xs
xsm
sm
md
lg

สะพานเสี้ยว สะพานหก สะพานดังในอดีตที่หายไป! สะพานถ่าน จากวังไปดังเป็นย่านซ่อง!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

   ย่านสะพานผ่านพิภพลีลา เห็นสะพานเสี้ยวอยู่ด้านซ้าย เหนือสนามหลวง
สมัยเมื่อ ๗๐-๘๐ ปีก่อน ไม่มีใครในกรุงเทพฯที่ไม่รู้จัก สะพานเสี้ยว สะพานหก และสะพานถ่าน เพราะเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันหรือมีเรื่องให้พูดถึงกันทุกวัน แต่วันนี้กลายเป็นอดีตของกรุงเทพมหานครไปแล้ว

สะพานเสี้ยว เป็นสะพานโค้งรับจุดข้ามคลองที่มีแนวถนนเยื้องกันให้เชื่อมกันได้พอดี สะพานแรกเป็นสะพานข้ามคลองโรงไหมหรือคลองคูเมืองเดิม จากฝั่งสนามหลวงไปถนนจักรพงษ์และถนนเจ้าฟ้า ว่ากันว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ แล้ว ซึ่งย่านนั้นคงเป็นทางเดินเล็กๆ สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมทางเดิน ๒ ฝั่งที่ไม่ตรงกันให้ไปมาถึงกัน ต่อมาในปี ๒๔๔๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโปรดเกล้าฯให้สร้างสะพานผ่านพิภพลีลาข้ามคลองโรงไหมที่ใกล้กับสะพานเสี้ยว ได้ทรงพระราชปรารภว่า เมื่อสะพานผ่านพิภพลีลาเสร็จและเปิดให้ยวดยานผ่านไปมาแล้ว เมื่อสะพานเสี้ยวทรุดโทรมอย่างใดก็ไม่ต้องซ่อม ให้ใช้สะพานผ่านพิภพลีลาแต่สะพานเดียวเท่านั้น

ในปี ๒๔๖๓ สมัยรัชกาลที่ ๖ สะพานเสี้ยวอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม เจ้าพระยมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล มีหนังสือขอพระราชทานพระราชปฏิบัติ ว่าควรจะซ่อมหรือจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลิกเสีย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ มีพระราชกระแสแต่เพียงสั้นๆว่า “รื้อ”

แต่ก็ยังมีสะพานเสี้ยวอีก ๒ สะพานที่ข้ามคลองคูเมืองเดิม และใช้เป็นสะพานสำหรับรถรางโดยเฉพาะ สะพานหนึ่งอยู่ใกล้กับสะพานเสี้ยวเดิมนั่นแหละ เป็นของรถรางสายสามเสนที่เริ่มมาจากพาหุรัต ข้ามคลองคูเมืองเดิมที่สะพานหัวตะเข้ บ้านหม้อ และวิ่งขนานคลองมาตลอด จนมาถึงสนามหลวงจึงเลี้ยวโค้งข้ามคลองคูเมืองเดิมอีกที เข้าถนนจักรพงษ์ ผ่านบางลำพู เทเวศม์ ไปสุดปลายทางที่ท่าเขียวไข่กา บางกระบือ ต่อมามีการสร้างสะพานสำหรับคนเดินข้ามใกล้สะพานเสี้ยวรถราง แต่ไม่เสี้ยวตาม เป็นแต่ยกสูงในระดับเดียวกันให้เรือผ่านได้ โดยมีบันไดขึ้นไป ๓-๔ ขั้นเหมือนสะพานหมูที่หน้ากระทรวงมหาดไทย แม้เมื่อรถรางสายนี้เลิกกิจการ สะพานเสี้ยวรถรางถูกรื้อ สะพานคนเดินก็ยังอยู่ และเรียกว่าสะพานเสี้ยวเหมือนกัน จนเมื่อมีการสร้างสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สะพานเสี้ยวคนเดินก็หายกลายเป็นถนนบนคลองไป

สมัยนั้นเด็กๆที่นั่งรถรางขึ้นสะพานเสี้ยวจะถือว่าเป็น “สะพานเสียว” เพราะรถรางต้องเร่งเครื่องขึ้นสะพานโค้ง แล้วยังไปเฉที่กลางคลองอีก ยิ่งนั่งคันที่พ่วงข้างหลังที่สะบัดด้วย ก็ยิ่งเสียวกว่านั่งคันหน้า

สะพานเสี้ยวข้ามคลองคูเมืองเดิมอีกสะพาน อยู่ที่หลังกระทรวงกลาโหม เป็นของรถรางสายถนนตก ออกจากต้นทางที่ศาลหลักเมือง วิ่งเลียบข้างกระทรวงกลาโหมมาถึงคลองคูเมืองเดิม ก็เลี้ยวขวาข้ามคลองไปเข้าถนนอัษฎางค์ เป็นสะพานสำหรับรถรางโดยเฉพาะเช่นกัน

ต่อมาในปี ๒๔๔๐ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้ทรงมีหนังสือถึงกระทรวงโยธาธิการ ขออนุญาตสร้างสะพานข้ามคลองคูเมืองเดิม ว่าได้ตัดถนนในพื้นที่วังของพระองค์เองมาถึงคลองแล้ว จะขออนุญาตทำสะพานเคียงกับสะพานรถรางสายถนนตก ซึ่งเป็นสะพานเสี้ยวเลี้ยวโค้งข้ามไปศาลหลักเมือง จะทำเหมือนสะพานรถรางทุกอย่าง แต่กว้าง ๔ เมตร พื้นปูเต็มให้รถม้าข้ามได้ โดยจะออกเงินสร้างเองไม่ให้เปลืองงบประมาณพระราชทรัพย์ กระทรวงโยธาฯนำความขึ้นกราบบังคมทูลแล้ว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างได้

ต่อมาเมื่อมีการตัดถนนเลียบคลองคูเมืองเดิมมาถึงจุดนั้น เนินสะพานที่ออกมาจากแพร่งนราก็ขวางถนน เพราะต้องถมสูงให้ได้ระดับเดียวกับสะพานรถราง จึงถูกรื้อเชิงสะพานออกทำเป็นบันได กลายเป็นสะพานสำหรับคนเดินข้ามเท่านั้น
เมื่อรถรางสายนี้เลิกกิจการ สะพานเสี้ยวรถรางจึงถูกรื้อออก เหลือแต่สะพานเสี้ยวแพร่งนรามาจนปัจจุบัน

ส่วน สะพานหก เป็นสะพานไม้สำหรับคนเดินข้ามในแนวระนาบไม่โค้ง จึงกีดขวางการสัญจรทางน้ำที่ยังใช้กันมากในสมัยก่อน ต้องสร้างเป็นแบบพิเศษเปิดให้เรือผ่านได้ โดยใช้ลูกตุ้มเหล็กช่วยถ่วงน้ำหนักให้กระดกหรือหกได้โดยง่าย เรียกกันว่า “สะพานหกแบบวิลันดา” เอาต้นแบบมาจากสะพานในประเทศฮอลันดา ใช้กันในสมัยรัชกาลที่ ๔ และต้นรัชกาลที่ ๕ มีสร้างไว้ถึง ๖ สะพานทั้งฝั่งพระนครและธนบุรี แต่เนื่องจากเป็นสะพานไม้ที่สร้างแบบไม่แข็งแรงนัก จึงผุพังไปตามกาลเวลา จนไม่มีเหลือให้ดูเลยสักสะพาน

ครั้นเมื่อปี ๒๕๒๕ มีการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์กรุงเทพมหานครรัฐบาลจึงบูรณปฏิสังขรณ์สะพานหกขึ้นตามแบบเดิม ข้ามคลองคูเมืองเดิมที่หน้าประตูอุทยานวังสราญรมย์ ไว้เป็นอนุสรณ์
สำหรับ สะพานถ่าน มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สะพานเฉลิมวัง ๔๗ เปิดใช้ในปี ๒๔๔๓ ข้ามคลองหลอดวัดราชบพิธที่ถนนอุณากรรณ ลักษณะสะพานมีราวเป็นเหล็กดัด และมีเสาโคมไฟฟ้าทั้ง ๔ มุม ปัจจุบันคลองหลอดวัดราชบพิธ และคลองหลอดวัดราชธิดา เป็นคลองอนุรักษ์ ไม่มีการถม แต่สะพานที่ข้ามคลองทั้ง ๒ นี้ทุกสะพานถูกรื้อสร้างใหม่หมด และสร้างเป็นแบบเดียวกันทุกสะพาน ลดความโค้งลงเป็นระดับเดียวกับพื้นถนน เพราะไม่มีเรือผ่านตลองแล้ว

ที่เรียกกันว่า สะพานถ่าน ก็เพราะเดิมเป็นสะพานไม้ เป็นย่านที่มีเรือถ่านมาจอดขาย เช่นเดียวกับเรือโอ่งที่นางเลิ้ง ทั้งยังเรียกคลองหลอดตอนนี้ว่าคลองสะพานถ่านด้วย

ย่านนี้เป็นที่สร้างวังของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตรไชย พระเชษฐาของกรมหลวงเทวะวงศ์วโรประการ แต่เมื่อสร้างเสร็จยังไม่ได้เข้าประทับก็สิ้นพระชนม์ในปี ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์ฯเข้าประทับ จนสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงสร้างวังเทวะเวสม์ ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาพระราชทานให้ใหม่ จึงย้ายไปประทับวังใหม่

ต่อมาวังที่ถนนอุณากรรณนี้ได้รื้อสร้างเป็นตลาดบำเพ็ญบุญ ริมคลองสะพานถ่านที่อยู่ด้านหลังตลาดได้สร้างเป็นตึกแถวอยู่ติดถนนริมคลอง ซึ่งห้องแถวเหล่านี้ได้ถูกยึดครองเป็นย่านซ่องโสเภณีไปอย่างเปิดเผย คนหนุ่มยุคนั้นจะรู้จักสะพานถ่านอย่างดี และเป็นเรื่องที่คุยกันสนุกยิ่งกว่าสะพานเสี้ยวหรือสะพานหกเสียอีก

นี่ก็คือส่วนหนึ่งในความเป็นมาของกรุงเทพฯ ก่อนที่จะเป็นมหานครในวันนี้
                สะพานรถรางข้ามคลองคูเมืองเดิม
  สะพานเสี้ยวเลี้ยวมาจากถนนจักรพงษ์
  สะพานเสี้ยวเลี้ยวมาจากถนนจักรพงษ์
         สะพานเสี้ยวแพร่งนราในปัจจุบัน
         สะพานหก
   สะพานหกรำลึกอดีต
กำลังโหลดความคิดเห็น