xs
xsm
sm
md
lg

“ในหลวง-พระราชินี” ทรงประกอบพิธีเจิมเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือรบลำใหม่ของไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเจิมเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ณ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

วันนี้ (16 ต.ค.) เวลา18.00 น. พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเจิมเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือฟริเกตลำใหม่ ณ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอนุสาวรีย์พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางพุ่มดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีทรงวางพุ่มดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะ

ต่อมาประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จออกจากพระอนุสาวรีย์พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ไปยังท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และภริยาผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือเอกชุมศักดิ์ นาควิจิตร ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการและภริยาผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เฝ้าฯ รับเสด็จ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชา พระพุทธนวราชบพิตร ทรงกราบ ประทับพระราชอาสน์ ทรงศีล พระราชทานพระบรมราชวโรกาส พระราชวโรกาสให้ พลเรือเอกชุมศักดิ์ นาควิจิตร ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้า ถวายสูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พันเอกหญิงกัลป์ยกร นาควิจิตร ภริยาผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

ต่อมาเสด็จไปยังเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นแท่นพิธีทรงยืน ณ พระสุจหนี่ ทรงผินพระพักตร์ไปทางเรือหลวงปิ่นเกล้า ทรงรับการถวายความเคารพจากเรือหลวงปิ่นเกล้า ยิงสลุตหลวง จำนวน 21 นัด เสร็จแล้วเสด็จฯ ไปยังบริเวณหัวเรือ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมที่แผ่นป้ายชื่อเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช แล้วทรงคล้องพวงมาลัยบริเวณแผ่นป้ายชื่อเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช แล้วเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรภายในห้องศูนย์ยุทธการเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราชวโรกาส พระราชวโรกาส ให้พลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือน้อมเกล้าฯ ถวายเรือหลวง ภูมิพลอดุลยเดช (จำลอง) พลเรือเอกชุมศักดิ์ นาควิจิตร ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ น้อมเกล้าฯ ถวายลองลูกปืนยิงสลุตหลวงนัดแรก พลเรือตรีอนุพงษ์ ทะปะสพ ผู้บัญชาการกองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ ทูลกล้าฯ ถวายพระมาลาปักชื่อเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และทรงลงพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย ในสมุดที่ระลึก สมควรแก่เวลาแล้วเสด็จฯกลับ

เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช H.T.M.S.BHUMIBOL ADULYADE) FFG-471 เป็นเรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำใหม่ของกองทัพเรือโดยเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2562 ขณะที่เรือกำลังเดินทางออกจากเมือง Danang สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม กองทัพเรือได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อเรือว่า "เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ชื่อภาษาอังกฤษ H.T.M.S.BHUMIBOL ADULYADEJ" ตามพระนามของพระบาทสมเด็จพระบรมชนการิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มหาราชอันเป็นที่รักและเคารพยิ่งของปวงชนชาวไทย นำความปลื้มปีติและความภาคภูมิใจมาสู่กองทัพเรือและกำลังพลประจำเรืออย่างหาที่สุดมิได้

เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช หมายเลขเรือ 471 จัดเป็นเรือรบประเภท เรือฟริเกต ขึ้นการบังคับบัญชากับกองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ จัดเป็นเรือรบชั้น 1 ของกองทัพเรือ มีกำลังพลประจำเรือ 141 นาย ได้รับการออกแบบและสร้างเรือโดยใช้มาตรฐานทางทหารของกองทัพเรือชั้นนำ มีระวางขับน้ำสูงสุด 3,700 ตัน ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ CODAG (Combined Diesel and Gas Turbine) ทำความเร็วสูงสุดมากกว่า 30 นอต มีระยะปฏิบัติการในทะเลที่ความเร็ว 18 นอต มากกว่า 4,000 ไมล์ทะเล มีความคงทนทะเลสูงถึงภาวะทะเลระดับ 8 หรือ ความสูงคลื่น อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุงไม่น้อยกว่า 21 วัน และมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการรบทางเรือทั้ง 3 มิติ ได้แก่ การรบผิวน้ำ การปราบเรือดำน้ำ และการป้องกันภัยทางอากาศ รวมทั้งยังมีขีดความสามารถในการโจมตีที่หมายชายฝั่งด้วยอาวุธปล่อยนำวิถี โดยสามารถนำเฮลิคอปเตอร์ขนาดไม่เกิน 10 ตัน ไปกับเรือ ไปกับเรือได้ 1 ลำ นอกจากนั้น ยังมีขีดความสามารถในการตรวจการณ์และการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ครอบคลุมทุกมิติ

ทั้งนี้ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการรบทางเรือทุกมิติ ขนาดของเรือมีความยาว 124.1 เมตร กว้าง 14.4 เมตร กินน้ำลึก 7 เมตร ระวางขับน้ำ 3,700 ตัน สามารถปฏิบัติการร่วมกับอากาศยานของกองทัพเรือได้ทุกประเภทรวมทั้งการปฏิบัติการร่วมกับอากาศยานของกองทัพอากาศตลอดจนการสนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารที่ไม่ใช่สงครามโดยถูกจัดหามาเพื่อนำไปใช้ในการป้องกันประเทศและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลทดแทนเรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย และเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ครบกำหนดปลดระวางประจำการเมื่อปีพ.ศ.2558 และพ.ศ.2560 ตามลำดับ