เป็นที่ทราบกันว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีน้ำพระราชหฤทัยอ่อนโยน เมตตาต่อข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิด ใครทูลขอสิ่งใดแม้แต่บ้านเรือนที่อยู่อาศัย ก็ไม่ค่อยทรงปฏิเสธให้ผิดหวัง บางครั้งยังไม่สะดวกที่จะพระราชทาน ก็ทรงผัดผ่อนให้ติดค้างไว้ก่อน กลายเป็นเสมือนติดหนี้คนขอพระราชทาน อีกทั้งในรัชสมัยของพระองค์ยังเป็นยุคปลูกฝังประชาธิปไตย แม้คนไทยยังไม่ค่อยรู้จักคำนี้ก็ตาม โดยเฉพาะเป็นยุคเสรีภาพทางสื่อมวลชน มีหนังสือพิมพ์ออกในรัชสมัยของพระองค์ถึง ๑๓๐ ฉบับ รวมทั้งพระองค์เองก็ทรงออกหนังสือพิมพ์และมีคอลัมน์ประจำด้วยเช่นกัน ทรงเปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ได้เต็มที่ นักเขียนบางคนก็ไม่ได้เกรงพระราชอำนาจ ตอบโต้บทความของพระองค์ที่ทรงพระราชนิพนธ์ในพระนามแฝง ทั้งๆที่รู้กันดีว่าใครเป็นคนเขียน บ้างก็ถึงกับเหน็บแนมพระองค์ในทำนองว่าทรงเลี้ยงคนประจบสอพลอ เลี้ยงพวกเต้นกินรำกิน บ้างก็เป็นคนไม่สุจริต แต่งตั้งให้เป็นขุนนางข้าราชการมีบรรดาศักดิ์กันมากมาย แต่พระองค์ก็ไม่ทรงใช้พระราชอำนาจของกษัตริย์ในระบอบราชาธิปไตย แต่ทรงใช้ปากกาตอบโต้ปากกาด้วยกันในหนังสือพิมพ์ “ดุสิตสมิธ” ทรงแก้ข้อหาเป็นข้อๆไป คือ
ข้อที่ว่าทรงเลี้ยงคนทุจริตนั้นทรงแก้ว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะใครบ้างที่ชอบและรักคนทุจริต หากแต่ไม่รู้ก็ทรงชุบเลี้ยงไว้ เมื่อรู้แน่ชัดแล้วก็ถอดถอนลงโทษไปก็มีมาก เช่นพระยานนทิเสนกับพวก เป็นต้น ใช่ว่าจะโปรดชุบเลี้ยงคนทุจริตก็หาไม่
กรณีพระยานนทิเสนเป็นเรื่องอื้อฉาวในยุคนั้น เพราะเป็นคนโปรด มีตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงวังและเสนาธิการเสือป่า เป็นประธานออกล็อตเตอรีเสือป่า แต่คนในบ้านและพรรคพวกพระยานนทิเสนถูกรางวัลกันทั่วหน้า สอบสวนแล้วได้ความว่าพระยานนทิเสนเป็นคนบอกหมายเลขที่ถูกให้เอง คนเส้นใหญ่เลยต้องข้าคุก
ข้อที่ ๒ ที่ว่าทรงเลี้ยงคนประจบสอพลอ ทรงแก้ว่า สอพลอนั้นต้องเลือกเรื่อง ถ้าสอพลอให้ประโยชน์แก่พระองค์ก็ดี ก็ชอบ ถ้าสอพลอไร้สาระก็กริ้ว ไม่ชอบหน้าเลย เช่นพระยาภักดีอดิสัย กราบทูลว่า เจ้าพระยาพิชัยญาติตั้งบ่อนเล่นโป ก็กริ้วว่าไม่ใช่เรื่องของตัว ถึงแก่รับสั่งห้ามเข้าเฝ้าทีเดียว นี่เป็นตัวอย่าง
ข้อที่ ๓ การแต่งตั้งบรรดาศักดิ์เป็นขุนเป็นหลวงกันมากมายนั้น ก็เป็นนโยบายอย่างดีของพระองค์ที่จะผูกจิตใจให้คนจงรักภักดีมากขึ้น อีกประการหนึ่งก็เป็นการประหยัดเงินได้เป็นอย่างดีด้วย บางคนที่เป็นเศรษฐี หากได้เป็นขุนนางก็อิ่มอกอิ่มใจปลาบปลื้มเป็นที่สุด เงินเดือนก็ไม่มีอยู่แล้ว ก็ยังคอยขนเอาเข้าบำรุงรัฐบาลอยู่เรื่อยๆ ยิ่งในหลวงจะทรงทำอะไรขึ้นมา ก็ต้องแย่งแข่งกันถวายเอาหน้าเอาตากัน...ฯลฯ
ฉะนั้นการพระราชทานบรรดาศักดิ์จึงเป็นนโยบายที่ดีอย่างหนึ่ง เช่นข้าราชการทำความดีในปีหนึ่ง ควรจะได้ขึ้นเงินเดือน แต่ได้เป็นขุนเป็นหลวงเสียแล้ว เงินเดือนก็ไม่ต้องให้ (เพิ่ม)...ฯลฯ
พระองค์ทรงถือว่า การประจบเป็นการจงรักภักดี จึงต้องทรงให้ความรักตอบ ไม่แต่คน แม้แต่หมาอย่าง “ย่าเหล” ก็ยังทรงรัก
ข้อที่ ๔ ที่ว่าทรงเลี้ยงพวกเต้นกินรำกิน เช่น โขน ละคร ลิเก ก็เพราะทรงเห็นว่า คนเราทุกคนควรมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน เช่นคนมีความรู้ทางอะไร มีความสามารถแค่ไหน หากทำความดี จะได้ดีเพียงใด เหล่านี้ มิใช่ว่าจะต้องเป็นขุนนางได้เฉพาะแต่ที่เก่งทางหนังสือเท่านั้น คนที่เก่งทางใดทางหนึ่ง ก็ควรได้ดีเป็นขุนน้ำขุนนางได้เหมือนกัน จะได้ไม่น้อยเนื้อต่ำใจกว่ากัน ชื่อบรรดาศักดิ์ของท่านขุนนางผู้นั้นๆ ก็บ่งชัดแจ้งอยู่แล้วว่าเป็นขุนนางหน้าที่อะไร...ฯลฯ...ฯลฯ...ใครทำความดีก็ได้เป็นขุนนางในหน้าที่นั้นๆ ทั่วกันหมด เช่นว่า พระยาดำรงแพทยาคม พระยาแพทยพงษา ก็ต้องเป็นหมอ
พระยาประสานดุริยศัพท์ พระยาประดับดุริยกิจ พระยาประดิษฐ์ดุริยางค์ พระยาพาทย์บรรเลงรมย์ เหล่านี้ ก็บ่งชัดว่าเป็นพวกดีด สี ตี เป่า
ส่วนพวกเต้นกินรำกินก็มีชื่อว่า พระยาระบำภาษา พระยานัฏกานุรักษ์ พระยาพำนักนัจนิกร พระยาสุนทรเทพระบำ พระยารำถวายกร...ฯลฯ...ฯลฯ...เหล่านี้อยู่ในประเภทโขนละคร...ฯลฯ...”
ในยุคนั้นมีเรื่องโด่งดังเรื่องหนึ่งคือ ทรงเขียนบทความเรื่อง “โคลนติดล้อ” ลงหนังสือพิมพ์ ในนามปากกา “อัศวพาหุ” แต่มีผู้ใช้นามแฝงว่า “โคนันทวิศาล” เขียนบทความตอบโต้ในเรื่อง “ล้อติดโคลน” ว่าถ้าสารถีขับเกวียนดี ล้อก็จะไม่ตกไปจมโคลน อย่าไปโทษคนอื่นเลย ต่อมาทราบว่าคนเขียนก็คือ พระยาวินัยสุนทร (วิม พลกุล) พระธรรมนูญทหารเรือ เสนาบดีต้นสังกัดจึงทำหนังสือกราบบังคมทูล ขอปลดพระยาวินัยฯออกจากราชการ พอทอดพระเนตรเห็นหนังสือก็ตบพระหัตถ์ลงบนโต๊ะ พร้อมกับรับสั่งว่า
“ใครเป็นผู้รู้ดีว่าฉันจะไล่พระยาวินัยออกจากราชการ คนดีๆอย่างนี้ต้องเลี้ยงไว้ใช้ เขาเป็นคนมีความบริสุทธิ์ใจ มีความรู้ จึงกล้าเขียนบทความโต้ตอบฉันได้ เขาดีกว่าคนจำพวกที่คอยเอาแต่สอพลอ เห็นเจ้านายทำอะไรก็ชมว่าดีไปหมดทุกอย่าง คนดีอย่างนี้ฉันชอบ”
ในวันฉัตรมงคลต่อมา นายพลเรือตรี พระยาวินัยสุนทร เจ้ากรมพระธรรมนูญทหารเรือ ก็ได้รับพระราชทานตราทุติยจุลจอมเกล้า พร้อมด้วยพานทองเป็นเกียรติยศ และขณะที่เข้าเฝ้ารับพระราชทานนั้น ได้มีพระราชกระแสรับสั่งเบาๆว่า
“นี่แสดงว่าข้ามิได้ผูกโกรธเจ้า หรือพยาบาทในการที่เจ้าเขียนหนังสือเล่นงานข้า แต่ถือว่าเจ้าได้ช่วยข้าแสดงความคิดเห็นในการปกครองบ้านเมือง เพื่อให้ดำเนินไปด้วยดี ข้าขอขอบใจ”
ทำเอา “โคนันทวิศาล” น้ำตาคลอ
นี่ก็เป็นบทบาทหนึ่งของกษัตริย์ไทยที่ทรงวางรากฐานประชาธิปไตยและเสรีภาพของประชาชน