xs
xsm
sm
md
lg

ทำตาม รมว.ดีอีเอส! นักกฎหมายแนะ “ร้านกาแฟ” แค่จดชื่อคนขอ Wi-Fi ติดกล้องวงจรปิดก็พอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


MGR Online - ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายไซเบอร์ ระบุ รมว.ดิจิทัลขอความร่วมมือเก็บข้อมูลการจราจรทางอินเทอร์เน็ต ของผู้ใช้ไว-ไฟของร้าน 90 วัน มีมานานแล้ว แต่อะลุ่มอล่วย หน่วยงานรัฐยังปล่อยผ่าน แนะร้านค้า ร้านกาแฟ บันทึกลูกค้าที่ขอพาสเวิร์ด ติดกล้องวงจรปิดก็เพียงพอแล้ว ตำรวจทำงานง่าย

จากกรณีที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวผลปฏิบัติการปราบปรามเนื้อหาไม่เหมาะสม จับกุมนายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่โพสต์ข้อความผิดกฎหมาย เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ในตอนหนึ่งระบุว่า ขอฝากร้านค้าร้านกาแฟต่างๆ ที่เปิดให้ผู้ใช้บริการต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตไว-ไฟ (Wi-Fi) ภายในร้าน ให้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลการจราจรทางอินเทอร์เน็ต ของผู้ลงทะเบียนใช้ไว-ไฟของร้านเป็นเวลา 90 วัน เพื่อป้องกัน เมื่อมีเหตุอะไรแล้วเจ้าหน้าที่รัฐจำเป็นต้องขอข้อมูลดังกล่าว โดยอาศัยความตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 26 ซึ่งกระทรวงดีอีเอสได้หารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) แล้ว หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษตามกฎหมาย

วันนี้ (9 ต.ค.) นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายไซเบอร์ เปิดเผยกับ MGR Online ว่าสิ่งที่ รมว.ดีอีเอส ขอความร่วมมือนั้น โดยปกติแล้วตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี 2550 มีการระบุไว้ว่า ถ้าเป็นสถานประกอบการและให้บริการบุคคลทั่วไปสามารถเข้าสู่อินเทอร์เน็ตได้ ตามกฎหมายระบุว่าต้องจัดเก็บข้อมูลจราจรทางอินเทอร์เน็ต คนที่ใช้บริการเป็นใคร ยังไง เข้าออกเวลาไหน โดยหลักการระบุว่า ถ้าผู้ประกอบการรายใดที่ยังไม่จัดเก็บก็จะมีโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งตอนที่เป็นกรรมาธิการร่างกฎหมายปี 2550 มีหลักเกณฑ์มองไว้ว่า เราจะใช้แนวนโยบายในการจัดเก็บข้อมูลในเชิงเทคนิคเฉพาะผู้ประกอบการขนาดใหญ่ แต่ในกรณีที่เป็นประชาชนทั่วไป หรือร้านกาแฟเล็กๆ ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ต เราจะเอาหลักเกณฑ์แบบนี้ไปใช้ไม่ได้ เพราะเป็นการผลักภาระให้ผู้ประกอบการรายเล็กมากเกินไป

“สิ่งที่ผ่านมาตลอด 12 ปี ถ้าเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก อย่างเช่นคาเฟ่เล็กๆ สิ่งที่เขาควรจะต้องทำก็คือ ควรจะมีบันทึกการเข้าออกเวลามีคนมาขอพาสเวิร์ดที่ร้าน (รหัสไว-ไฟ) แล้วมีกล้องวงจรปิดติดไว้ก็เพียงพอแล้ว เพราะกฎหมายแค่อยากจะรู้ว่าคุณเอาไว-ไฟไปใช้ เขาเป็นใคร เอาไปใช้ยังไงแค่นั้นเอง กฎหมายก็มีแค่นี้ แล้วหลักเกณฑ์ที่ทาง รมว.ดีอีเอส บอกมามีมานานแล้ว เพียงแต่ว่าในแง่การจัดเก็บ ถ้าเป็นร้านค้าเล็กๆ หรือร้านกาแฟเล็กๆ ไม่จำเป็นที่จะต้องไปเสียงบประมาณในการจัดเก็บที่เสียค่าใช้จ่ายเป็นแสนเป็นล้านบาท เพียงแค่เรามีบันทึกภายในที่เวลามีการแจ้งมาว่าใช้ไว-ไฟจากร้านเรา เราบอกได้ว่าใครเข้ามาใช้ แค่นั้นเอง” นายไพบูลย์กล่าว

เมื่อถามว่า ถ้าให้ทางร้านทำบันทึกการใช้งานไว-ไฟแล้ว รหัสไว-ไฟก็ไม่ควรเผยแพร่รหัสไว-ไฟของร้าน ให้บุคคลภายนอกรู้เพื่อเกี่ยวสัญญาณไว-ไฟ แล้วกระทำผิดกฎหมายใช่หรือไม่ นายภิญโญตอบว่า ใช่ และเห็นว่าที่ผ่านมาพบว่าหน่วยงานของรัฐก็ไม่ได้จัดเก็บข้อมูลการจราจรทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นช่องโหว่ของกฎหมายเช่นกัน อาทิ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กระทรวง กรม ก็มีฟรีไว-ไฟเหมือนกัน ซึ่งมีความเสี่ยงค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้น ที่จัดเก็บข้อมูลการจราจรทางอินเทอร์เน็ตควรที่จะต้องทำให้เท่าเทียมกันหมด

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเสนอให้กระทรวงดีอีเอสทำระบบที่ไม่ต้องให้ทางร้านจัดเก็บข้อมูลการจราจรทางอินเทอร์เน็ต นายไพบูลย์กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ใช้มา 12 ปีแล้ว ไม่เคยมีการปรับปรุงเลย อะลุ้มอล่วยมาตลอด สิ่งที่ทุกๆ ที่ใช้และตำรวจก็แฮปปี้ก็คือ การติดกล้องวงจรปิด เพราะเมื่อมีคนใช้บริการขอรหัสไว-ไฟ จะบันทึกอยู่แล้วว่าคนเข้า-ออกร้านเมื่อเวลาเท่าไหร่ เราก็แค่บันทึกว่า คนคนนี้ ลูกค้าคนนี้มาขอรหัสไว-ไฟ แล้วก็ลงชื่อไว้ก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องไปใช้ถึงขนาดเป็นซอฟต์แวร์เก็บข้อมูลซึ่งไม่จำเป็น แต่สำหรับร้านค้า ร้านกาแฟขนาดใหญ่ เช่น สตาร์บัคส์ โอบองแปง มีศักยภาพในการจัดเก็บที่ถูกต้องอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น