xs
xsm
sm
md
lg

กรมขนส่งฯ แนะไปทอดกฐินต่างจังหวัด เหมารถตู้-รถบัสอย่างไรให้ปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อธิบดีกรมการขนส่งทางบก แนะประชาชนที่เช่าเหมารถบัสหรือรถตู้ ไปทอดกฐินตามวัดในต่างจังหวัด วางแผนการเดินทาง เลือกผู้ประกอบการที่ได้มาตรฐาน ก่อนเดินทางถ้าผู้รับจ้างไม่ตรงเงื่อนไขอย่าเสี่ยง

วันออกพรรษาปี 2562 ผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 13 ต.ค. ที่ผ่านมา ช่วงระยะเวลา 1 เดือนต่อจากนี้ ประชาชนจะนิยมเดินทางไปทอดกฐินตามวัดในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวพุทธสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยเลือกใช้บริการเช่าเหมารถบัส หรือรถตู้โดยสารไม่ประจำทาง ซึ่งหากใช้บริการรถที่ไม่ปลอดภัยจะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ออกมาแนะนำให้ประชาชนที่เช่าเหมารถบัสหรือรถตู้ วางแผนการเดินทาง พร้อมตรวจสอบข้อมูลผู้ประกอบการขนส่งและข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อความปลอดภัย ดังนี้

- วางแผนการเดินทางอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงเดินทางในเวลากลางคืน เลือกขนาดรถให้เหมาะสมกับจำนวนผู้โดยสารและสภาพเส้นทาง เช่น หากต้องเดินทางในเส้นทางที่มีความลาดเอียงหรือสูงชัน ควรเลือกใช้รถที่เหมาะสมกับสภาพเส้นทาง

- เลือกใช้บริการผู้ประกอบการขนส่งที่ได้มาตรฐาน ไม่มีประวัติเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง โดยอาจตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง เช่น สถิติอุบัติเหตุ ประวัติการให้บริการจากผู้ใช้บริการรายอื่น มีประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

- ก่อนออกเดินทาง ต้องตรวจสอบว่าผู้รับจ้างปฏิบัติตรงตามที่ตกลงกันและตรงตามเงื่อนไขในสัญญาหรือไม่ เช่น ทะเบียนรถไม่ตรงกับที่ระบบุในสัญญา สภาพรถไม่ปลอดภัย คนขับไม่มีใบอนุญาตขับรถหรือใบอนุญาตขับรถไม่ตรงตามประเภทรถ หากไม่เป็นไปตามข้อตกลงผู้ว่าจ้างสามารถยกเลิกสัญญาได้ทันที และสามารถเรียกร้องให้ผู้รับจ้างชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ด้วย

- ขณะเดินทาง ผู้โดยสารทุกคนต้องคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาขณะโดยสารไปกับรถหมั่นสังเกตอาการพนักงานขับรถ หากมีอาการอ่อนล้าหรือง่วงให้หยุดพักหรือเปลี่ยนคนขับ และเมื่อปฏิบัติงานติดต่อกันเป็นเวลา 4 ชั่วโมง ให้เปลี่ยนคนขับหรือหยุดพักขับรถไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง ก่อนจะขับรถต่อไปอีก ไม่เกิน 4 ชั่วโมง เตือนไม่ให้ผู้ขับรถขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และไม่ควรเร่งให้ขับรถเร็ว หากคนขับฝ่าฝืนกฎหมายหรือขับรถประมาท เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ควรตักเตือนและขอความร่วมมือให้ขับรถด้วยความปลอดภัย หรือแจ้งให้ผู้ประกอบการรับทราบเพื่อแก้ไขปัญหา หรือแจ้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสาร และรับเรื่องร้องเรียน สายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง

- ด้านผู้ประกอบการ ต้องตรวจสภาพความพร้อมของรถและพนักงานขับรถเพื่อความปลอดภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ตัวรถต้องมีความสมบูรณ์พร้อมใช้งาน จดทะเบียนเป็นรถโดยสารสาธารณะ (ป้ายเหลือง) ผ่านการตรวจสภาพรถและชำระภาษีถูกต้องตรงตามระยะเวลา ติดตั้งระบบ GPS Tracking และอุปกรณ์ครบถ้วน ได้แก่ เข็มขัดนิรภัย ประตูฉุกเฉิน ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก กำชับพนักงานขับรถให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความปลอดภัย รวมทั้งนำรถเข้าตรวจ ณ จุดตรวจรถโดยสาร Checking Point ทุก ๆ ระยะทาง 90 กิโลเมตร ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมเพื่อตรวจความพร้อมของรถระหว่างเดินทาง และให้พนักงานขับรถได้พักผ่อนคลายอิริยาบถ

- ด้านพนักงานขับรถ ต้องศึกษาเส้นทางล่วงหน้าก่อนออกเดินทาง พักผ่อนเพียงพอ และต้องมีใบอนุญาตขับรถตรงตามประเภทของรถ เช่น รถโดยสารขนาดใหญ่ที่สามารถบรรทุกคนได้ตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป ต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ประเภท ทุกประเภทชนิดที่ 2, 3 และ 4 โดยต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
กำลังโหลดความคิดเห็น