ตอนนี้คนกรุงเทพฯกำลังชื่นชมรถไฟฟ้า เปิดเดินไปถึงที่ไหนคอนโดและหมู่บ้านจัดสรรก็เกิดขึ้นไปตลอดสองข้างทาง ถือกันว่าเป็นย่านเจริญไปไหนมาไหนได้สะดวก รัฐบาลก็พยายามจะขยายไปทั่วเมืองและออกไปถึงชานเมือง เพื่อขายเมืองออกไป ที่สำคัญอ้างว่าแก้ปัญหาการจราจรได้อย่างดี แต่ขอโทษที เราเคยมีรถไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี ๒๔๓๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แล้ว ว่าเป็นรถไฟฟ้าสายแรกของโลกเสียด้วย แต่ได้เลิกไปเมื่อปี ๒๕๑๑ ด้วยสาเหตุกีดขวางการจราจร เพราะไม่ได้วิ่งลอยฟ้าหรือมุดลงดินเหมือนสมัยนี้ แต่วิ่งบนผิวการจราจร บางแห่งก็เป็นจระเข้ขวางคลองวิ่งกลางถนนซะเลย
ตอนที่สร้างถนนเจริญกรุงหรือที่ฝรั่งเรียกว่า “นิวโรด” เสร็จในปี ๒๔๐๗ มีผู้ใช้สัญจรไปมามาก ฝรั่งหัวใส ๒ คน ชื่อ นายจอห์น ลอฟตัส เป็นชาวอังกฤษ เข้ามารับราชการเป็นช่างทำแผนที่ กับนายอันเดรีย ดูเปล ริเดธิเชอเลียว ชาวเดนมาร์ค เข้ามารับราชการเป็นกัปตันเรือพระที่นั่งเวสาตรี ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระยาชลยุทธโยธิน เห็นว่าถ้าเปิดเดินรถรับส่งผู้โดยสารในถนนสายนี้ ก็จะเป็นธุรกิจที่ดีไม่น้อย และเพื่อให้แน่ใจจึงทำการสำรวจตัวเลขก่อน
วิธีที่ฝรั่งทั้ง ๒ ชาติจากยุโรปใช้สำรวจในครั้งนี้ ก็นับว่าเก๋ไก๋ไม่เบา เอาเม็ดมะขามใส่ชามใหญ่วางไว้ตรงกลาง แล้วเอาชามเล็กอีก ๒ ชามวางไว้ข้างละชาม เมื่อมีคนเดินไปทางขวา ก็หยิบเม็ดมะขามจากชามใหญ่ใส่ลงไปในชามทางขวาเม็ดหนึ่ง เมื่อมีคนเดินไปทางซ้าย ก็หยิบใส่ชามซ้ายเม็ดหนึ่ง
ทำการสำรวจแบบนี้อยู่ ๓ วัน ก็ได้ตัวเลขว่ามีคนขึ้นล่องในถนนนิวโรดต่อวันเป็นจำนวนที่น่าสนใจทีเดียว จึงได้ร่วมกันยื่นขอสัมปทานเดินรถราง หรือ “แตรมเวย์” ซึ่งคนไทยเรียกว่า “รถแตรม” ขึ้นในปี ๒๔๓๐ โดยยื่นขอรวมกัน ๗ สายทั่วกรุงเพื่อกันคนอื่นสร้างตามด้วย รัฐบาลได้ให้สัมปทานเป็นเวลา ๕๐ ปี โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องสร้างสายที่ ๑ ให้เสร็จภายในเวลา ๕ ปี ส่วนอีก ๖ สายต้องสร้างให้เสร็จในเวลา ๗ ปี
รถรางสายแรกเปิดบริการในวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๔๓๑ หรือเมื่อ ๑๓๑ ปีก่อน โดยเริ่มจากบางคอแหลม ถนนตก ซึ่งตอนนั้นยังเป็นสวน มาตามถนนเจริญกรุง สุดปลายทางที่ศาลหลักเมือง ข้างศาลายุทธนาธิการ หรือกระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน เป็นระยะทาง ๖ ไมล์ ผ่านท่าเรือ บริษัทการค้า และที่อยู่ของชาวยุโรป ในย่านถนนตก บางรัก สี่พระยา มาตลอด
รถรางในระยะเริ่มแรกนี้ ใช้รถเล็ก ๔ ล้อเทียมด้วยม้า และมีสถานีเปลี่ยนม้าเป็นระยะ แต่เมื่อคนเต็มคันม้าก็ต้องออกแรงจนน้ำลายฟูมปาก ยิ่งตอนขึ้นสะพานบางทีก็ลากไม่ไหว เป็นภาพที่น่าเวทนา ทำให้คนขึ้นรถรางน้อยลงทุกที อาจเป็นเพราะคนไทยเราเป็นคนขี้สงสาร ไม่อยากทารุณม้าก็เป็นได้ อีกทั้งค่าโดยสารรถรางตอนนั้นก็ไม่เบา มีอัตรา ๖ อัฐต่อ ๓ ไมล์ ชั้นพิเศษ หรือที่เรียกว่า “ผู้ที่นั่งอย่างวิเศษ” ก็เพิ่มอีกเท่าตัว ซึ่ง ๖๓ อัฐเท่ากับ ๑ บาทก็ดูไม่แพง แต่สมัยนั้นข้าวแกงจานละ ๑ อัฐนะขอรับ คนเลยหายเห่อรถแตรม ก็คงเหมือนกับราคารถไฟฟ้าสมัยนี้นั่นแหละ
ในที่สุดรถรางก็ขาดทุน ลาก ๒ ผู้บุกเบิกไปไม่ไหว ต้องขายกิจการให้บริษัทของคนอังกฤษมาดำเนินการต่อ โดยยังใช้ม้าลากอย่างเดิม แล้วม้าก็ลากบริษัทรถรางไปไม่ไหวอีกราย ต้องขายต่อในปี ๒๔๓๕
ผู้ดำเนินกิจการรถรางรายใหม่เป็นบริษัทของคนเดนมาร์ค ซึ่งมีสัมปทานโรงไฟฟ้าอยู่ด้วย จึงเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าแทนม้า ขึงสายไฟเปลือยเหนือรางไปตลอด มีสาแหรกเป็นแท่งเหล็กยาวติดบนหลังคาขึ้นไปรับกระแสไฟฟ้าจากสายมาเข้าเครื่อง เมื่อเปิดเดินเครื่องจะมีแสงไฟแลบและไอพุ่งแปลบออกมาจากเครื่องที่หน้ารถ ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “รถไอ” ถือได้ว่าเป็นรถไฟฟ้าสายแรกในโลก แม้แต่อังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดในด้านเทคโนโลยีคมนาคม มีรถไฟก่อนใคร ก็ยังมีรถไฟฟ้าในปี ๒๔๔๘ แอบมาลอกจากไทยไปหรือเปล่าก็ไม่รู้
กิจการถรางไฟฟ้าได้รับความนิยม ทำกำไรให้บริษัทมาก จึงมีคนอยากทำรถรางบ้าง ในปี ๒๔๔๘ เจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคนได้ร่วมกันตั้งบริษัทรถรางแข่งกับฝรั่ง ในชื่อ “บริษัทรถรางไทยทุนจำกัด” ได้รับสัมปทาน ๒ สาย คือสายรอบเมือง และสายดุสิต วิ่งจากยศเส สะพานดำ เสาชิงช้า บางลำพู จนถึงสวนดุสิต ใช้รถแบบเดียวกันแต่ทาสีแดง ให้แตกต่างจากของฝรั่งที่ทาสีเหลือง แต่ไปได้เพียง ๔ ปีก็ต้องขายกิจการไปรวมกับบริษัทฝรั่ง จนถึงวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๓ สัมปทานรถรางก็หมดลง ต้องโอนมาเป็นของรัฐบาล
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่เริ่มเปิดเดินรถรางนั้น ถนนหนทางในกรุงเทพฯยังเป็นถนนที่เรียงด้วยอิฐแดง หน้าแล้งมีฝุ่นคลุ้งกระจาย รัฐบาลจึงมีเงื่อนไขในสัญญาสัมปทาน ให้บริษัทรถรางบรรทุกน้ำไปฉีดรดถนนให้ด้วย ต่อมาได้เกิดเพลิงไหม้กรุงเทพฯบ่อยครั้ง และเป็นเรื่องใหญ่เพราะบ้านเรือนส่วนมากยังเป็นไม้ไผ่ขัดแตะมุงหลังคาจาก บริษัทไฟฟ้าสยามผู้เดินรถรางจึงตั้งหน่วยดับเพลิงขึ้น ดัดแปลงรถบรรทุกน้ำราดถนนเป็นรถดับเพลิงด้วย เพื่อช่วยทางราชการผจญเพลิง แต่ก็ช่วยได้เฉพาะในเส้นทางที่รถรางผ่านเท่านั้น
รถรางต้องวิ่งอยู่ในราง จะไปปาดซ้ายปาดขวากันไม่ได้ แต่อย่านึกว่าจะไม่ชนกัน ครั้งหนึ่งรถรางอยู่คนละสายแท้ๆ กลับชนกันยับ คนขับทั้ง ๒ คันยันว่าตัวเองไม่ผิด แต่คนผิดก็คือตำรวจจราจร
เหตุเกิดเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๓ ในเวลาราว ๘ น. รถรางเบอร์ ๑๐ สายถนนตก-หลักเมือง ลงจากสะพานเหล็กล่าง มาถึงสี่แยกสามยอด ก็พุ่งชนอย่างแรงกับเบอร์ ๑๐ เหมือนกันแต่อยู่สายรอบเมือง ทำเอาเบอร์ ๑๐ สายรอบเมืองกระเด็นตกราง เอาท้ายไปอัดกับเสาไฟฟ้า ด้านหน้าก็ถูกอัดด้วยคู่ชน ผู้โดยสารลงจากรถไม่ได้ ต้องช่วยกันงัดเอาไปส่งโรงพยาบาล
นายแบน คุณหิรัญ ฝ่ายที่พุ่งเข้าชน บอกว่าไม่ใช่ความผิดของตน เป็นเพราะตำรวจจราจรเปิดสัญญาณไฟปุบปับ จากไฟเขียวเป็นไฟแดงกะทันหัน รถลงจากสะพานมาเลยยั้งไม่อยู่
เรื่องนี้ตำรวจจราจรคงต้องเขียนใบสั่งยัดใส่กระเป๋าตัวเอง ฐานเปิดสัญญาณจราจรโดยประมาท
แม้รถรางเปิดเดินมาหลายปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังไม่เคยเสด็จประพาสทางรถราง ฉะนั้นในตอนค่ำของวันที่ ๓ กันยายน ๒๔๓๘ เวลาทุ่มเศษ จึงเสด็จพระราชดำเนินโดยรถพระที่นั่งเป็นการส่วนพระองค์ พร้อมด้วยพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอ และพระบรมวงศานุวงศ์ ไปยังศาลหลักเมือง
ขณะนั้นรถรางกำลังจะออกจากต้นทางพอดี นานฮุย ซึ่งเป็นกระเป๋ารถ เห็นขบวนเจ้านายเสด็จมา จึงบอกให้นายชม คนขับรถรอ และขอร้องผู้โดยสาร ๔ คนที่อยู่บนรถให้ลงไปรอคันหลัง
เมื่อพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จมาถึง นายฮุย นายชม ก้มลงกราบทูลเชิญให้เสด็จขึ้นประทับบนรถ ทรงมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรเครื่องจักรไฟฟ้าของรถ นายฮุยซึ่งรู้เรื่องดีจึงเปิดเครื่องให้ทอดพระเนตร รับสั่งถามว่าเหตุใดจึงมีแสงสว่างแปลบปลาบออกมาจากเครื่อง นายฮุยกราบบังคมทูลว่า เมื่อเริ่มเดินเครื่องต้องเปิดกระแสไฟ จึงมีแสงและไอพุ่งแปลบออกมา ทรงรับสั่งให้นายชมเดินหน้าถอยหลังให้ทอดพระเนตร จากนั้นก็ให้ขับไปตามทางเส้นทางจนถึงโรงไฟฟ้าของรถรางที่วัดมหาพฤฒาราม และพระราชทานรางวัลให้นายชมนายฮุยคนละ ๔ บาท
ทรงรับสั่งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมสมมตอมรพันธุ์ เข้าไปติดต่อขอทอดพระเนตรในโรงไฟฟ้า มิสเตอร์แฮนเซน นายช่างใหญ่ก็ถวายการต้อนรับด้วยความยินดี ทรงปฏิสันถารกับมิสเตอร์แฮนเซ่นด้วยภาษาอังกฤษว่า เหตุใดจึงใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ไม่ใช้ฟืน นายช่างใหญ่ก็กราบทูลว่า แกลบนั้นถูกกว่าฟืนถึง ๕๐ เท่า ทำให้ทุ่นค่าใช้จ่ายมาก
ก่อนเสด็จกลับได้พระราชทานพระหัตถ์ให้มิสเตอร์แฮนเซนสัมผัส ซึ่งนายช่างใหญ่ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตขับรถรางมาส่งเสด็จจนถึงศาลหลักเมืองด้วยตนเอง
พระพุทธเจ้าหลวงได้พระราชทานเหรียญทองคำให้มิสเตอร์แฮนเซนเป็นที่ระลึก และพระราชทานให้บริษัทรถราง ๒๐ บาท เป็นค่าโดยสาร
ต่อมาเมื่อกรุงเทพฯเจริญขึ้น มีรถยนต์วิ่งกันขวักไขว่ รถรางก็กลายเป็นเครื่องกีดขวางการจราจร ถูกยุบลงทีละสายสองสาย จนเลิกเด็ดขาดเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๑ คงเหลือที่จังหวัดลพบุรีซึ่งเปิดใช้มาตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ หลังจากใช้อยู่ ๘ ปีก็เลิกไปเหมือนกัน ด้วยสาเหตุเดียวกับในกรุงเทพฯ คือ “กีดขวางการจราจร” รถไฟฟ้าจึงสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทย ก่อนจะมาเกิดใหม่เป็นรถลอยฟ้าและมุดใต้ดิน ไม่กีดขวางใครและไม่มีใครมากีดขวาง