ ปี

๕.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ จนมาเป็นมหานครแห่งหนึ่งของโลกในวันนี้

๖.พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ สมเด็จพระปิยมหาราช ทรงนำประเทศชาติรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจหลายครั้ง จนเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้น ทรงปรับปรุงประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยะประเทศ

๗.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระมหากษัตริย์ที่ทรงห่วงใยอาณาประชาราษฎร์ ทรงสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อความสุขของคนทั้งแผ่นดิน จนเป็นที่ยอมรับชองนานาประเทศว่า เป็นกษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก

แต่คนที่สนใจในประวัติศาสตร์ยังเกิดความคิดกันว่า ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้น่าจะมีกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่สมควรจะได้รับการถวาพระสมัญญามหาราชด้วย เพราะทรงสร้างความเปลี่ยนให้แก่ประเทศชาติในรัชสมัยของพระองค์อย่างพลิกฝ่ามือไปสู่ความอารยะ แต่แล้วคำตอบนี้ก็เกิดขึ้นในวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อาลักษณ์ อ่านประกาศพระบรมราชโองการถวายพระราชสมัญญาแด่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า “พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช”
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่อ่านเขียนและพูดภาษาอังกฤษได้ รวมทั้งภาษาละติน ทรงคุ้นเคยกับชาวตะวันตกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชาวอังกฤษ เมื่อขึ้นครองราชย์ บรรดามิชชันนารีได้นำพระเกียรติคุณเผยแพร่ไปในนานาประเทศ ทำให้นักเรียนในยุโรป อเมริกา และเอเชีย เขียนจดหมายมาทูลถามความรู้เกี่ยวกับประเทศสยาม ซึ่งก็ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบด้วยพระองค์เอง ซึ่งลายพระราชหัตถเลขาประเภทนี้ ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันอีกหลายฉบับ เป็นเอกสารที่มีค่าทางประวัติศาสตร์

ทรงสั่งซื้อหนังสือพิมพ์จากยุโรปมาติดตามข่าวสารของโลก แม้หนังสือพิมพ์เหล่านั้นจะใช้เวลาเดินทางมาถึงเมืองไทยราว ๒ เดือน แต่ก็ทำให้ทรงทราบว่ามีอะไรเกิดขึ้นในโลกภายนอก ที่สำคัญทรงทราบว่ามหันตภัยจากการล่าอาณานิคมกำลังคุกคามเข้ามา ทำให้เตรียมรับสถานการณ์ได้ทันการ ทรงใช้วิธีผ่อนสั้นผ่อนยาว ฉะนั้นในทันทีที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ เรือรบอังกฤษที่มุ่งมาไทยหลังจากขัดแย้งกันเรื่องการทำสนธิสัญญาในปลายรัชกาลที่ ๓ ก็เบนหัวเรือไปพม่า

มีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์หลายอย่าง ทรงเปิดประเทศต้อนรับชาวตะวันตกซึ่งเข้ามาเปิดห้างค้าขายขึ้นในกรุงเทพฯ มีการตัดถนนสายแรกขึ้น และมีการสร้างสะพานให้รถยนต์ข้ามได้เป็นครั้งแรกเช่นกัน ในรัชสมัยของพระองค์จึงจึงเป็นยุคที่เปลี่ยนโฉมหน้าของประทศไปสู่ความเป็นอารยะ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างมา ซึ่งองค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ในวาระครบ ๒๐๐ ปีแห่งวันพระบรมราชสมภพ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๗

เป็นที่น่าสังเกตว่า อุทยานราชภักดิ์ ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งก่อสร้างโดยกองทัพบก และได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ โดยมีพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นประธานที่ปรึกษาโครงการ และเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอุทยานเมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๘ ที่หลายคนคิดว่าเป็นราชานุสาวรีย์ของมหาราชชาติไทยนั้น ก็มีพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวร่วมอยู่ด้วยแล้ว
พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช
นอกจากนี้ยังมีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นหลายอย่างในพระชนม์ชีพของมหาบุรุษพระองค์นี้ สิ่งหนึ่งซึ่งพูดถึงกันมากก็คือทรงคำนวณสุริยุปราคาที่หว้ากอเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๑๑ ไว้ล่วงหน้าถึง ๒ ปีว่าจะเกิดขึ้นในเวลาใด และดูได้ชัดเจนที่สุดตำบลใด ทั้งยังทรงเชิญทูตของประเทศต่างๆไปดูด้วยอย่างมั่นพระทัย นักดาราศาสตร์ยุโรปก็ให้ความสนใจในสุริยุปราคาครั้งนี้มาก ว่าจะได้เห็นนานที่สุดในรอบ ๓๐๐ ปี แต่จะไปตั้งค่ายกันในประเทศต่างๆ ในที่สุดก็มาขอตั้งใกล้ค่ายหลวงที่หว้ากอด้วย

หลังจากเกิดสุริยุปราคาแล้ว เซอร์แฮรี่ ออด ผู้สำเร็จราชการสิงคโปร์ของอังกฤษได้บันทึกไว้ว่า

“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระสำราญมาก เพราะการคำนวณเวลาสุริยุปราคาของพระองค์ได้พิสูจน์แล้วว่า ถูกต้องกว่าที่ชาวยุโรปได้คำนวณไว้”

พระปรีชาสามารถอย่างมหัศจรรย์ของพระองค์ในเรื่องนี้ ทำให้ทรงได้รับการยกย่องเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสัตววิทยาสมาคมแห่งสหราชอาณาจักร และในวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๒๕ รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ประกาศยกย่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และอนุมัติให้วันที่ ๑๘ สิงหาคมของทุกปีเป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ เป็นระยะที่เหล่าประเทศมหาอำนาจตะวันตกล่าอาณานิคมในซีกโลกตะวันออกกันอย่างเมามัน ประเทศไทยก็เป็นเป้าหมายสำคัญของนักล่าอาณานิคมเหล่านั้นด้วย โดยเฉพาะฝรั่งเศสและอังกฤษ แต่เมื่อถึงช่วงเวลาวิกฤติก็เกิดเหตุพลิกผันที่ทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตินั้นไปได้อย่างมหัศจรรย์ ครองความเป็นเอกราชอยู่ได้ตลอดมา ทรงคำนึงว่า น่าจะมีเทพยดาคอยพิทักษ์รักษาประเทศไทยอยู่ก็ได้ จึงทรงสร้างรูปสมมติของเทพยดาองค์นั้นขึ้นเพื่อสักการบูชา โปรดเกล้าฯให้พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ นายช่างเอก เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้า รับราชการในกรมช่างสิบหมู่ ปั้นรูปของเทพยดาองค์นั้นขึ้น มีลักษณะเป็นเทวรูปยืน ทรงเครื่องต้น พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระในท่าประทานพร มีขนาดสูง ๘ นิ้ว หรือ ๒๐ เซนติเมตร หล่อขึ้นด้วยทองคำทั้งองค์ ถวายพระนามว่า “พระสยามเทวาธิราช” อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งทรงธรรมในหมู่พระพุทธมหามณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง

มีความเชื่อกันว่า พระสยามเทวาธิราช ทรงเป็นประมุขของเทพารักษ์ที่ปกปักษ์รักษาบ้านเมือง แม้ทุกวันนี้ เมื่อมีเหตุการณ์วิกฤติของบ้านเมืองเกิดขึ้นและผ่านพ้นไปด้วยดี ผู้คนก็ยังพูดกันว่า เป็นเพราะพระสยามเทวาธิราชทรงคุ้มครองประเทศไทย

ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ถึง ๒๗ ปี ได้เสด็จจาริกธุดงค์ไปทั่ว ครั้งหนึ่งในปี ๒๓๗๖ ได้เสด็จไปยังหัวเมืองมณฑลฝ่ายเหนือ ที่เมืองสุโขทัยทรงพบศิลาจารึก ๒ หลัก คือศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ภาษาไทย และศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร พร้อม
ด้วยพระแท่นศิลาบาตร ที่พ่อขุนรามคำแหงเคยประทับว่าราชการ ทำให้เกิดการศึกษาค้นคว้าศิลาจารึกที่ถูกทอดทิ้งมาเป็นเวลาราว ๖๐๐ ปี ทำให้รู้ความเป็นมาของกรุงสุโขทัยและอักษรไทย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพในวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีชวด ตรงกับวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๓๔๗ ครั้นถึงวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ พ.ศ.๒๔๑๑ ตรงกับวันที่ ๑ ตุลาคม ซึ่งกำลังทรงประชวรอย่างหนักด้วยพิษไข้ป่าจากหว้ากอ ก็เตรียมพระองค์จะเสด็จสวรรคตในวันนี้อย่างมีสติ ยากที่ใครจะทำได้เช่นนี้

ในเวลา ๓ โมงเช้าเศษ รับสั่งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท กรมขุนวรจักรธรานุภาพ กรมขุนบำราบปรปักษ์ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหกลาโหม และเจ้าพระยาภูธราภัย เข้าเฝ้า ทรงตรัสว่า

“วันนี้เป็นวันพระจันทร์เต็มดวง นักปราชญ์ทั้งหลายก็ถึงความดับเป็นอันมากในวันเพ็ญดังนี้ ควรพระชนมายุจะจะหมดจะดับในวันนี้เป็นแน่แล้ว ซึ่งขัดเคืองว่ากล่าวแก่ท่านทั้งหลายทั้งปวงมาแล้วแต่ก่อนนั้น ขออโหสิกรรมกันเสียเถิด อย่าให้เป็นเวรกันต่อไปเลย ขอฝากแต่พระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอด้วย...”

ทรงหันพระพักตร์ไปตรัสกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่า

“ข้าเป็นคนลูกมากรากดก แล้วลูกก็ยังเล็กเด็กอยู่ ไหนๆคุณศรีสุริยวงศ์อุปถัมภ์บำรุงข้ามา ถ้าข้าไม่มีตัวตนแล้ว ขอให้คุณศรีสุริยวงศ์อุปถัมภ์บำรุงลูกข้าเหมือนอย่างตัวข้า ขออย่าให้มีภัยอันตรายเป็นที่กีดขวางด้วยการแผ่นดิน ถ้าจะมีความผิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นข้อใหญ่ ขอแต่ชีวิตไว้ให้เป็นแต่โทษเนรเทศ...


บรรดาทุกท่านที่เข้าเฝ้าต่างสะท้านสะเทือนใจ บางท่านถึงกับสะอื้นไห้ต่อหน้าพระที่นั่ง เมื่อทอดพระเนตรเห็นก็ทรงรับสั่งว่า

“อย่าร้องไห้ ความตายไม่เป็นอัศจรรย์อะไรนัก เป็นของธรรมดา เกิดมาแล้วก็ต้องตายด้วยกันทุกคน...”

เมื่อเห็นว่าพระอาการทรงอ่อนเพลียนัก เพื่อให้พระองค์ได้ทรงพักผ่อน จึงพากันถอยออกมา เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงปรึกษากับกรมหลวงวงศาธิราชสนิทว่า เพื่อมิให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใย ควรจะกราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงการที่ได้เตรียมไว้แล้ว ในการที่จะให้เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นเสวยราชย์ต่อหากสิ้นแผ่นดิน เมื่อเห็นพ้องต้องกัน จึงมอบเจ้าเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง จางวางมหาดเล็ก ที่พระเจ้าอยู่หัวโปรดเลี้ยงดูอย่างพระราชโอรสบุญธรรม ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูล ตลอดจนเรื่องที่ให้ทหารเข้าประจำซองล้อมวงองค์พระยุพราช เพื่อความปลอดภัยไว้แล้ว

หลังจากที่ทรงหมดความห่วงใย ทรงฝากผังแผ่นดินและพระราชวงศ์ ตลอดจนพระราชทานสิ่งของต่างๆ เช่นสิ่งของที่พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีถวายเมื่อคราวเฉลิมพระชนมพรรษา ส่วนใดเป็นของใครก็ให้พระราชทานคืนเจ้าของไปทุกคน และหลายพระองค์ยังได้รับพระราชทานสิ่งใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ครั้นถึงเวลาย่ำค่ำ รับสั่งให้พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภเข้าเฝ้าข้างพระที่ รับสั่งให้พยุงพระองค์พลิกพระเศียรทับพระพาหาเหมือนอย่างพระไสยาสน์ พร้อมกับตรัสว่า

“เขาตายกันดังนี้”

แล้วรับสั่งให้จุดเทียนไชย และห้ามมิให้ถวายพระหนทาง ทรงลาพระรัตนตรัย พระ เศียรยู่ทิศอุดร หันพระพักตร์ประจิมทิศ แล้วทรงเจริญพระกรรมฐานสมาธิ ภาวนาว่า..

“อรหัง สัมมาสัมพุทโธ...อรหัง สัมมาสัมพุทโธ...”

ทรงอัดนิ่งไป แล้วผ่อนอัสสาสะ ปัสสาสะ เป็นคราวๆ แล้วผ่อนสั้นเข้าทีละน้อย...ละน้อย...จนกระทั่งหางพระสุรเสียงมีสำเนียง “..โธ...โธ...” ทุกครั้ง เมื่อสั้นเข้า “...โธ...” ก็ค่อยๆเบาลง จนถึงปฐมยามก็มีเสียง “...ครอก...” เบาๆ

เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง เห็นดังนั้นจึงขอให้ทุกคนตั้งอยู่ในความสงบ และรออยู่จนใกล้สี่ทุ่ม เมื่อแน่ใจว่าพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตแน่แล้ว จึงประกาศว่า

“เสด็จสวรรคตแล้ว”

พร้อมกับคุกเข่าถวายบังคม จากนั้นเสียงร้องไห้คร่ำครวญก็เซ็งแซ่

นี่ก็คือความมหัศจรรย์ของมหาราชชาติไทย พระองค์หนึ่ง ที่ทรงใช้สติปัญญาเป็นอาวุธนำพาชาติพ้นภัยในยามวิกฤต แม้แต่ในวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพที่ความตายอยู่หน้าพระพักตร์ ก็ยังคงมีพระสติสัมปชัญญะมั่นคง อันเป็นลักษณะของมหาบุรุษอย่างแท้จริง
อุทยานราชภักดิ์


กำลังโหลดความคิดเห็น