xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยเรี่ยไรกันซื้อเรือรบให้กองทัพที่ขาดงบ! เป็นเขี้ยวเล็บไว้ป้องกันประเทศ!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

เรือหลวงพระร่วง
ในสมัยก่อนกองทัพไทยมีทหารอยู่เหล่าเดียว ไม่ได้แยกออกเป็นทหารบกและทหารเรือ เมื่อยกทัพไปทางบกก็เรียกว่าทัพบก ยกไปทางเรือก็เรียกว่าทัพเรือ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงเริ่มมี ทหารเรือวังหลวง กับ ทหารเรือวังหน้า ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ตั้งกระทรวงยุทธนาธิการขึ้น แบ่งเป็น ๒ กรม คือ กรมทหารบก และ กรมทหารเรือ

แต่ในยามนั้นคนไทยก็ยังมีความรู้ในกิจการทหารเรือน้อยนัก จึงทรงว่าจ้างชาวต่างประเทศเข้ามาวางรากฐาน ผู้บัญชาการทหารเรือสมัยนั้นเป็นฝรั่งชาติเดนมาร์ค คือ พระยาชลยุทธโยธิน ขณะเดียวกันก็ทรงโปรดเกล้าฯให้ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ พระราชโอรส เสด็จไปศึกษาวิชาการทหารเรือที่ประเทศอังกฤษ เมื่อสำเร็จกลับมาจึงให้กรมทหารเรือเปิดการฝึกสอนวิชาทหารเรือขึ้นสำหรับอบรมนายทหารชั้นประทวนหรือฝ่ายช่างกลและเดินเรือ ต่อมาในปี ๒๔๔๒ ได้จัดตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารเรือขึ้นที่วังนันทอุทยาน หรือ สวนอนันต์ในปัจจุบัน ก่อนจะย้ายมาพระราชวังเดิม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงเรียนนายเรือที่พระราชวังเดิมเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๔๙ จึงถือว่าวันที่ ๒๐ พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันกองทัพเรือ
เรือหลวงพระร่วงที่ท่าราชวรดิฐ
ในยามนั้นเรือรบไทยยังมีน้อย ทั้งสมรรถภาพก็ยังน้อยด้วย ในปี ๒๔๔๘ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ทรงทำโครงการจัดหาเรือรบ นำขึ้นถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ แต่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ คงได้แต่เรือตอร์ปิโดเสือทะยานชลกับเสือคำรณสินธุ์ ไม่ครบตามที่ต้องการ

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนฐานะกรมทหารเรือขึ้นเป็นกระทรวงทหารเรือ แม้ทรงมีพระราชปณิธานว่า “แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ์” แต่ยามนั้นเป็นยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำ มีปัญหาเรื่องงบประมาณ ในปี ๒๔๕๗ ข้าราชการและประชาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งเห็นความสำคัญในการเตรียมกำลังรบไว้ป้องกันประเทศ เห็นพ้องต้องกันว่าจะช่วยกันออกเงินคนละเล็กละน้อยซื้อเรือรบสักลำหนึ่งให้กองทัพ และควรเปิดการเรี่ยไรอย่างเป็นหลักเป็นฐานโดยตั้งเป็นสมาคมขึ้น เมื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเห็นชอบด้วย พระราชทานนามสมาคมให้ว่า “ราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม” ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์สมาคม พร้อมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงิน ๘๐,๐๐๐ บาทเป็นประเดิม ข้าราชการและประชาชนจากทั่วประเทศบริจาครวมกันได้ถึง ๓,๕๑๔,๖๐๔ บาท กับ ๑ สตางค์ โปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้นายพลเรือโท กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์เป็นข้าหลวงพิเศษ เดินทางไปเลือกซื้อเรือที่ยุโรป พระราชทานนามเรือรบลำใหม่นี้ไว้ล่วงหน้าว่า “เรือหลวงพระร่วง”
สวนสนามทางทะเลถวายการต้อนรับ ร.๖ ที่สัตหีบ
กรมหมื่นชุมพรฯได้เสาะหาอยู่หลายประเทศ จนได้พบเรือพิฆาตตอร์ปิโดของอังกฤษ มีชื่อว่า “เรเดียนท์” ซึ่งต่อขึ้นเพื่อใช้ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ สร้างเสร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๖๐ แต่แทบไม่ได้ใช้เลย จอดอยู่เฉยๆ จึงเสนอขายให้ในราคาเพียง ๒๐๐,๐๐๐ ปอนด์ หรือเป็นเงินไทยในยามนั้น ๒,๑๕๐,๐๐๐ บาท ทรงพิจารณาเห็นว่าเหมาะสม จึงแจ้งมายังราชนาวีสมาคม คณะกรรมการให้ความเห็นชอบด้วย จึงทรงนำเรือออกจากท่าโดยเป็นผู้บังคับการเรือหลวงพระร่วงด้วยพระองค์เอง พร้อมด้วยนายทหารเรือไทยและเจ้าหน้าที่ประจำเรือซึ่งเป็นทหารเรืออังกฤษ ฝ่าคลื่นลมมาสู่ประเทศไทย

เรือหลวงพระร่วงเป็นเรือรบที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น ระวางขับน้ำ ๑,๐๔๖ ตัน ซึ่งไทยยังมีเรือรบระวางขับน้ำไม่ถึงพันตันแม้แต่ลำเดียว เรือพิฆาตเสือคำรณสิณธ์ลำล่าสุดมีระวางขับน้ำเพียง ๓๗๕ ตันเท่านั้น เรือตอร์ปิโด ๔ ลำที่มีอยู่ระวางขับน้ำเพียงลำละ ๙๐ ตัน ทั้งยังมีตอร์ปิโดขนาดเล็กกว่าเรือพระร่วงซึ่งมีขนาดใหญ่ถึง ๒๑ นิ้ว และมีกำลังพลประจำเรือ ๑๓๕ นาย

เรือหลวงพระร่วงออกเดินทางจากประเทศอังกฤษในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๖๐ แวะอ่าวเอเด็น ประเทศโซมาเลียและเยเมน บอมเบย์ ประเทศอินเดีย โคลัมโบ ประเทศลังกา สิงคโปร์ ถึงสันดอนปากน้ำเจ้าพระยาในวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๔๖๓ โดยไม่มีเรด้า หรือ GPS ช่วยนำทางเหมือนสมัยนี้ คงต้องอาศัยดาราศาสตร์เท่านั้น

เป็นครั้งแรกที่นายทหารเรือไทยสามารถเดินเรือทะเลข้ามทวีปได้ไกลถึงเพียงนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสในงานเลี้ยงพระราชทานเนื่องในการฉลองเรือหลวงพระร่วง ณ ศาลาสหทัยสมาคม มีความตอนหนึ่งว่า

“ ...ส่วนกรมหลวงชุมพร ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วว่า เป็นนายทหารเรือไทยคนแรกที่นำเรือรบไทยมาจากต่างประเทศได้ และที่ยากมากปานใดในการนำมานั้น และที่นำมาได้โดยสวัสดิภาพ ก็ได้แสดงให้เห็นว่า เป็นผู้ชำนาญทะเลจริง นับว่าสมควรที่จะได้รับความขอบใจของข้าพเจ้าและท่านทั้งหลาย...”
ร.ล.เสือคำรณสินธ์
ร.ล.พระร่วง นับเป็น “เรือรบของปวงชนชาวไทย” ที่ประชาชนทั่วประเทศพร้อมใจกันบริจาคทรัพย์ ซื้อเรือรบให้กองทัพ เพื่อเอาไว้ป้องกันประเทศ ได้เข้าประจำการตั้งแต่วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๖๓ จนปลดประจำการในวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๐๒ เป็นเวลาถึง ๓๙ ปี

ภารกิจสำคัญของเรือหลวงพระร่วงคือ ได้เข้าร่วมในสงครามอินโดจีนกับฝรั่งเศสในคราวเดียวกับที่เรือหลวงธนบุรีได้สร้างวีรกรรมในยุทธนาวีที่เกาะช้าง และใช้เป็นเรือฝึกนักเรียนนายเรือจนปลดประจำการ

ภารกิจสำคัญอีกอย่างก็คือ เมื่อกรมหลวงชุมพรฯสิ้นพระชนม์ที่หาดทรายรี จังวัดชุมพร ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๖๖ เรือหลวงเจนทะเลได้นำพระศพจากจังหวัดชุมพร มาสู่เรือพระร่วงที่บางนา เพื่อนำมาประดิษฐานที่วังนางเลิ้ง ก่อนอัญเชิญไปพระราชทานเพลิง ณ เมรุท้องสนามหลวง


กำลังโหลดความคิดเห็น