กวีเอกแห่งยุคที่ผลงานเป็นอมตะคงอยู่คู่วงวรรณกรรมไทยนั้น มีอยู่หลายท่าน อย่างในสมัยกรุงศรีอยุธยา มี ศรีปราชญ์ และ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง ในสมัยรัตนโกสินทร์ มี สุนทรภู่ และในยุคเดียวกันนี้ ที่ล้านนาก็มีอมตะกวีอีกท่านหนึ่ง คือ พรหมินทร์ หรือ พญาพรหมโวหาร
กวีเอกทั้ง ๔ ท่านนี้ ต่างมีผลงานเป็นอมตะที่ไม่มีวันเลือนหาย แต่ชีวิตต่างก็ตกระกำลำบากแสนเข็ญปานกัน บางท่านถึงกับต้องเสียชีวิต ก็เพราะความอ่อนไหวในเรื่องของความรักเหมือนๆกัน
ศรีปราชญ์ เป็นกวีเอกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แสดงความสามารถให้ประจักษ์ต่อพระเนตรเมื่อวัยเพียง ๗ ขวบ สมเด็จพระนารายณ์ทรงขอให้พระโหราธิบดีนำบุตรชายเข้าถวายตัวรับราชการแต่บัดนั้น แต่พระโหราธิบดีรู้ชะตาของลูกชายดี ว่าถ้าเข้ารับราชการเมื่อใดก็จะทำให้อายุสั้นมากขึ้นเท่านั้น จึงกราบทูลว่าบุตรชายยังซุกซนประสาเด็ก เอาไว้ให้เจริญวัยสักหน่อยจะนำตัวมาถวาย
ผัดผ่อนจนเจ้าศรีอายุได้ ๑๕ ปี พระโหราธิบดี ก็จำต้องนำตัวถวาย แต่กราบทูลขอไว้ข้อหนึ่งว่า หากเจ้าศรีกระทำความผิดใดๆในกาลข้างหน้า หากไม่ใช่ความผิดต่อราชบัลลังก์ที่มีโทษถึงตายแล้ว ขอได้โปรดทรงงดโทษตายนั้นเสีย ขอเพียงให้เนรเทศไปให้พ้นจากเมือง อย่าให้ถึงกับต้องประหาร ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงพระราชทานให้ตามที่ขอ
ในคืนหนึ่งที่มีงานลอยกระทง ศรีปราชญ์ดื่มเหล้าจนเมา แล้วเฉียดเข้าไปใกล้ๆท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอก ทำให้ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ไม่พอพระทัย จึงเสียดสีเป็นโคลงว่า
หะหายกระต่ายเต้นชมจันทร์
มันบ่เจียมตัวมันต่ำต้อย
นกยูงหากกระสันถึงเมฆ
มันบ่เจียมตัวน้อยต่ำต้อยเดียรฉาน
ศรีปราชญ์ได้ยินก็ย้อนกลับเป็นโคลงไปเหมือนกันว่า
หะหายกระต่ายเต้นชมแข
สูงส่งสุดตาแลสู่ฟ้า
ระดูฤดีแดสัตว์สู่ กันนา
อย่าว่าเราเจ้าข้าอยู่พื้นเดียวกัน
พระสนมเอกฟังคำย้อนก็ไม่พอพระทัย นำความไปฟ้องเจ้าเหนือหัว สมเด็จพระนารายณ์จึงรับสั่งให้เอาศรีปราชญ์ไปจำคุกหลวง เลยเข้าทางพระยารามเดโช คู่ปรับเก่าอีกราย สั่งให้ศรีปราชญ์ไปทำงานเหมือนนักโทษคนอื่น ศรีปราชญ์ต้องไปขุดคลองร่วมกับนักโทษ ทั้งที่เคยนำงานหนักที่สุดแค่ถือดินสอ พระสนมเอกได้ข่าวก็ไปดูให้สะใจ และนางรับใช้พระสนมยังแกล้งให้ศรีปราชญ์เสียหลัก ทำโคลนที่แบกมากระเซ็นไปถูกพระสนม จึงถูกฟ้องว่าเป็นความจงใจจะแก้แค้น โทษครั้งนี้ถึงตาย แต่สมเด็จพระนารายณ์ทรงให้สัญญาไว้ ศรีปราชญ์จึงถูกเนรเทศไปเมืองนครศรีธรรมราช
ความเป็นอัจฉริยะทางกวีของศรีปราชญ์ ทำให้เขาเป็นที่โปรดปรานของเจ้าเมืองนครฯ แต่ความอ่อนไหวในอารมณ์ก็ทำให้ศรีปราชญ์ก่อคดีขึ้นอีก เมื่อเขาไปมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับภรรยาน้อยคนโปรดของท่านเจ้าเมือง ศรีปราชญ์พยายามประท้วงโทษประหารของเจ้าเมือง แต่ไม่เป็นผล ยอดกวีผู้มีอารมณ์อ่อนไหวในความรัก จึงเขียนโคลงบทสุดท้ายกับพื้นธรณีไว้ว่า
ธรณีนี่นี้เป็นพยาน
เราก็ศิษย์มีอาจารย์หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านประหารเราชอบ
เราบ่ผิดท่านมล้างดาบนี้คืนสนอง
หลังจากนั้น ก็มีกวีเอกของกรุงศรีอยุธยาอีกท่านหนึ่ง ที่มีจุดจบเช่นเดียวกับศรีปราชญ์ ก็คือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ หรือเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า เจ้าฟ้ากุ้ง ผู้สร้างแบบฉบับเห่เรือที่กังวานไปทั่วคุ้งน้ำในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคไว้ตั้งแต่เมื่อราว ๓๐๐ ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน แม้บทเห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งจะเป็นอมตะ แต่พระชนม์ชีพของพระองค์กลับถึงจุดจบขณะที่ราชบัลลังก์อยู่แค่เอื้อม ก็เพราะความอ่อนไหวเฉกเช่นกวีทั่วไป โดยมีบทกวีของพระองค์เองเป็นหลักฐานในความผิด
เจ้าฟ้ากุ้งเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จึงทรงได้รับสถาปนาเป็นองค์รัชทายาท แต่ทว่าจิตรวิญญาณของพระองค์เป็นกวี ทำให้เจ้าฟ้ากุ้งทรงเห็นเจ้าฟ้านเรนทร์ที่ปฏิเสธราชบัลลังก์ไปครองผ้ากาสาวพัสตร์ และเป็นที่โปรดปรานของพระราชบิดา อาจจะเปลี่ยนพระทัยมารับราชบัลลังก์ได้ เพราะยังคงมาเข้าเฝ้าอยู่เป็นประจำ จึงทรงดักทำร้ายเจ้าฟ้านเรนทร์ด้วยพระองค์เอง แต่เจ้าฟ้านเรนทร์กลับทรงช่วยเจ้าฟ้ากุ้งให้รอดพ้นพระราชอาญา โดยให้ไปทรงผนวชและจำพรรษาอยู่ด้วยกัน
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศต้องหลบภัยอยู่ในผ้ากาสาวพัสตร์ถึง ๒ ปี จนในปลายปี พ.ศ.๒๒๘๐ พระชนนีประชวรหนัก ด้วยความห่วงใยพระโอรส จึงกราบทูลขอพระราชทานพระกรุณาพระเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งสุดท้าย ขอให้อภัยโทษแก่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวก็โปรดตามที่ขอ สมเด็จกรมหลวงอภัยนุชิตจึงสิ้นพระชนม์ด้วยอาการสงบ
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้กลับเข้ารับราชการอีก และต่อมาอีก ๔ ปีก็ได้ขึ้นเป็นมหาอุปราชตามเดิม
ในขณะที่วิถีชีวิตของเจ้าฟ้ากวีผู้นี้กำลังรุ่งโรจน์ด้วยอำนาจวาสนาอันยิ่งใหญ่ วิถีชีวิตอีกด้านหนึ่งของพระองค์ก็ดิ่งลงสู่ความมืดมนอีกครั้ง จนถึงจุดจบเช่นเดียวกับศรีปราชญ์
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศทรงอยู่ในตำแหน่งกรมพระราชวังบวรได้ ๑๔ ปี และทรงประชวรด้วยโรคบุรุษจนกลายเป็นคุดทะราด ไม่ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวถึง ๓ ปี ศัตรูผู้มุ่งหวังในราชบัลลังก็ใส่ความกราบทูลว่า พระองค์ลอบเป็นชู้กับเจ้าฟ้าสังวาล พระมเหสีของพระราชบิดา
เจ้าฟ้าสังวาลเป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ มีศักดิ์เป็นเจ้าพี่เจ้าฟ้ากุ้ง แต่อ่อนกว่า ๒ ปี จึงเรียกลูกผู้น้องว่าเจ้าพี่ และมีความลงไหลในกวีเช่นเดียวกัน โต้ตอบกันด้วยบทกวีด้วยเพลงยาวเป็นประจำ ในช่วงที่เจ้าฟ้ากุ้งต้องทรงผนวชนั้น เจ้าฟ้าสังวาลก็ตกเป็นมเหสีองค์หนึ่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และมีพระราชโอรสพระราชธิดาถึง ๔ พระองค์ แต่ในฐานะที่รักทางกวีด้วยกัน ทั้งสองพระองค์จึงได้นิพนธ์บทกลอนโต้ตอบกัน แต่อาจจะเป็นด้วยยังมีความผูกพันทางใจกันอยู่ กลอนที่โต้ตอบถึงกันจึงเหมือนบอกความในใจต่อกัน ซึ่งเป็นหลักฐานให้น่าเชื่อถือในคำฟ้องเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ กาพย์เห่เรือเรื่อง “กากี” ที่เจ้าฟ้ากุ้งทรงบรรยายตอนพญาครุฑลอบเข้าหานางกากีถึงในห้องบรรทมว่า
๐ สุบรรณสำแดงฤทธิให้มืดมิดปิดอัมพร
ร่อนลงตรงบัญชรจรสู่น้องแก้วกากี
๐ กล่าวรสพจนาทสายสุดสวาทเจริญศรี
ผินหน้ามาพาทีพี่คือชายชาญสกา
๐ ประสงค์จำนงรักจึงลอบลักเข้ามาหา
หวังเชิญแก้วกานดาไปสู่ฟ้าพิมานจันทร์
๐ เสวยรมย์สมบัติพี่ในฉิมพลีเกษมสันต์
แล้วจะพาเจ้าจรจรัลเที่ยวชมชั้นพระเมรุธร
บทกวีของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศนี้ ยิ่งทำให้พระราชบิดาทรงเชื่อในคำฟ้อง ทั้งๆที่ในความเป็นจริง เจ้าฟ้ากุ้งประชวรอย่างหนักมาหลายปีแล้ว การจะลอบเข้าหาเจ้าฟ้าสังวาลเหมือนพญาครุฑจึงเป็นไปไม่ได้ แต่การเขียนเพลงยาวถึงกันก็มีโทษประหารชีวิต เมื่อเจ้าฟ้าสังวาลถูกนำตัวมาชำระความหน้าพระที่นั่ง ทรงยอมรับว่าเป็นผู้นิพนธ์เพลงยาวนั้นจริง เจ้าฟ้าธรรมธิเบศจึงถูกคุมตัวมาทันที ซึ่งกรมพระราชบวรก็ทรงรับเป็นความสัตย์ตลอดข้อหา
แต่กระนั้นพระราชบิดาก็ไม่ได้เอาโทษถึงประหาร ลงพระราชอาญาเพียงเฆี่ยน และถอดจากความเป็นเจ้าทั้งสองพระองค์
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศประชวรเรื้อรังมานาน ครั้นถูกเฆี่ยนสี่ยก ยกละสามสิบที ก็สิ้นพระชนม์ ขณะพระชนมายุเพียง ๔๐ พรรษา ส่วนเจ้าฟ้าสังวาลถูกเฆี่ยนหนึ่งยก อยู่ได้ ๓ วันก็สิ้นพระชนม์ตาม
หลังจากนั้นอีกเพียง ๓ ปี พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็สวรรคต ถ้าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศยังมีพระชนม์อยู่ ก็จะได้ขึ้นครองราชย์อย่างแน่นอน
แม้ดวงชะตาของเจ้าฟ้ากุ้งจะก้าวไปไม่ถึงราชบัลลังก์ แต่พระองค์ก็ทรงครองบัลลังก์รัตนกวีของกรุงสยามมาจนถึงทุกวันนี้ และจะตลอดไปอีกกาลนาน
ส่วน สุนทรภู่ กวีเอกของกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้สร้างวรรณกรรมอมตะให้เป็นสมบัติของชาติไว้มากมาย จนยูเนสโกยกย่องให้เป็นกวีเอกของโลก แม้ไม่ถึงตาย แต่ก็ทำให้ชีวิตต้องลำบากแสนเข็ญ ต้องติดคุกติดตะรางและเร่รอนซมซานไป ชีวิตแสนเศร้าไม่ผิดกับกวีเอก ๒ ท่านแรก เพราะความรักเป็นเหตุแล้ว ยังเป็นเพราะสุราด้วย
รักแรกของสุนทรภู่ในวัย ๒๐ ก็ได้เรื่องแล้ว เมื่อ จัน สาวคนรัก เป็นฝ่ายในของกรมพระราชวังหลัง เมื่อความแตก สุนทรภู่ก็ถูกลงโทษด้วยการจองจำ แต่ไม่นานกรมพระราชวังหลังทิวงคต สุนทรภู่ก็พ้นโทษ และได้แต่งงานกับสาวคนรักที่ทำให้ติดคุก จนมีลูกด้วยกันคนหนึ่ง ต่อมาจันก็ทนความเป็นคนขี้เหล้าของสุนทรภู่ไม่ไหว ต้องเลิกร้างไป สุนทรภู่มีเมียใหม่อีกหลายคน แต่ก็อยู่กับใครได้ไม่นานเพราะเรื่องเหล้าเป็นเหตุ แม้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่ทรงได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นกวีเอกของโลกในปีเดียวกับสุนทรภู่ ซึ่งทรงโปรดในด้านกวีของสุนทรภู่ ให้เอาตัวมารับราชการในกรมอาลักษณ์ ก็ยังทรงรับสั่งให้เอาสุนทรภู่ไปจองจำเพราะทำร้ายญาติผู้ใหญ่จนเจ็บหนักเพราะความเมา แต่ด้วยความสามารถด้านกวีก็ทำให้สุนทรภู่ออกจากตะรางได้เมื่อทรงต้องการตัว
ในระหว่างที่มีชีวิตรุ่งโรจน์ในสมัย ร.๒ นี้ สุนทรภู่ก็ได้สร้างความขุนเคืองพระทัยไว้กับพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์หลายครั้ง ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯทรงมอบบทละครเรื่อง “อิเหนา” ตอนบุษบาเล่นธาร ให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงนิพนธ์ และเมื่อนิพนธ์เสร็จพระเจ้าลูกยาเธอทรงวานให้ขุนสุนทรโวหารช่วยตรวจทาน ซึ่งสุนทรภู่ก็กราบทูลเมื่ออ่านเสร็จว่า “ดีอยู่แล้ว”
ครั้นเมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์นำบทที่ทรงนิพนธ์อ่านถวายหน้าพระที่นั่งต่อหน้ากวีที่ปรึกษาทั้งหลาย มาถึงบทที่ว่า
“น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัว
ปลาแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว”
สุนทรภู้ก็ว่าความยังไม่ชัด ขอแก้เป็น
“น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา
แหวกว่ายปทุมมาอยู่ไหวไหว”
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงโปรดที่สุนทรภู่แก้ แต่พระเจ้าลูกยาเธอทรงขุนเคืองพระทัยที่ให้สุนทรภู่ช่วยตรวจทานแล้วแต่ไม่แก้ มาหักหน้าต่อที่ประชุมเช่นนี้
อีกครั้งหนึ่งเมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงรับพระราชทานบทละครเรื่อง “สังข์ทอง” มานิพนธ์ตอนเลือกคู่ เมื่อทรงอ่านถวายในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า
“จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว
ให้ลูกแก้วสมมาดปรารถนา”
สุนทรภู่ก็ท้วงอีกว่าไม่ชัด ลูกปรารถนาอะไร พระเจ้าลูกเธอก็ทรงแก้เป็น
“ให้ลูกแก้วมีคู่เสน่หา”
ฉะนั้นใน พ.ศ.๒๓๖๗ เมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๓ ชีวิตของขุนสุนทรโวหารเลยตกอับ ถูกถอดยศถาบรรดาศักดิ์ คนทั้งหลายจึงเรียกกันว่า “สุนทรภู่” และไม่มีใครกล้าชุบเลี้ยงเกื้อกูล เพราะเกรงจะขัดพระราชหฤทัย ภรรยาที่อยู่ด้วยกันก็เลิกร้างไปอีกคน ญาติพี่น้องก็ไม่มีใครเหลียวแล ในปีนั้นสุนทรภู่ต้องยึดเอาผ้าเหลืองเข้าคุ้มตัวโดยออกบวช
ปลายรัชกาลที่ ๓ ชีวิตสุนทรภู่ค่อยสุขสบายขึ้น เมื่อเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ทรงเมตตาปราณีให้ไปอยู่พระราชวังเดิมซึ่งเป็นที่ประทับของพระองค์ ทั้งกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ราชธิดาองค์โปรดของรัชกาลที่ ๓ ซึ่งทรงสร้างวัดเทพธิดารามให้ ก็ทรงเมตตาสุนทรภู่ และรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งพระอภัยมณีที่ค้างอยู่จนจบ
ครั้นเมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ชะตาชีวิตของสุนทรภู่ก็รุ่งโรจน์ขึ้นเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร มีบรรดาศักดิ์เป็น พระสุนทรโวหาร ในวัย ๖๖ ปี สุนทรภู่ถึงแก่กรรมในปี ๒๓๙๘ เมื่ออายุได้ ๗๐ ปี
หลังจากที่สุนทรภู่เกิดในปี ๒๓๒๙ อีก ๒๔ ปีต่อมาที่ล้านนา ดินแดนแห่งขุนเขา ก็มีเด็กชายคนหนึ่งถือกำเนิด ได้ชื่อว่า พรหมินทร์ ต่อมาได้เป็นกวีเอกผู้โดดเด่นด้วยความลึกซึ้งกินใจและแฝงด้วยคติธรรม ทำให้ชื่อเสียงโด่งดัง เป็นขวัญใจของชาวล้านนา แต่ด้วยจิตใจที่อ่อนไหวเฉกเช่นกวีทั่วไป ก็ทำให้ชีวิตต้องซมซานยิ่งกว่าสุนทรภู่ ต้องทิ้งเมืองที่ให้ยศถาบรรดาศักดิ์ไปทีละเมือง แต่ก็ได้เป็นกวีประจำราชสำนักทั้งลำปาง แพร่ และเชียงใหม่
จากคนที่รักในทางกวีและหมั่นฝึกฝนเล่าเรียน ทำให้พรหมินทร์สามารถไต่เต้าขึ้นเป็นกวีประจำราชสำนักลำปาง ถิ่นกำเนิด มีบรรดาศักดิ์เป็น พญาพรหมโวหาร ชีวิตที่รุ่งโรจน์ในวัยหนุ่ม ทำให้พรหมินทร์เป็นคนเจ้าชู้ ชอบเกี้ยวพาราสีและมอบความรักให้ผู้หญิงทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต กล่าวขานกันว่าเขามีภรรยาถึง ๔๒ คน
พรหมินทร์ไม่ได้เก่งแต่ในด้านกวีเท่านั้น ยังมีความรู้ในเรื่องไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ และคชศาสตร์ โดยเฉพาะศาสตร์หลังนี้พรหมินทร์เคยแต่ง ค่าว ซึ่งเป็นบทกวีของล้านนา บรรยายถึงลักษณะดีและเลวของช้างไว้ ซึ่งทำให้ชีวิตของเขาพบจุดหักเหจมดิ่งเป็นครั้งแรก เมื่อพ่อหลวงเจ้านครลำปางได้มอบหน้าที่ให้เขานำเงิน ๒,๐๐๐ ท๊อกไปซื้อช้างเชือกหนึ่งที่เมืองแพร่ แต่พรหมินทร์ได้นำเงินนี้ไปเล่นการพนันจนหมด
ที่บ่อนการพนันเมืองแพร่นี้ พรหมินทร์ก็ได้พบสาวงามอีกคนหนึ่งที่สะคราญไปทั้งเรือนร่าง ทันทีที่สบตาเขาก็ปักใจว่าต้องการผู้หญิงคนนี้ นางชื่อ บัวจม แต่นางไม่ใช่หญิงโสด สามีเป็นคนที่อยู่ในบ่อนนั้นเอง แม้จะรู้ว่าบัวจมมีเจ้าของ พรหมินทร์ก็ไม่ท้อ หาโอกาสโอ้โลมด้วยคารมโวหารจนบัวจมเคลิบเคลิ้มสยบให้เขาทั้งใจและกาย
เมื่อพรหมินทร์หมดตัวจากบ่อน สามีของบัวจมก็หมดเช่นกัน ต้องเอาเมียสาวไปเป็นประกันเงินกู้ ซึ่งนายเงินได้ส่งต่อนางไปทำงานในโรงครัวของคุ้มหลวง แต่ด้วยใจที่เรียกร้อง พรหมินทร์ก็ยังลักลอบเข้าไปหานางบ่อยครั้ง
เมื่อกลับไปนครลำปางไม่ได้ ชีวิตของพรหมินทร์จึงต้องซมซานด้วยความลำบาก เขาจึงตัดสินใจถือพานเครื่องสักการะเข้าถวายตัวต่อ เจ้าหลวงวิชัยราชา เจ้านครเมืองแพร่ เจ้าหลวงทราบว่าพรหมินทร์เป็นกวีที่มีชื่อเสียงจึงรับไว้ด้วยความเต็มใจ ชีวิตของพรหมินทร์จึงเหมือนได้เกิดใหม่อีกครั้ง
ในราชสำนักเมืองแพร่ พรหมินทร์ยังโชคดีได้พบกับ หม่อมจันทร์ สนมรูปงามของเจ้าหลวงวิชัยราชา ซึ่งเคยคุ้นเคยกันมาก่อน ทั้งเขายังเคยอุปการะหม่อมจันทร์มา เมื่อพบว่าพรหมินทร์ตกระกำลำบาก หม่อมจันทร์จึงตอบแทนบุญคุณด้วยการให้พรหมินทร์ไปอยู่อาศัยในบ้าน
การแสดงออกถึงความใกล้ชิดสนิทสนมกันระหว่าพรหมินทร์กับสนมคนโปรด จึงเป็นเรื่องบาดใจเจ้าหลวงจนไม่สามารถปล่อยให้ถลำลึกต่อไปได้ ความโชคดีของพรหมินทร์จึงกลายเป็นโชคร้าย ถูกนำตัวเข้าคุกไปรอประหาร บัวจมก็ไม่ทอดทิ้ง เข้าเยี่ยมปลอบขวัญเขาเสมอ
ชีวิตของพรหมินทร์พลิกผันอย่างไม่คาดฝันอยู่เสมอ ขณะที่ใกล้ถึงวันประหารนั้น ก็มีคนมาช่วยให้เขาหนีออกจากคุกไปได้ พรหมินทร์รีบเตลิดออกจากเมืองแพร่ไปในที่ที่เขาไม่เคยไปมาก่อน โดยไม่ลืมที่จะคว้าเอาบัวจมไปร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วย จนถึงเมืองลับแล อุตรดิตถ์
ที่ลับแล สองคนผัวเมียพยายามสร้างเนื้อสร้างตัวสร้างชีวิตใหม่ พรหมินทร์เป็นพ่อค้าขายของทุกอย่างที่จะทำเงินได้ ส่วนบัวจมก็ทอผ้าออกขาย ชีวิตราบรื่นมีความสุขตามประสา แต่แล้วความพลิกผันก็เกิดขึ้นอีกจนได้
วันหนึ่งพรหมินทร์ต้องเดินทางไปค้าต่างเมือง มีกำหนดจะกลับใน ๑๕ วัน แต่ด้วยความห่วงใยเมียที่อยู่บ้านคนเดียว พรหมินทร์ทำธุระอย่างเร่งรีบ เพียง ๑๑ วันก็กลับมาถึงบ้านเมื่อใกล้ค่ำ เขารู้สึกแปลกใจที่ไม่เห็นแสงไฟในเรือนน้อย และเมื่อเรียกบัวจมก็ไม่มีเสียงขานรับ จนเพื่อนบ้านมาบอกว่าบัวจมได้หอบผ้าออกจากบ้านไปหลายวันแล้ว
พรหมินทร์พบจดหมายฉบับหนึ่งเห็บไว้ข้างฝา ไม่ใช่จดหมายถึงเขา แต่เป็นจดหมายถึงบัวจมจากนายเงินที่เธอหนีมา มีข้อความให้รีบกลับไปเมืองแพร่ด่วน มิฉะนั้นจะมีโทษหนัก พรหมินทร์รู้ทันทีว่าบัวจมรีบหนีไปก่อนที่เขาจะกลับมา เพราะเธอคงจะทนอยู่กับความยากลำบากไม่ไหว
ลับแล เรือนรักยามยาก กลายเป็นความขมขื่นที่พรหมินทร์ไม่สามารถทนอยู่ต่อไปได้ เมื่อทั้งลำปางและแพร่เป็นเมืองต้องห้ามสำหรับเขา พรหมินทร์ก็คิดว่ายังมีแผ่นดินที่จะฝากชีวิตไว้ได้อีกแห่ง ก็คือเชียงใหม่
พรหมินทร์มุ่งหน้าไปถวายตัวกับเจ้ากาวิโลรสสุริวงศ์ ที่เรียกกันว่า “เจ้าชีวิตอ้าว” ซึ่งได้รับความเมตตา และเห็นว่าอายุมากแล้วจึงชุบเลี้ยงอย่างดี ในปีต่อมา คือปี ๒๔๐๕ พรหมินทร์มีวัย ๖๐ ปีแล้ว ก็ยังได้ภรรยาคนใหม่อีก เป็นเชื้อสายของเจ้านายเมืองเชียงใหม่นั่นเอง มีชื่อว่า เจ้าบัวจันทร์ และให้กำเนิดบุตรสาวคนหนึ่ง ซึ่งเป็นบุตรคนเดียวของพรหมินทร์
ขณะรับราชการอยู่ในราชสำนักเชียงใหม่ พรหมินทร์ หรือ พญาพรหมโวหาร มีชีวิตเหมือนกับสุนทรภู่ในบั้นปลาย ได้รับความรักใคร่จากเจ้านายทุกคน รวมทั้ง เจ้าอุปราชอินทวิชยานนท์ พระบิดาของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในรัชกาลที่ ๕
พรหมินทร์ กวีเอกของล้านนา ปิดฉากสุดท้ายของชีวิตระหกระเหินลงด้วยโรคชรา เมื่ออายุ ๘๕ ปี นับเป็นกวีเอกที่มีอายุยืนที่สุด