xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 29 ก.ย.-5 ต.ค.2562

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

1.ผู้พิพากษายิงตัวเองบนบัลลังก์ศาลยะลา อาการสาหัส โพสต์เฟซอ้าง ถูกอธิบดีผู้พิพากษาแทรกแซงคดี!
(ขวา) นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลา (ซ้าย) รูปโปรไฟล์เฟซบุ๊ก “คณากร ตุลาคม”
เมื่อวันที่ 4 ต.ค. เวลา 12.50 น. ได้เกิดเหตุผู้พิพากษาใช้อาวุธปืนยิงตัวเองขณะอยู่บนบัลลังก์ ห้องพิจารณา 4 อาคารสำนักงานศาลจังหวัดยะลา หลังอ่านคำพิพากษาคดีจบลง ทราบชื่อคือ นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลา โดยกระสุนปืนเข้าที่ใต้ราวนม 1 นัด อาการสาหัส ก่อนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลศูนย์ยะลา ล่าสุด (5 ต.ค.) อาการปลอดภัย ออกจากห้องไอซียูแล้ว

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ก่อนเกิดเหตุนายคณากรใช้อาวุธปืนยิงตัวเองนั้น ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “คณากร ตุลาคม” ได้โพสต์ข้อความว่า “วันนี้ 11.15. ผมทำการ live เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบถึงการที่อธิบดีผู้พิพากษาภาค...แทรกแซงการพิพากษาคดี สั่งให้ลงโทษจำเลยทั้งห้า ทั้งที่พยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักว่าจำเลยทั้งห้ากระทำความผิด แต่ผมไม่ยอมทำตาม ผมคงถูกไล่ออกโดยไม่ได้รับบำเหน็จ ท่านสามารถเยียวยาให้ภรรยากับบุตรผมได้ โดยโอนเงินเข้า บ/ช ธนาคาร...............” นอกจากนั้น ยังได้โพสต์เอกสารคำแถลงการณ์ของนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ลงวันที่ 4 ต.ค. 2562 เกี่ยวกับการพิจารณาคดีความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีจำเลย 5 คน ก่อนที่จะมีการลบโพสต์ทั้งสองออกไป แต่มีผู้บันทึกภาพไว้ได้ โดยเนื้อหาในแถลงการณ์เป็นการเล่าถึงคดีและความอัดอั้นตันใจเนื่องจากถูกแทรกแซง และยังมีข้อเรียกร้อง 2 ข้อต่อสภานิติบัญญัติฯ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ดังนี้

1. เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติฯ ออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พระธรรมนูญศาลยุติธรรม เพื่อห้ามกระทำการตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง ทั้งห้ามกระทำใดๆ อันมีผลเป็นการแทกแซงผลคำพิพากษา 2. เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติฯ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีให้ความเป็นธรรมทางการเงินแก่ผู้พิพากษาทั่วประเทศ ซึ่งทราบว่ามีผู้พิพากษาบางกลุ่มจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้นานแล้ว แต่มีข้อขัดข้องไม่สามารถส่งออกจากศาลยุติธรรมเพื่อนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติฯ และคณะรัฐมนตรีได้

นอกจากนี้ หน้าสุดท้ายของแถลงการณ์ ยังมีข้อความระบุว่า "คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา" "คืนความยุติธรรมให้ประชาชน" "คำแถลงของผม อาจมีน้ำหนักเบาบางเหมือนขนนก แต่หัวใจผู้พิพากษาหนักแน่นปานขุนเขา จึงมอบหัวใจชั่งบนตราชู ยืนยันคำแถลง ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน"

หลังเกิดเหตุผู้พิพากษายิงตัวเองครั้งนี้ ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างมาก ถึงกระแสการแทรกแซงการทำงานของผู้พิพากษา ซึ่งต่อมา มีเพจผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า เพิ่มศักดิ์ สายสีทอง อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 โพสต์ข้อความทำนองว่า ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่มีผู้พิพากษายิงตัวเอง นอกจากนี้ยังโพสต์ในเวลาต่อมาว่า “คืนนี้ 21.00 ผมจะ live แถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องราวทั้งหมด”

ซึ่งล่าสุด (5 ต.ค.) นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ชี้แจงว่า ตนได้รับการประสานข้อมูลจากนายเพิ่มศักดิ์ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ว่า ถ้อยคำในเพจดังกล่าวไม่เป็นความจริง นายเพิ่มศักดิ์ไม่เคยมีการขี้เเจงลักษณะดังกล่าวลงในสื่อโซเชี่ยลเลย เเละเฟซบุ๊กดังกล่าวจึงไม่ใช่ของอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 9 เเต่อย่างใด

ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นกรณีผู้พิพากษายิงตัวเองว่า “เท่าที่ผมทราบข้อมูลมาทั้งหมดจากคุณคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษา หัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา และทั้งจากฝั่งจำเลยซึ่งส่งมาให้เราตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. เพื่อขอให้เราช่วยเปิดเผยต่อสังคมทั้งหมด ยืนยันว่าการตัดสินใจของคุณคณากร ไม่เกี่ยวกับเรื่องความเครียดส่วนตัวแน่นอน แต่เป็นเรื่องของการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ...ผมจะนำข้อมูลที่นายคณากร และจำเลย ส่งให้แก่เรา เปิดเผยต่อสาธารณชน สมดังเจตนารมณ์ของคณากร เพียรชนะ คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

ขณะที่นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) กล่าวถึงกรณีที่ผู้พิพากษายิงตัวเองว่า วันที่ 7 ต.ค. จะมีการประชุม ก.ต. ซึ่งตนในฐานะเลขานุการ ก.ต. จะนำเรื่องดังกล่าวรายงานที่ประชุม ซึ่งต้องดูว่า ก.ต.จะมีความเห็นอย่างไรต่อไป

มีรายงานว่า นายคณากร เพียรชนะ อายุ 49 ปี ที่อยู่ตามที่ระบุในรายงานการตรวจสอบที่เกิดเหตุ ระบุว่า อยู่บ้านเลขที่ 90/62 หมู่ 8 ต.สันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ย้ายจาก จ.ปัตตานี มาอยู่ที่ จ.ยะลา เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

2.“กอ.รมน.ฯ” แจ้งจับ 12 นักการเมือง-นักวิชาการฝ่ายค้านยุยงปลุกปั่นแก้มาตรา 1 ด้าน “ศรีสุวรรณ” ชี้เข้าข่ายกบฏ!
(ซ้าย) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ / นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ / นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (ขวา) ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านได้จัดกิจกรรมฝ่ายค้านเพื่อประชาชน สัญจรภาคใต้ โดยจัดการเสวนา “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” ที่ลานวัฒนธรรม หน้าศาลากลาง จ.ปัตตานี โดยมีแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านเข้าร่วม เช่น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่, นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ, นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ และตัวแทนพรรคเศรษฐกิจใหม่ รวมถึงนักวิชาการเข้าร่วมเสวนา

ในงานเสวนา นอกจากแกนนำฝ่ายค้านจะเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกแล้ว ยังมีการพูดชี้นำที่หมิ่นเหม่ต่อการยั่วยุให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 1 เกี่ยวกับการปกครองประเทศ ซึ่งมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ระบุว่า "ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้"

แต่ ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาดังกล่าวว่า "การแก้ปัญหาของประเทศไทย อาจไม่ต้องอยู่กันเป็นรัฐเดี่ยวหรือรวมศูนย์ก็ได้ การแก้รัฐธรรมนูญอาจแก้มาตรา 1 ด้วยก็ไม่เห็นจะแปลกอะไร"

ทั้งนี้ หลังมีการจุดประเด็นดังกล่าวในงานเสวนาของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ปรากฏว่า ได้ถูกกระแสสังคมโจมตีและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ขณะที่หลายฝ่ายมองว่า การกระทำของ ดร.ชลิตา และ 7 พรรคฝ่ายค้านเข้าข่ายความผิด

โดยนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เข้ายื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อให้อัยการสูงสุดร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ ดร.ชลิตา และ 7 พรรคฝ่ายค้านเลิกการกระทำดังกล่าว เพราะการกระทำของ ดร.ชลิตา และ 7 พรรคฝ่ายค้านในฐานะผู้สนับสนุน ซึ่งเป็นผู้ก่อการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาตรา 1 อาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นในมาตรา 116 ยังบัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดกระทำให้
ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต หรืออาจก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรืออาจทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน การกระทำของ ดร.ชลิตา และ 7 พรรคฝ่ายค้าน ซึ่งใช้สิทธิดำเนินการเกินไปกว่ารัฐธรรมนูญ หมวด 15 บัญญัติ โดยเฉพาะแนวคิดที่ย่ามใจถึงขั้นเสนอแก้ไขมาตรา 1 ดังกล่าว จึงสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดรัฐธรรมนูญและละเมิดกฎหมายที่สำคัญของชาติ

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงมิอาจปล่อยให้มีการกระทำดังกล่าวต่อไปได้ เพราะอาจเป็นอันตรายและภัยต่อความมั่นคงของชาติ จึงยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 เพื่อให้อัยการสูงสุดร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ ดร.ชลิตา และ 7 พรรคฝ่ายค้านเลิกการกระทำดังกล่าวเสีย และหลังจากนี้ 15 วัน หากอัยการสูงสุดไม่ดำเนินการตามคำร้องนี้ สมาคมจะนำความไปยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเองต่อไป

ด้าน พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการสำนักงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ได้รับมอบอำนาจจากแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 ให้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี ให้ดำเนินคดีบุคคลที่เกี่ยวข้องเช่นกันรวม 12 คน ประกอบด้วย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ , พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), นางชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลับเกษรศาสตร์, นายสมพงษ์ สระกวี , นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ, นายมุข สุไลมาน, นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย, นายรักชาติ สุวรรณ, นายอสมา มังกรชัย, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ และนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เนื่องจากบุคคลดังกล่าวได้พูดนำเสนอข้อมูลในลักษณะมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบภายในราชอาณาจักรหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

ขณะที่ฝ่ายค้านที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีอ้างว่า การกระทำของพวกตนไม่เข้าข่ายความผิดมาตรา 116 พร้อมชี้ว่า การที่ทหารแจ้งความดำเนินคดีพวกตน เป็นการหวังผลทางการเมืองเพื่อปิดปากนักการเมือง โดยเตรียมแจ้งความกลับเพื่อดำเนินคดีทหารที่แจ้งความเอาผิดพวกตนเช่นกัน

3.แก๊งงานบวชบุก รร.วัดสิงห์-ทำร้ายครู-อนาจาร นร. นอนคุก 16 คน หลังศาลพิพากษาจำคุกไม่รอลงอาญา!
ภาพเหตุการณ์กลุ่มวัยรุ่นงานบวชบุกโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2562
เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ศาลอาญาธนบุรีได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการคดีอาญาธนบุรี 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกลุ่มวัยรุ่นงานบวชที่บุกโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ คือ นายมนตรี หรือ อุ๊ พูลทรัพย์ อายุ 32 ปี กับพวก ซึ่งเป็นชายอายุตั้งแต่ 18 ปีเศษ-41 ปี เป็นจำเลยที่ 1-22 ในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญฯ หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง, ร่วมกันบุกรุกฯ โดยใช้กำลังประทุษร้าย และโดยกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป, ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นฯ โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป, กระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่า 15 ปี โดยใช้กำลังประทุษร้ายและโดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ต่อหน้าธารกำนัล, บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัดโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย รวม 7 ข้อหา โดยโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ และผู้ปกครองของนักเรียน 3 คน ในฐานะผู้เสียหายที่ 1-4 ได้ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายด้วย

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 62 เวลาประมาณ 14.30 น. ขณะที่มีการสอบ GAT/PAT ภายในโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ จำเลยทั้ง 22 คน ร่วมกันบุกรุกโรงเรียนโดยใช้กำลังประทุษร้าย และร่วมกันทำร้ายร่างกายเด็กนักเรียน และครูคุมสอบ ผู้เสียหายรวม 15 คน และยังร่วมกันทำให้ทรัพย์สินของโรงเรียนและผู้เกี่ยวข้องเสียหายรวม 2 ราย นอกจากนี้ยังร่วมกับข่มขืนใจผู้อื่นฯ ดื่มแอลกอฮอล์ในวัด และนายวัลลภ หรือ เอกไฝ นุชแฟง อายุ 32 ปี จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานกระทำอนาจารเด็กนักเรียนหญิง (ด้วยการกอดและหอมแก้ม) ซึ่งนับตั้งแต่ถูกดำเนินคดีตั้งแต่ช่วงต้นปี 62 จำเลยทั้งหมดไม่ได้รับการประกันตัว โดยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษธนบุรี

ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว ข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า คดีนี้มีพยานโจทก์เบิกความยืนยันในชั้นศาล สอดคล้องกับคำให้การในชั้นสอบสวนและบันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหา กับบันทึกการชี้ตัวของพยาน รับฟังได้ว่า มีจำเลยบางคนทำร้ายร่างกาย รปภ., ผอ.โรงเรียน ขณะที่บางคนทำลายทรัพย์สินของโรงเรียน และบางคนไล่ครูคุมสอบกับนักเรียนออกจากห้องสอบ โดยเป็นการกระทำไปสู่เจตนาร่วมกันก่อความวุ่นวายขึ้นภายในโรงเรียน เพื่อขัดขวางการสอบ และเพื่อตอบโต้ที่จำเลยทั้ง 16 คน ไม่สามารถใช้เครื่องเสียงในงานบวชได้

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งมีโทษหนักสุด และยังเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์อีกกระทงหนึ่งด้วย กับความผิดทำร้ายผู้เสียหาย 1 ราย ซึ่งถูกผลักหน้าอก แต่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย และกระทำอนาจารนักเรียนหญิง 1 รายต่อหน้าธารกำนัลด้วย

จึงพิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 16 คน โดยให้จำคุกนายมนตรี จำเลยที่ 1 และนายเอกลักษณ์ หรือ อาร์ม พูลทรัพย์ อายุ 26 ปี จำเลยที่ 18 คนละ 15 ปี 11 เดือน, นายวัลลภ หรือ เอกไฝ นุชแฟง จำเลยที่ 2 ซึ่งถูกกล่าวหากระทำอนาจารนักเรียนหญิง จำคุก 17 ปี 5 เดือน, นายชาติสยาม จันทรวิภาค อายุ 24 ปี จำเลยที่ 3 จำคุก 13 ปี 2 เดือน 15 วัน, นายณัฐพงศ์ หรือ เต้ย นุชแฟง จำเลยที่ 4, นายวรภัทร หรือ แอม พินิจปรีชา อายุ 28 ปี จำเลยที่ 10, นายจิรายุทธ หรือ บอย อาจอาสา อายุ 25 ปี จำเลยที่ 12, นายวิโรจน์ หรือ โอ คำชาย อายุ 28 ปี จำเลยที่ 15 ให้จำคุกคนละ 18 ปี 11 เดือน

นายสมชาย หรือ ปี๊ด แก้วสิมมา อายุ 26 ปี จำเลยที่ 7, นายธวัช หรือ วัช สดำพงษ์ อายุ 33 ปี จำเลยที่ 9 ให้จำคุกคนละ 13 ปี 7 เดือน 10 วัน, นายอนุกูล หรือ เอกหนัง สังข์ศรี อายุ 33 ปี จำเลยที่ 11 จำคุก 13 ปี 10 เดือน 15 วัน, นายธิติ หรือ ออฟ ไวยสุกรี อายุ 26 ปี จำเลยที่ 13 จำคุก 11 ปี 10 เดือน 15 วัน, นายเมืองแมน หรือ นาจ นิลโพธิ์ทอง อายุ 18 ปีเศษ จำเลยที่ 14 จำคุก 13 ปี 6 เดือน 20 วัน, นายขวัญชัย หรือ ขวัญ สุขเสมอ อายุ 29 ปี จำเลยที่ 17 จำคุก 19 ปี 3 เดือน, นายไน้ท หรือ ปอน จ้อยเจริญ อายุ 20 ปี จำเลยที่ 19 จำคุก 14 ปี 10 เดือน 22 วัน, นายชนะชัย หรือ กอล์ฟ ใจหล้า อายุ 25 ปี จำเลยที่ 20 จำคุก 16 ปี 4 เดือน 22 วัน โดยไม่รอลงอาญา

และให้จำเลยรวม 16 คน คือ จำเลยที่ 1-4, 7, 9-15, 17-20 ร่วมกันชดใช้เงิน 35,400 บาท ให้กับโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์, ชดใช้เงินให้กับผู้เสียหายที่ 16 จำนวน 56,142.50 บาท, ให้จำเลยที่ 1-4, 7, 10, 12, ร่วมกันชดใช้เงิน 35,737 บาท ให้กับผู้เสียหายที่ 10, ให้จำเลยที่ 15 กับที่ 17 ชดใช้เงิน 55,352.50 บาท ให้กับผู้เสียหายที่ 12

นอกจากนี้ให้จำคุกนายศรายุทธ หรือ เต๋า นุชแฟง อายุ 24 ปี จำเลยที่ 5, นายจีรศักดิ์ หรือ หนึ่ง นีละเสวี อายุ 41 ปี จำเลยที่ 6 นายชัชศิริ หรือ กล้วย แซ่โง้ว อายุ 39 ปี จำเลยที่ 8, นายสิทธิชัย หรือ ต่าย จรสุข อายุ 37 ปี จำเลยที่ 21, นายพีรพล หรือ นะ เอมชาวนา อายุ 28 ปี จำเลยที่ 22 ให้จำคุกคนละ 2 เดือน และปรับคนละ 2,500 บาท โดยโทษจำคุกนั้นให้รอลงอาญาไว้ มีกำหนด 2 ปี และพิพากษายกฟ้องนายดลราม หรือ ฟลุค เก่งวิชา อายุ 27 ปี จำเลยที่ 16

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังศาลพิพากษาจำคุกจำเลย 16 คน โดยไม่รออาญา ปรากฏว่า ไม่มีญาติของจำเลยทั้ง 16 คนยื่นขอประกันตัวแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงควบคุมตัวจำเลยทั้ง 16 คน ไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษธนบุรี

4.ศาลชั้นต้นยกฟ้อง “เปรมชัย-ภรรยา” คดีครอบครองงาช้างแอฟริกา เชื่อเป็นมรดกตกทอดและไม่เจตนาแจ้งเท็จ!
นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และนางคณิตดา กรรณสูต ภรรยา
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางคณิตดา กรรณสูต อายุ 65 ปี ภรรยาของนายเปรมชัย กรรณสูต, นายเปรมชัย กรรณสูต อายุ 65 ปี ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ น.ส.วันดี สมภูมิ อายุ 71 ปี คนใกล้ชิดของภรรยานายเปรมชัย เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันนำหรือพาของที่ยังไม่ได้เสียภาษี ของต้องห้าม เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันช่วยซ่อนเร้น หรือรับไว้ ซึ่งรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรฯ

ทั้งนี้ ในชั้นสอบสวน จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ โดยอ้างว่า เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2558 นางคณิตดา และ น.ส.วันดี ได้ร่วมกันแจ้งต่อนักวิชาการป่าไม้ ชำนาญการพิเศษ กรมอุทยานฯ ว่า ได้ครอบครองงาช้างทั้ง 4 กิ่ง ถูกต้องตามกฎหมาย พ.ร.บ.งาช้าง พ.ศ. 2558 อันเป็นทรัพย์มรดกของนางคณิตดาที่ได้มาโดยถูกต้องตั้งแต่ปี 2530 โดยมี น.ส.วันดี เป็นพยาน

ด้านศาลพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 แจ้งครอบครองงาช้างวันที่ 16 เม.ย.2558 ส่วนงาช้างแอฟริกาต้องแจ้งการครอบครองตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค.-11 มิ.ย.2558 จึงอยู่ในช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 สามารถแจ้งครอบครองงาช้างได้ทั้ง 2 ประเภท หากขณะนั้นจำเลยที่ 1 ทราบว่าเป็นงาช้างแอฟริกา ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องไปแจ้งการครอบครองว่างาช้างนั้นเป็นของไทย เนื่องจากไม่มีผลทางกฎหมายที่แตกต่างกัน

ขณะที่โจทก์มีเจ้าหน้าที่ศิลปากรเบิกความเกี่ยวกับอายุของงาช้างที่ได้ตรวจดูจากฐานไม้งาช้าง โดยระบุว่า มีอายุประมาณ 30-40 ปี จึงเชื่อว่า จำเลยที่ 1 ครอบครองงาช้างของกลางโดยมารดายกให้ และเชื่อโดยสุจริตว่า เป็นงาช้างไทย จึงเป็นเรื่องที่แจ้งการครอบครองงาช้างผิดประเภท เพราะความเข้าใจของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เรื่องเจตนาครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงยังฟังไม่ได้ว่า มีงาช้างไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน

ส่วนนายเปรมชัย จำเลยที่ 2 ถูกฟ้อง เพราะมีชื่อเป็นเจ้าบ้าน และ น.ส.วันดี จำเลยที่ 3 ถูกฟ้อง เพราะเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรองการทำแบบคำขอตามที่จำเลยที่ 1 บอกว่าได้รับงาช้างมาจากมารดา เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิด จำเลยที่ 2 และ 3 จึงไม่ได้มีเจตนาที่จะกระทำผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง พร้อมทั้งยกคำร้องที่ขอให้ริบของกลางเป็นงาช้าง 2 คู่

สำหรับขั้นตอนหลังศาลอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น อัยการสามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 1 เดือน

5.“อนุทิน” เดือด ซัดพวกเสียประโยชน์ขู่ฆ่าหมอ-นักวิชาการต้าน 3 สารอันตราย ชี้ “หน้าตัวเมีย-กระจอก”!
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
กระแสเรียกร้องให้มีการยกเลิก 3 สารเคมีอันตราย คือ พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ยังคงดังอย่างต่อเนื่อง แม้จะยังไม่ได้ข้อยุติจากทางภาครัฐ นอกจากนี้เริ่มส่อเค้าว่าจะมีการใช้ความรุนแรงกับผู้ที่ต่อต้าน 3 สารเคมีดังกล่าว ถึงขั้นมีการข่มขู่คุกคามให้หยุดการต่อต้าน

โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยอมรับว่า ถูกข่มขู่คุกคามเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2561 ที่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเฟซบุ๊ก ปรากฏว่า มีผู้แสดงความคิดเห็นรายหนึ่งว่า “หมออัปปรีย์ ไม่รู้หรือว่าไม่มีเงาหัวแล้ว” จึงได้ร้องเรียนไปยังผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลจุฬาฯ กระทั่งทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ นอกจากนี้ยังมีผู้โทรไปหา ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ด้วยถ้อยคำที่ก้าวร้าวอีกด้วย

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เผยด้วยว่า ไม่ใช่แค่ตน แต่ รศ.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล นักวิชาการ นักวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร ยังถูกข่มขู่ขณะจะขึ้นเครื่องบินมาร่วมประชุมเกี่ยวกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่กรุงเทพฯ โดยมีคนเดินตามและถามว่า “จะพูดอะไรอีกหรือ จะพูดเรื่องสารเคมีเหล่านี้ไม่ดีอย่างไรอีกหรือ” ทำให้ รศ.พวงรัตน์ กังวลจนต้องเปลี่ยนเที่ยวบินหลายครั้งกว่าจะได้เข้าร่วมประชุม นอกจากนี้กลุ่มคนที่ไม่พอใจยังบุกเข้าไปที่มหาวิทยานเรศวร บีบบังคับให้ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยขับไล่ รศ.พวงรัตน์ ออกจากสถาบัน และพยายามหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ รศ.พวงรัตน์ ได้รับทุนวิจัยอีกด้วย

ศ.ดร.ธีระวัฒน์ เผยอีกว่า ยังมีนักวิชาการที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ถูกกระทำเช่นเดียวกันอีกหลายคน ทำให้การใช้ชีวิตต้องอยู่บนความหวาดระแวง เชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่มคนที่มีผลประโยชน์จากการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ที่เครือข่ายประชาชนและนักวิชาการพยายามเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกเลิกนำมาใช้ในประเทศไทย จึงต้องทำลายความน่าเชื่อถือของข้อมูลทางวิชาการ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และทำให้ประชาชนสับสน “ไม่ต้องเชื่อเราก็ได้ แต่ขอให้ดูข้อมูลการเสียชีวิต การเกิดโรคต่างๆ เช่น มะเร็ง ความเสี่ยงกับโรคต่างๆ ที่เริ่มทวีคูณขึ้นในพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีอย่างเข้มข้น และลามไปจังหวัดต่อจังหวัด ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2562 ถึงต้นเดือน ก.ค. มีผู้เสียชีวิตจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 407 ราย ป่วย 3,067 ราย...”

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่ ศ.ดร.ธีระวัฒน์ และ รศ.พวงรัตน์ ถูกข่มขู่หลังทำงานต่อต้านสารเคมีกำจัดศัตรูพืชว่า “ไม่มีใครทำอะไรได้หรอก คนที่ไปขู่เขา มันเรียกว่า หน้าตัวเมีย กระจอก แน่จริงมานี่ มาตรงนี้ มาคุยกันเปิดเผย อย่าหลบไปขู่นักวิชาการ แต่ไปขู่มนัญญา (น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ๋) หรือมาขู่ผมนี่ หายไปไหนหมด”

ขณะที่นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะตัวแทนกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงกระแสเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีอันตรายว่า ได้โทรศัพท์หารือนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ขณะนี้ติดภารกิจอยู่ต่างประเทศแล้ว โดยนายสุริยะยืนยันชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการใช้สารเคมีดังกล่าวแน่นอน

นายประกอบ ยังแนะด้วยว่า สารเคมีทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว อยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ ดังนั้น ขอให้กระทรวงเกษตรฯ นำเสนอการเลิกใช้สารเคมีดังกล่าวต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายโดยเร็ว

ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกมาย้ำว่า ตนไม่ได้สนับสนุนการใช้ 3 สารดังกล่าวตั้งแต่เริ่มต้น และได้คุยกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีข้าราชการเข้าไปเป็นคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้วว่า พร้อมแบน 3 สารดังกล่าว และว่า การยกเลิก คือการให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณา และประธานพร้อมทั้งเลขาฯ ของคณะกรรมการวัตถุอันตรายอยู่ที่กระทรวงอุตสาหกรรม และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ก็บอกว่าพร้อมจะแบน จึงขอให้ท่านสั่งการให้ประธานและฝ่ายเลขาฯ เรียกประชุมเลยเพื่อที่จะโหวตยกเลิกมติที่ประชุมในครั้งก่อนและให้โหวตตัดสินใจไปเลยว่าจะเอาหรือไม่เอากับ 3 สารนี้

นายเฉลิมชัย ยังปฏิเสธกรณีมีข่าวว่า มีตัวแทนบริษัทนำเข้าสารเคมีด้านการเกษตรไปพบที่พรรคประชาธิปัตย์ด้วยว่า ขอให้เปิดเผยมาเลยว่าไปพบใคร ไปหาใครที่ไหน ยืนยันว่าไม่ใช่ตน และว่า ได้สอบถามทีมงานและหัวหน้าพรรคแล้ว ไม่มีใครมาพบ รวมถึงที่พรรคด้วย ดังนั้น หากใครมีข้อมูล อะไรขอให้เปิดขึ้นมาเลย ไม่ใช่ให้ตนเป็นแพะรับบาป ทั้งที่จุดยืนตนชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น