xs
xsm
sm
md
lg

“อุตตม” ลั่นก้าวต่อไปไทยแลนด์ 4.0 ต้องตอบโจทย์คนไทยทุกคน เศรษฐกิจเข้มแข็งทั้งระดับบน-ล่าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“อุตตม” เผยก้าวต่อไป ไทยแลนด์ 4.0 ต้องตอบโจทย์ดูแลคนไทยครอบคลุมทุกกลุ่ม เร่งใช้เทคโนโลยียกระดับอุตสาหกรรม การผลิต บริการ เกษตร ให้มีมูลค่าเพิ่มมากกว่าสินค้าต้นทาง กระจายโอกาสสู่คนทุกกลุ่ม สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก ขณะปัญหาเฉพาะหน้าจากภาวะโศรษฐกิจโลก แม้ยังไม่วิกฤติแต่ไม่ประมาท จึงต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เร็วด้วยการท่องเที่ยว จัดสวัสดิการให้ผู้มีรายได้น้อย

วันนี้ (23 ก.ย.) นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา “The NEXT Thailand 4.0 ทางออกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก” จัดโดย ibusiness.co และ ธนาคารกรุงไทย ที่โรงแรมสยามเคมปินสกี้ ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทย 4.0 เป็นยุทธศาสตร์ หรือแผนที่นำทางในการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวทันโลก ซึ่งเราเริ่มทำมา 4-5 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันมีเหตุการณ์ที่มีผลต่อการพัฒนายุทธศาสตร์ของประเทศดังกล่าว ทั้งเรื่องภายนอกที่มากระทบเรา แม้ยังไม่วิกฤต แต่เราก็ไม่วางใจ และเรื่องภายใน

นายอุตตมกล่าวว่า ก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ในบริบทใหม่ของประเทศไทยในวันนี้ ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยน เพื่อให้เราสามารถใช้ประโยชน์ สร้างประโยชน์ จากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ให้ได้อย่างเต็มที่ สร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองให้ได้ และเพื่อให้เราสามารถที่จะแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมานานได้ เพราะวันนี้การเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง เทคโนโลยี เปิดโอกาส ถ้าเราใช้ถูกใช้เป็น สามารถที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสั่งสมในเศรษฐกิจและในสังคมเราได้ อย่างครอบคลุมและทั่วถึงคนไทย ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในเมือง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

นายอุตตมกล่าวว่า ประเทศไทยวันนี้ถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้สูงของกลุ่มรายได้ปานกลางของประเทศในโลกนี้ จากเดิมเราอยู่ในกลุ่มประเทศความยากจน เราจะไปต่อกันอย่างไร จากสิ่งที่เราได้สร้างมา

สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงที่สืบเนื่องมาจากด้านเทคโนโลยี เป็นกุญแจที่จะเปิดกว้าง แล้วสร้างโอกาสใหม่ๆ ได้อย่างมากมาย และรวดเร็ว นี่ก็คือเหตุผลหลักประการหนึ่งที่ประเทศไทยต้องมีขีดความสามารถที่จะใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุค 4.0, หรือ 5.0

นายอุตตมกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาความเจริญก้าวหน้าของเรามาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นหลัก แต่เราก็ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่ การกระจุกตัวของการพัฒนา ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น สะท้อนด้วยความเหลื่อมล้ำที่มี นี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นเรื่องซึ่งมันแฝงอยู่ข้างใน ความเหลื่อมล้ำเป็นอุปสรรค บั่นทอนการที่เราจะดูแลคนไทยด้วยกันเอง สิ่งเหล่านี้ถ้าเราปรับเปลี่ยน ก็จะทำให้เป็นประโยชน์กับเราได้ นี่คือการเข้าสู่ประเทศไทย 4.0

“ในแนวความคิดผม นี่คือ 4.0 ไม่ใช่แต่เรื่องของเทคโนโลยี เทคโนโลยีสำคัญ แต่สุดท้ายต้องตอบโจทย์เรื่องของคนให้ได้ ดูแลคนให้ได้”

นายอุตตม กล่าวต่อว่า ด้านอุตสาหกรรม ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม เพราะญี่ปุ่นย้ายฐานมาอีสเทิร์นซีบอร์ด แล้วเราก็ใช้อุตสาหกรรมเหล่านี้ผลิตป้อนในประเทศ และส่งออก ประเทศเราโดยโครงสร้าง เราก็เลยพึ่งส่งออกเยอะ แต่วันนี้การเปลี่ยนแปลงของโลกทำให้เราต้องคิดแล้วว่า โครงสร้างอย่างนี้มันไปได้ไหม เราส่งออกปริมาณไม่น้อย เราได้ดุลการค้า แต่ในไส้ในเราส่งสินค้าต้นทางเยอะมาก เช่น สินค้าเกษตร ซึ่งอ่อนไหวกับราคาโลก ความต้องการในโลก เป็นธรรมชาติของมัน เพราะฉะนั้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ยกขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในเวทีโลกเป็นสิ่งที่จำเป็น

นายอุตตมกล่าวต่อว่า สิ่งที่เราจะต้องทำ ในระดับบนหมายถึงระดับอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมการผลิต บริการ ทุกอย่าง ต้องมาปรับเปลี่ยน เอาเทคโนโลยีมาใช้ เรามีอุตสาหกรรมที่เราชี้แล้วว่าเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ก็คืออุตสาหกรรมเดิมที่เรามีความสามารถอยู่แล้ว แต่ต้องขยายและต่อยอดด้วยเทคโนโลยี เกษตรเราต้องต่อยอดให้ได้ มิเช่นนั้นเราจะเหนื่อยทันที ถ้าเรายังอยู่ต้นทางมากๆ

อุตสาหกรรมใหม่ก็ต้องเร่งสร้าง ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในหลายๆ อุตสาหกรรมที่เรายังไม่ได้ทำ ยกตัวอย่าง เรื่องของสุขภาพ การดูแลสุขภาพ การดูแลผู้สูงวัย เรื่องของบริการและเอาเทคโนโลยีมาใช้ พวกนี้มหาศาล เหมาะกับคนไทยมาก โดยนิสัยคนไทยทำได้เลย

เรื่องที่ 2 ของระดับอุตสาหกรรม หนีไม่พ้นเรื่องคน ประเทศไทยจำเป็นต้องมีบุคลากรที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ 4.0 วันนี้เรามีบุคลากรในประเทศหลายกลุ่ม กลุ่มที่ทำงานให้บริษัท บริษัทดูแล บริษัทใหญ่ๆ ดูแล แต่ยังมีกลุ่มที่สำคัญมาก ก็คืออาชีพอิสระ เพราะว่าวันนี้เทคโนโลยีเป็นแต้มต่อสำคัญให้กับคนตัวเล็ก เพราะฉะนั้นเราจะให้ความสำคัญกับผู้ประกอบอาชีพอิสระ กลุ่มเอสเอ็มอี กลุ่มสตาร์ทอัพ วันนี้ต้องหันมาเน้นกำลังคนเหล่านี้ให้มากขึ้นกว่าเดิม

อีกเรื่องหนึ่ง วันนี้คนของเราต้องมีชุดทักษะให้ครบ และเราจะเน้นสายอาชีพให้มากขึ้น ปริญญาทำต่อแน่นอน แต่สายอาชีพเป็นที่ต้องการมาก แต่ก็ต้องมีชุดทักษะที่ตรง อันนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของภาคเอกชน ภาครัฐ เหมือนกัน

ส่วนระดับล่าง ที่เรียกว่าฐานรากต้องเข้มแข็งขึ้นมาด้วย เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ แต่วันนี้เศรษฐกิจโลกเป็นอย่างที่เห็น ถ้าเศรษฐกิจภายในของเราไม่เข้มแข็ง ผลกระทบหลายเท่าทวีคูณ เรากำลังดูแลประชาชนชาวไทยด้วยกันให้ครบถ้วนและครอบคลุม คนไทยจำเป็นต้องได้รับการดูแลเรื่องสวัสดิการที่สมควรจะมีที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต เราต้องการสร้างโอกาสให้กับคนไทย โดยเฉพาะระดับฐานราก โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในพื้นที่ต่างๆ

อีกเรื่องหนึ่ง คือโครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องยกระดับ ประเทศไทยได้เปรียบอยู่แล้วเรื่องที่ตั้ง เรากำลังยกระดับโครงข่ายคมนาคม โทรคมนาคมของเรา เพื่อกระจายความเจริญสู่ฐานรากในพื้นที่ให้เร็วยิ่งขึ้น และเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และนอกภูมิภาค ใช้ประโยชน์จากที่ตั้งของเราให้เต็มที่

อย่างไรก็ตาม นายอุตตมกล่าวอีกว่า มีเรื่องเฉพาะหน้า โจทย์จริงของประเทศไทย ในความเห็นส่วนตัวเศรษฐกิจโลกยังไม่วิกฤต แต่เราไม่ประมาท ประเทศไทยไม่ประมาท ส่งออกเราถูกกระทบตั้งแต่ต้นปี ผลกระทบก็หนักขึ้นเรื่อยๆ เราก็ต้องออกชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทันที เพราะเรามีบทเรียนเยอะจากในอดีต เราต้องออกชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เร็ว ให้ยาเร็ว และให้ตรงจุด ด้วยกระบวนการวิธีที่ตรงที่มีประสิทธิภาพ นี่คือสิ่งซึ่งออกมาแล้ว มาตรการการท่องเที่ยว เพราะอะไร เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประเทศไทย เดี๋ยวนี้เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ในขณะที่ความต้องการภายนอกลดลง

ภาคเกษตร ต้องมีการดูแลพี่น้องเกษตรกร ทั้งที่ถูกกระทบด้วยภัยพิบัติ และช่วยเกษตรกร เช่น ข้าว ในเรื่องของการอุดหนุนต้นทุนการปลูก เราพูดถึงการประกันรายได้ จำเป็นต้องดูแลอยู่ แต่เราหวังว่าในอนาคตเมื่อภาคเกษตรยกระดับแล้ว การดูแลเหล่านี้ก็น่าจะลดลง แล้วไปเพิ่มการลงทุนในการสร้าง ต่อยอดเกษตรอุตสาหกรรมในประเทศไทย

การดูแลสวัสดิการ ผ่านสวัสดิการของรัฐ สำหรับผู้มีรายได้น้อยนั้น มีความจำเป็นและมีคุณค่ามาก ถ้าช่วยกันได้ตรงนี้ แล้วชุดมาตรการมีอายุ เพราะเราต้องการกระตุ้นขณะนี้ เพราะฉะนั้นเป็นมาตรการเฉพาะกิจ เล็งให้ถูกกลุ่ม ใช้วิธีให้ถูก นี่คือที่มาที่ไป

“นี่คือภาพใหญ่ๆ ที่ผมอยากจะเรียนว่า ถ้าบอกว่าวันนี้เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน ฝ่าวิกฤตได้ไหม นี่คือสิ่งที่เรากำลังทำกันอยู่ และทิศทางซึ่งหากเราเดินได้ เราก็น่าจะก้าวหน้าไปได้ และบรรลุในสิ่งที่เราต้องการ สุดท้ายคือตอบโจทย์คนไทยด้วยกัน” นายอุตตมกล่าว

คำต่อคำ : อุตตม สาวนายน งานสัมมนา The NEXT Thailand 4.0 ทางออกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก

ท่านผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ กระทรวงพาณิชย์ ท่านประธานกรรมการธนาคารกรุงไทย ท่านกรรมการผู้จัดการใหญ่ ท่านผู้บริหาร ท่านผู้บริหารของกลุ่ม iBusiness จัดงานในครั้งนี้ ท่านผู้เข้าร่วมสัมมนา ท่านสื่อมวลชนทุกท่าน วันนี้ผมมีความยินดีที่ได้รับเกียรติให้มาพูดในงานสัมมนา หัวข้อ ก็อย่างที่ว่า NEXT Thailand 4.0 ทางออกเศรษฐกิจไทย ก้าวต่อไป ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก ฟังแล้วก็ซีเรียสอยู่นะ ฝ่าวิกฤตเลย น่าจะเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจอยู่ในปัจจุบันอย่างมาก ว่าเราจะไปต่อกันอย่างไร ไม่เพียงแต่ฝ่าวิกฤต ถ้ามันเป็นวิกฤตจริง วันนี้ในความเห็นผมยังไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจโลก ผลกระทบมีไหม มี ซึ่งเดี๋ยวผมขอพูดต่อไป แต่ก่อนอื่นอยากจะพูดในเรื่องประเทศไทย 4.0 ก่อน ฉายหนังย้อนหลังนิดหนึ่ง เพราะอะไร เพราะผมคิดว่านั่นคือโจทย์ที่แท้จริงที่พวกเราน่าจะต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นวันนี้

เรื่องของเศรษฐกิจโลก มีความสำคัญแน่นอน และเป็นสิ่งซึ่งเราต้องบริหารจัดการเฉพาะหน้า ซึ่งวันนี้เราทำ เมื่อกี้ท่านประธานธนาคารกรุงไทยได้เกริ่นไปแล้วว่าเรามีมาตรการ แต่ประเดี๋ยวผมจะขอเสริมตรงนั้นต่อ

ประเทศไทย 4.0 ท่านคงจะได้ยินหลายหนแล้ว ก็เรียนว่าเป็นยุทธศาสตร์ พูดง่ายๆ เป็นแผนที่นำทางในการที่เราจะพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวทันโลก เราได้ยินกัน โลก 4.0 วันนี้จะโลก 5.0 แล้วด้วยซ้ำไป ประเทศไทยก็ต้อง 4.0 เหมือนกัน ซึ่งเราเริ่มทำแล้ว เราเริ่มทำมาในช่วงหลังเป็นเวลา 4-5 ปีแล้ว ที่เราตระหนักว่าวันนี้เราต้องก้าวให้ทันโลก แต่ปัจจุบัน ก็อย่างว่าเรามีเหตุการณ์ที่มีผลต่อการพัฒนายุทธศาสตร์ของประเทศดังกล่าว

เรื่องแรกที่ได้คุยกัน เป็นเรื่องของภายนอกมากระทบเรา แต่ก็ยังไม่วิกฤต ขณะเดียวกันเราก็ไม่วางใจ เรื่องของภายใน อันนี้ผมว่าสำคัญ เรื่องของภายใน เรามีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง 19 พรรคร่วมมารวมกัน คำถามก็คือการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศรัฐบาลจะทำอย่างไร ความต่อเนื่องมีไหม เป็นคำถามสุดฮิตนะครับ ผมถูกถามคำถามนี้บ่อยมาก โดยเฉพาะถ้าพบกับผู้มาเยือนจากต่างประเทศ รัฐบาลต่างประเทศถามในทำนองนี้หมดว่า แล้วจะเดินอย่างไร ประเทศไทยเดินต่อไหม ความคาดหวัง ความสนใจในประเทศไทยมีสูง มีสูงจริงๆ เพราะฉะนั้นอันนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญภายใน

วันนี้ก็คือก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ในบริบทใหม่ของประเทศไทยในวันนี้ และท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัวเรา ถามว่าทำไมมาพูดประเทศไทย 4.0 พูดมา 2-3 ปีแล้ว หลายปีแล้ว ก็ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่กำลังเกิดขึ้น ประเทศไทยก็ต้องปรับเปลี่ยน จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน ก็เพื่อให้เราสามารถ
ที่จะใช้ประโยชน์ สร้างประโยชน์ จากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ให้ได้อย่างเต็มที่ ให้เกิดประโยชน์กับคนไทย ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งของใหม่ๆ เราก็ต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองให้ได้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงซึ่งนับวันจะมีมากขึ้น แล้วมันก็เร่งด้วย เราก็เห็นอยู่นะว่ามันเปลี่ยนเร็วมาก และสามก็คือ เพื่อให้เราสามารถที่จะแก้ไขปัญหาที่มันสั่งสมมานานได้ เพราะวันนี้การเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง เทคโนโลยี เปิดโอกาส ถ้าเราใช้ถูก ใช้เป็น สามารถที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสั่งสมในเศรษฐกิจและในสังคมเราได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราทำได้ การปรับเปลี่ยน เราก็สามารถที่จะพัฒนาต่อให้ก้าวทันโลก แล้วก็ทำได้อย่างยั่งยืน และที่สำคัญ ซึ่งผมคิดว่าสำคัญมาก ก็คือ ครอบคลุมและทั่วถึงคนไทย ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในเมือง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กลุ่มอุตสาหกรรม บริการ ไม่ใช่ ต้องบอกว่าเพื่อคนไทย การปรับเปลี่ยนครั้งนี้

ท่านอาจจะทราบว่าประเทศไทย เดิมเป็นประเทศที่เขาจัดว่าเป็นประเทศยากจน อยู่ในกลุ่มยากจน ธนาคารโลก เวิลด์แบงก์ มีการจัดกลุ่มอยู่เสมอ แต่ประเทศไทยวันนี้ไม่ใช่แล้ว ประเทศไทยวันนี้อยู่ในกลุ่มของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง แต่ถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้สูงของกลุ่มรายได้ปานกลางของประเทศในโลกนี้ แล้วเราก็มาได้ถึงกลุ่มนี้ จากกลุ่มประเทศความยากจน เพียงในระยะเวลาแค่ 1 ชั่วอายุคน 1 ชั่วอายุคน ประเทศไทยเดินมาได้ ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จของคนไทย ของรัฐบาลที่ผ่านมาทั้งหมด

ก็กลับมาอีกว่า แต่จุดนี้ที่หลายๆ อย่างมันกำลังเกิดขึ้นรอบตัวเราในขณะนี้ เราจะไปต่อกันอย่างไร จากสิ่งที่เราได้สร้างมา สำคัญที่สุดผมคิดว่าคือการเปลี่ยนแปลงที่สืบเนื่องมาจากด้านเทคโนโลยี เมื่อกี้ท่านประธานกรุงไทยก็ได้เอ่ยถึงว่าธนาคารกรุงไทยกำลังทำหลายๆ อย่างโดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นสำคัญ เป็นกุญแจที่จะเปิด เทคโนโลยีนี้เป็นกุญแจที่จะเปิดกว้าง แล้วสร้างโอกาสใหม่ๆ ได้อย่างมากมาย และรวดเร็ว นี่ก็คือเหตุผลหลักประการหนึ่งที่ประเทศไทยต้องมีขีดความสามารถที่จะใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุค 4.0, 5.0 และไม่ตกขบวน เพราะอย่าลืมว่าคนอื่นเขาเห็นภาพเดียวกัน คนอื่นในโลกนี้เห็นภาพเดียวกัน ประเทศเพื่อนๆ ในเอเชียเห็นภาพเดียวกัน แล้วเทคโนโลยีนี่ล่ะคือแต้มต่อที่มีประโยชน์มากๆ สำหรับประเทศเล็กๆ มันเป็นอย่างนั้น สำหรับประเทศเล็กๆ ถ้าใช้เทคโนโลยีเข้าถึงได้และใช้เป็น เป็นแต้มต่อสำคัญเลย เพราะฉะนั้นประเทศไทยก็จำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถขึ้นมาเหมือนกัน ในการใช้เทคโนโลยี และถ้าทำได้ ประเทศก็จะมีประสิทธิภาพ มีประสิทธิภาพในการที่จะตอบโจทย์ของคนไทย แก้ไขปัญหา อย่างที่ผมเรียนว่ามันสั่งสมมาในเรื่องของโครงสร้างเศรษฐกิจก็ตาม โยงใยไปถึงสังคมก็ตาม ท้ายแล้วก็สามารถที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของคนไทยได้

ขณะเดียวกัน ที่ผมเรียนแล้ว ความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ มีผลกระทบได้มาก เราได้ยินคำว่า disruption บ่อยขึ้น ก็สิ่งเหล่านี้ ประเทศไทยก็ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันเหมือนกัน ถ้าสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นแล้วมีผลกระทบแรงต่อความเป็นอยู่ของเรา การทำมาหากินของเรา วันนี้ท่านเห็นไหม ค้าขายออนไลน์ กระทบไหม กระทบ กระทบร้านค้าคนตัวเล็กไหม กระทบ มูลค่าการซื้อขายกลายเป็นออนไลน์ เดี๋ยวนี้สั่งนิดเดียวก็ได้ เขายอมส่ง ต่างประเทศก็เข้ามาในประเทศ ทำค้าขายออนไลน์ สิ่งเหล่านี้สามารถที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เราได้มาก แต่ผมเรียนว่า อย่าเพิ่งไปกลัว กังวลเกินเหตุ สิ่งเหล่านี้ต้องมองว่าเป็นโอกาสก่อน แต่ต้องพยายามใช้โอกาสให้ได้ ในขณะเดียวกัน ถ้าเราใช้เป็น เราก็จะมีภูมิคุ้มกันในตัวเอง แต่ถ้าเราไม่ได้ใช้ เราอยู่เฉยๆ การค้าขายออนไลน์เข้ามาในประเทศ ร้านค้าเราโชห่วย เราไม่ปรับ อันนี้ก็คือไม่มีภูมิคุ้มกัน ผลกระทบตามมาแน่นอน เพราะฉะนั้นอีกข้อหนึ่งก็คือเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกัน แล้วก็แก้ไขปัญหาที่ผมเรียนว่ามันสั่งสมมา

ที่ผ่านมา ก็ทราบว่าเราก็มีความเจริญก้าวหน้าจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นหลัก อย่างที่ผมเรียนว่าเราก้าวจากประเทศในกลุ่มของที่เป็นประเทศยากจนขึ้นมาปานกลาง แล้วก็ปานกลางรายได้สูงของในกลุ่มนั้น แต่เราก็ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่ ที่เราทราบนะครับ การกระจุกตัวของการพัฒนา ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น มันก็สะท้อนด้วยความเหลื่อมล้ำที่มี นี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นเชิงโครงสร้างซึ่งมันขึ้นในประเทศไทย และประเทศอื่นก็มี อันนี้มันเป็นเรื่องซึ่งมันแฝงอยู่ข้างใน

อย่างไรก็ดี ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ ทางด้านโอกาส สุดท้ายมันก็เป็นอุปสรรค แล้วมันก็จะบั่นทอนการที่เราจะดูแลคนไทยด้วยกันเอง สิ่งเหล่านี้ถ้าเราปรับเปลี่ยน มีแนวทาง มียุทธศาสตร์ที่จะปรับเปลี่ยน สิ่งเหล่านี้เราก็จะทำให้เป็นประโยชน์กับเราได้ นี่คือการเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ในแนวความคิดผม นี่คือ 4.0 ไม่ใช่แต่เรื่องของเทคโนโลยี เทคโนโลยีสำคัญ แต่สุดท้ายต้องตอบโจทย์เรื่องของคนให้ได้ ดูแลคนให้ได้

ด้านอุตสาหกรรม พูดถึงเศรษฐกิจก่อนแล้วกัน เพราะถ้าพูด 4.0 มันพูดได้ทุกด้าน สังคมก็ได้ การศึกษาก็ได้ แต่วันนี้มาพูดเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้าง โครงสร้างของเราเป็นโครงสร้างที่เน้นอุตสาหกรรมเดิมที่ถูกพัฒนาขึ้นมา 30 ปีมาแล้ว ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม เพราะญี่ปุ่นย้ายฐาน อีสเทิร์นซีบอร์ด รุ่งโรจน์ชัชชวาลย์ ก็คือเกิดสมัยนั้น รถยนต์ญี่ปุ่นมา อิเล็กทรอนิกส์มา เครื่องใช้ไฟฟ้ามา ตอนนั้นค่าเยนแข็ง ค่าเงินเยนแข็ง ประกอบกับญี่ปุ่นต้องการออกมานอกประเทศมากขึ้น ประเทศไทยเหมาะมาก ก็เป็นประโยชน์กับเรา เราสร้างอุตสาหกรรมพื้นฐานของเราในช่วงนั้น แล้วเราก็ใช้อุตสาหกรรมเหล่านี้ผลิตป้อนข้างในประเทศ และที่สำคัญคือส่งออก ประเทศเราโดยโครงสร้าง เราก็เลยพึ่งส่งออกเยอะ แต่วันนี้ การเปลี่ยนแปลงที่มาถึงตัวที่ผมเรียนตอนต้น มันทำให้เราต้องคิดแล้วว่า โครงสร้างอย่างนี้มันไปได้ไหมสำหรับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง เราส่งออกปริมาณไม่น้อย เราได้ดุลการค้า เราได้ดุลการค้ากับหลายๆ ประเทศ แต่ในไส้ในมาดูซิว่าส่งสินค้าอะไร เราส่งสินค้าต้นทางเยอะมาก เกษตร ซึ่งก็อ่อนไหวกับราคาโลก ความต้องการในโลก เป็นธรรมชาติของมัน

สินค้าอุตสาหกรรมที่เราส่ง ส่วนหนึ่งมีมูลค่าสูง มูลค่าเพิ่มสูง แต่เยอะเลยซึ่งยังเป็นสินค้าต้นทางอยู่ ถ้ามีการย้ายฐานการผลิต เขาพึ่งพาเราได้น้อยลงทันที หรือมีเทคโนโลยีใหม่ disruption ทำให้กระบวนการผลิตที่เราใช้มันล้าหลังขึ้นมา ล้าสมัยขึ้นมา นี่ก็กระทบกับส่งออกของเราทันที เพราะฉะนั้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ยกขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในเวทีโลก อันนี้ก็โดยตัวมันเองว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น แล้วเราทำอย่างไร ผมแบ่งเป็น 2 ส่วนง่ายๆ ระดับบน คำว่าระดับบนของผม หมายถึงระดับอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมการผลิต บริการ ทุกอย่าง อันนี้ก็ต้องมาปรับเปลี่ยนกันว่าเอาเทคโนโลยีมาใช้อย่างไร เรามีอุตสาหกรรมที่เราชี้แล้วว่าเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ก็คืออุตสาหกรรมเดิมที่เรามีความสามารถอยู่แล้ว แต่ต้องขยายและต่อยอดด้วยเทคโนโลยี รถยนต์ ไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า แน่นอน แต่ไม่ใช่แค่มาประกอบรถยนต์ไฟฟ้า เราจะไม่เป็นแค่ฐานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าให้ประเทศอื่น แต่เราต้องสามารถที่จะทำเทคโนโลยีที่สำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่ ให้เกิดในประเทศไทยให้ได้ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นที่เรามี

เกษตร เดี๋ยวผมจะขยายความ เกษตรเราต้องต่อยอดให้ได้ มิเช่นนั้นเราเป็นประเทศเกษตร เราจะเหนื่อยทันที อย่างที่ผมเรียนว่าถ้าเรายังอยู่ต้นทางมากๆ อุตสาหกรรมใหม่ก็ต้องเร่งสร้างแล้ววันนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในหลายๆ อุตสาหกรรมที่เรายังไม่ได้ทำมา ยกตัวอย่าง เรื่องของสุขภาพ การดูแลสุขภาพ การดูแลผู้สูงวัย เรื่องของบริการและเอาเทคโนโลยีมาใช้ พวกนี้มหาศาล เหมาะกับคนไทยมาก เหมาะมาก โดยนิสัยคนไทยทำได้เลย

อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์ โรโบติก เอามาใช้ในการผลิตสมัยใหม่ เอามาใช้แม้กระทั่งในเรื่องของการดูแลสุขภาพที่ผมพูดถึง อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่เราอยากจะสร้างขึ้นมา และวันนี้ก็มีจุดเริ่มต้นแล้ว ในเรื่องของโรโบติก ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการบิน สนับสนุน เราคงไม่ไปถึงสร้างเครื่องบิน แต่อุตสาหกรรมการบำรุงรักษาเครื่องบิน เครื่องยนต์ พวกนี้อยู่ในวิสัยที่คนไทยทำได้ และประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศอยู่แล้ว เหมาะมากที่เราจะสร้างอุตสาหกรรมเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ ยกตัวอย่างนะครับ

ยังมีอีก อุตสาหกรรมที่เราสร้างได้ ดิจิตอล โดยตัวมันเอง เทคโนโลยีดิจิตอล เป็นอุตสาหกรรมโดยตัวเองที่จะไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างกว้างขวาง นี่เป็นเรื่องหนึ่ง

เรื่องที่สองของระดับอุตสาหกรรม หนีไม่พ้นเรื่องคน ประเทศไทยจำเป็นต้องมีบุคลากรที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ 4.0 ของเรา ไม่ใช่คนของเราไม่เก่ง แต่คนของเราก็ต้องปรับตาม ปรับอะไร ปรับชุดทักษะ ทักษะที่มี องค์ความรู้ที่มี ให้มันตอบโจทย์ของอุตสาหกรรมที่เราจะสร้างให้ได้ วันนี้เรามีบุคลากรในประเทศหลายกลุ่ม กลุ่มที่ทำงานให้บริษัท บริษัทดูแล บริษัทใหญ่ๆ ดูแล แต่ยังมีกลุ่มที่สำคัญมาก ก็คืออาชีพอิสระ เพราะอะไร ก็เพราะว่าวันนี้เทคโนโลยีเป็นแต้มต่อสำคัญให้กับคนตัวเล็ก ประเทศเล็กๆ ขายของออนไลน์ถูกทาง ไปโลดได้เลย เพราะฉะนั้นเราจะให้ความสำคัญกับผู้ประกอบอาชีพอิสระ กลุ่มเอสเอ็มอี กลุ่มสตาร์ทอัพ วันนี้ต้องหันมาเน้นกำลังคนเหล่านี้ให้มากขึ้นกว่าเดิม คนทำงานบริษัท ไม่ใช่ทอดทิ้งนะ แต่กลุ่มเหล่านี้มีศักยภาพสูง ทำอย่างไรให้เขาเข้าถึงเทคโนโลยีโดยเร็ว ถูก ต้นทุนต่ำ แล้วให้ปลดปล่อยกำลังสมองของเขาออกมา สร้างสรรค์ออกมา แล้วใช้ให้เป็นประโยชน์

กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร เมื่อเร็วๆ นี้ นี่อธิบดีนั่งอยู่นี่ สวมหมวกสองใบ เป็นประธานธนาคารกรุงไทยด้วย ก็เลยเล่นเรื่องเทคโนโลยีเยอะ ผมไม่รู้ว่าท่านใช้โทรศัพท์รุ่นไหนนะ เห็นถืออยู่ จะมาเล่าว่า เมื่อสักสองอาทิตย์ สรรพากรเขาจัดงาน ไม่ใหญ่ไม่โต แต่เป็นงานที่ผมคิดว่าดีมาก ทีแรกเขามาเล่าให้ผมฟังและเชิญผมไป ผมฟังแล้ว เออ งานนี้ต้องไป เขาทำอะไรรู้ไหม เขาไปชวนพวกสตาร์ทอัพคนไทย สตาร์ทอัพคนไทยในประเทศไทย มาทำอะไร มาช่วยสรรพากรคิด อย่าเพิ่งตกใจนะ ไม่ได้คิดว่าจะเก็บภาษีเราได้มากขึ้นอย่างไร ไม่ใช่นะ มาคิดว่าจะบริการพวกเราอย่างไรให้เร็วขึ้น ให้สะดวกยิ่งขึ้น คือสรรพากร เขาเชิญสตาร์ทอัพคนไทยมาหลายกลุ่ม มีประสบการณ์ระดับหนึ่ง แล้วเขาโยนโจทย์ให้เลยว่างานชิ้นนี้ กลุ่มนี้ ของสรรพากร ทำอย่างไรให้มันดีขึ้น ทำอย่างไรให้ตอบโจทย์ประชาชนได้ดีขึ้น เขาเรียกว่าอะไร HackaTax มาจาก HACKATHON ใช่ไหม นี่ HackaTax เอามาเป็นกลุ่ม กี่วัน สองวัน สามวัน แล้วจัดแข่งขันด้วยนะ ไม่ใช่เสนอมาแล้วรับเลย งานชิ้นหนึ่ง โจทย์ชิ้นหนึ่ง ให้แข่งขันกัน แล้วคัดเลือกผู้ชนะมา ผมไปร่วมกับเขาวันสุดท้าย เขาทำกันเต็มที่ นี่ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ผมอยากจะเรียน ยกตัวอย่างว่า สตาร์ทอัพศักยภาพสูงมาก และวันนี้เขาได้แนวความคิดดีๆ ออกมาจาก HackaTax วันนั้น เดี๋ยวเขาเอาไปทดสอบ ทดสอบเสร็จเอามาใช้จริง สรรพากรได้ประโยชน์ ประชาชนได้ประโยชน์ สตาร์ทอัพเกิด โดยการให้โจทย์ ภาครัฐให้โจทย์ ภาคเอกชนก็ให้โจทย์อยู่แล้ว แต่นี่ภาครัฐทำ ก็จะส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐหลายๆ หน่วยทำเรื่องพวกนี้ เราก็จะเร่งขบวนการพัฒนาทำให้สตาร์ทอัพ ทำให้เอสเอ็มอีของเรา เกิดเร็วยิ่งขึ้น นี่เป็นเรื่องหนึ่ง

อีกเรื่องหนึ่ง ป้อนอุตสาหกรรม วันนี้คนของเราต้องมีชุดทักษะให้ครบ และเราจะเน้นสายอาชีพให้มากขึ้น ปริญญาทำต่อแน่นอน ตรี โท เอก แต่สายอาชีพเป็นที่ต้องการมาก เราเห็นตัวอย่างจากหลายๆ ประเทศที่สายอาชีพสามารถทำประโยชน์ในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ได้มาก อาชีวะ แต่ก็ต้องมีชุดทักษะที่ตรง อันนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของภาคเอกชน ภาครัฐ เหมือนกัน อุตสาหกรรมให้โจทย์มาเลย อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า Robotic Automation แล้วให้อาชีวะเราเข้าไปทำงาน เชื่อมตั้งแต่ต้นทางเลยว่า อุตสาหกรรมวันนี้กับภาคการศึกษา สถาบันการศึกษา ต้องใกล้ชิดมากขึ้นอีก แล้วรัฐบาลมีหน้าที่ที่จะดูแลให้เกิดความเชื่อมโยง ให้เกิดแรงจูงใจในการเชื่อมโยง ในการผลิตคนรุ่นใหม่

เมื่อสักสิบกว่าวัน ครม.เศรษฐกิจประชุม บีโอไอเสนอ มาตรการใหม่ ให้สิทธิประโยชน์กับภาคเอกชน ทั้งไทยและต่างประเทศที่ผลิตบุคลากรทางด้านสเตม ก็คือวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี Mathematic Engineering ให้พิเศษเลย จูงใจ ถ้าท่านทำเรื่องนี้ อธิบดีสรรพากร ท่านยิ้มแบบก้มหน้าหน่อยพอพูดถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษี เราให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีพิเศษถ้าบริษัทเอกชนทำเรื่องพวกนี้ จ้างคน พัฒนาคน เราให้สิทธิประโยชน์เลย เรียกว่าแพกเกจ Thailand Plus รัฐบาลเพิ่งออกไป พยายามที่จะผลักดัน พยายามที่จะส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรที่มีความพร้อมสำหรับ 4.0 จริงๆ

แล้วมันก็จะไปยึดโยงว่า งานวิจัยเพื่อให้เกิดสินค้าบริการใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง มันก็จะเกิดได้ด้วยคนไทย เราก็จะหลุดจากการที่เราขายของ ผลิตของต้นทาง เริ่มผลิตสิ่งซึ่งมีมูลค่าสูง และเป็นของเรา เวลาออกไปส่งออกไปตลาดโลก ความต้องการมันมี นี่ก็หมายถึงว่า ถ้าเรามีคน มีเทคโนโลยี เราก็สามารถสร้างของใหม่ๆ หรือนวัตกรรม นี่คือกลับไป เศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ ที่ผมเรียน ปรับโครงสร้าง ก็หมายถึงประสิทธิภาพในการสร้างนวัตกรรมของใหม่ๆ ของเศรษฐกิจไทยให้ได้ ไม่ต้องรับจ๊อบอย่างเดียว เราสร้างของเราเอง สร้างคน สร้างสินค้า สร้างบริการของเราเอง

แต่ทั้งหมดนี้ ผมเรียนท่าน ที่ผมบอกว่าผมแบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนบน อุตสาหกรรมโครงสร้างที่ไม่สมดุล ต้องปรับให้สมดุล แต่นี่ไม่ได้ตอบโจทย์สมบูรณ์ โจทย์ยังมีมากกว่านั้น เพราะว่าโจทย์ที่แท้จริงก็คือความเป็นอยู่ของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่ของภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ของคนไทยทั้งประเทศ เราก็ต้องตอบโจทย์นี้ให้ได้พร้อมๆ กัน ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

เรากำลังพูดถึงการสร้างเศรษฐกิจไทย เสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง ตั้งแต่ระดับล่างขึ้นมา ที่เรียกว่าฐานราก ปรับแล้วฐานรากต้องเข้มแข็งขึ้นมาด้วย เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของเรา แล้วก็สร้างภูมิคุ้มกันด้วยไปพร้อมกัน วันนี้ เศรษฐกิจโลกเป็นอย่างที่เห็น ถ้าเศรษฐกิจภายในของเราไม่เข้มแข็ง ผลกระทบหลายเท่าทวีคูณ เพราะเงินเข้าประเทศ รายได้ส่งออกถูกกระทบ แต่ถ้าข้างในไม่คึกคัก เศรษฐกิจไม่ซื้อขายหมุนเวียนกันเอง ความต้องการภายใน อุปสงค์อ่อนตัวลง ยิ่งหนักเข้าไปอีก ใช่ไหม เพราะฉะนั้นการสร้างให้เศรษฐกิจภายใน ตั้งแต่ฐานรากขึ้นมาเข้มแข็ง เป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน แล้วก็ทำให้ภาพครบว่าเรากำลังดูแลประชาชนชาวไทยด้วยกันให้ครบถ้วนและครอบคลุม

เรื่องแรก ผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนต้องการมีหลักประกันในชีวิตที่เพียงพอ หลักประกันในชีวิตเรื่องของอาชีพ เรื่องของสุขภาพ เรื่องของการศึกษาก็ตาม นี่คือที่มาว่า คนไทยจำเป็นต้องได้รับการดูแลเรื่องสวัสดิการที่สมควรจะมี ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต อันนี้ต้องดูแล ถ้าเราดูแลคนไทยด้วยกันตั้งแต่สวัสดิการ เราก็จะมีบุคลากรพวกเราเองที่เข้มแข็ง ที่เป็นพลัง มิเช่นนั้นถ้าเรายังอ่อนแอ หลักประกันไม่มี กังวล ความเป็นอยู่ยังไม่ดี การปรับเปลี่ยนจะยากมาก โดยเฉพาะระดับฐานราก เรากำลังพูดถึงผู้มีรายได้น้อย ยากมาก ฉะนั้นเราต้องการสร้างโอกาสให้กับคนไทย โดยเฉพาะระดับฐานราก ชุมชนจะเป็นศูนย์กลาง ในพื้นที่ต่างๆ ลองคิดถึงเกษตรก็ได้ ถ้าวันนี้เรายังอยู่เกษตรต้นทางมากๆ ก็อย่างว่า มูลค่าเพิ่มน้อย แต่วันนี้เราเริ่มที่จะพยายามสร้างมูลค่าให้มากขึ้นจากสินค้าเกษตร ก็ต้องมาสร้างกันอย่างจริงจังในห่วงโซ่การผลิตที่ขึ้นมาจากเกษตรต้นทาง ทำอย่างไรให้มีสินค้าเกษตรที่เพิ่มมูลค่าสูงๆ และเป็นที่ต้องการของตลาด นี่เรื่องซีเรียสเลย แต่ไม่เพียงเท่านั้น ถ้าเราพูดถึงความเข้มแข็งของชุมชนที่ผมเรียนว่าชุมชนเข้มแข็ง ฐานรากเข้มแข็ง นี่คือฐานของเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ แล้วข้างบนต่อยอดด้วยอุตสาหกรรม เทคโนโลยี

เรื่องของเกษตร ก็ต้องยึดโยงกับวิสาหกิจชุมชน การทำธุรกิจระดับชุมชน ยึดโยงกับเรื่องท่องเที่ยว แทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน ลองคิดภาพว่า ถ้าหน่วยงานของรัฐด้วยกันหมด ไม่คำนึงว่ากระทรวงไหน จับมือกัน แล้วสร้างแนวทางด้วยกัน ลงไปเลย แต่ละชุมชน เขาเด่นทางไหน วิถีเขาเป็นอย่างไร ต้องการอะไร เรามีคำชี้แนะ มีกำลังไปช่วย ทั้งเรื่องเทคโนโลยี เรื่องทักษะ เรื่องเงินทุน อย่างนี้ความเข้มแข็งจะเกิดทันที ไม่ใช่ของใหม่ หลายประเทศทำแล้วประสบความสำเร็จ เดิมเลย ญี่ปุ่นเริ่มเรื่องพวกนี้เลย เกษตรญี่ปุ่นถึงมีความร่ำรวยมั่งคั่งอยู่ ประเทศจีน จากยากจนเหมือนกัน วันนี้อยู่แนวหน้า ใช้รูปแบบนี้เหมือนกัน ใช้เทคโนโลยี ดิจิตอล อี-คอมเมิร์ซ เข้าถึงพื้นที่ ยิ่งพื้นที่ของเขากว้าง และเขาสร้างความเข้มแข็งจากชุมชนขึ้นมา ประเทศไทยเราก็ทำได้ อยู่ในวิสัยเลย

เพราะฉะนั้นอันนี้ก็คงต้องเป็นสิ่งหนึ่งในการที่เราจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของเราว่า ให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง สร้างเศรษฐกิจภายในให้เข้มแข็ง เทคโนโลยีจากข้างนอกเอาเข้ามา มีแรงจูงใจ ให้เทคโนโลยีเข้ามา ไม่ใช่แต่เงินทุน เงินทุนเป็นสิ่งที่ต้องการอยู่แล้ว เพราะเราลงทุนมาก แต่เราจะไม่เอาแต่เงินทุน แต่เราต้องการเทคโนโลยีให้เข้ามาแล้วเกิดการกระจายของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วและกว้างขวางในประเทศไทย นี่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะทำให้เกิดการกระจาย ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่ในบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้น แต่เข้ามาแล้วกระจายให้ถึงคนตัวเล็ก ยกตัวอย่างภาครัฐ สรรพากร กระจายโจทย์ กระจายเทคโนลยีออกไป

อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือโครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องยกระดับของประเทศไทย ประเทศไทยได้เปรียบอยู่แล้วเรื่องที่ตั้ง ได้เปรียบหลายๆ ประเทศ ท่านเองก็คงเคยสัมผัส โดยเฉพาะคนจากต่างประเทศเขาพูดเลยว่าประเทศไทยนี่ที่ตั้งสุดยอด สิงคโปร์หรืออะไรก็มองไทยทั้งนั้น ว่าเราจะใช้ประโยชน์จากสถานที่ตั้งของเราได้มากน้อยแค่ไหน เรากำลังทำ เรายกระดับโครงข่ายคมนาคม โทรคมนาคมของเรา หนึ่ง เป็นการกระจายความเจริญสู่ฐานรากในพื้นที่ให้เร็วยิ่งขึ้น เร่งเศรษฐกิจฐานราก

สอง เชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และนอกภูมิภาค ใช้ประโยชน์จากที่ตั้งของเราให้เต็มที่ อันนี้ศักยภาพสูงมาก อีอีซี ไม่ได้กระโดดขึ้นมาลอยๆ เกิดขึ้นจากสิ่งเหล่านี้ ว่าประเทศไทยมีจุดเด่นเรื่องที่ตั้ง ภาคตะวันออกเป็นจุดเริ่มต้นของเราเมื่อ 35 ปีที่แล้ว วันนี้ถ้าจะขับเคลื่อน 4.0 อย่างที่ว่า ก็ต้องมีแนวความคิดแบบอีอีซี เป็นตัวช่วยเร่ง ไม่ได้ทำแต่อีอีซี เป็นตัวช่วยเร่ง เป็นตัวรวมศูนย์ของการลงทุนและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการพัฒนาคน แต่อีอีซีเองก็ถูกออกแบบให้ยึดโยงกับพื้นที่ทั่วประเทศ แนวความคิดที่จะให้เกิด เอสอีซี ทางใต้มีแล้ว แล้วก็เกิดจากคนในพื้นที่ ภาคตะวันตกเขาก็มาคุยกับผมว่า อีอีซี มี เขาไปศึกษามาแล้ว และถ้าเขามี อีอีซี แต่เป็นของภาคตะวันตก ดับเบิลยูอีซี หรือเขาจะเรียกอะไรก็ตาม มันจะเสริมศักยภาพซึ่งกันและกันได้ รูปแบบไม่จำเป็นต้องเป๊ะ เอารูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่ แต่ภายใต้แนวความคิดเดียวกันว่า เป็นพื้นที่ที่จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ การพัฒนาคน นี่คือที่มาของอีอีซี ไม่ใช่ว่าเราไปจิ้มแล้วบอกว่าชอบภาคตะวันออก รวยอยู่แล้วทำให้รวยยิ่งขึ้น ไม่ใช่ แต่ต้องคิด

ผมเชื่อว่าถ้าจะขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนประเทศไทยวันนี้ ต้องหลุดจากกรอบเดิมๆ บ้าง ต้องกล้าคิดใหม่ๆ บ้าง แล้วทำความเข้าใจกันว่าที่คิดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ มีเหตุผล มีที่มาที่ไป ของใหม่ เข้าใจก็เป็นปกติก็ต้องมีคำถาม แต่ถ้าเราเปิดกว้าง ทำความเข้าใจด้วยกัน ผมคิดว่าประโยชน์จะมีมากมายมหาศาล

ผมกลับไปเมื่อกี้ค้างไว้ เรื่องเฉพาะหน้า นี่คือที่ผมเรียนว่าโจทย์จริงของประเทศไทยในความคิดผม คือเรื่องพวกนี้ ทำอย่างไรให้เกิดภาครัฐกับภาคเอกชน ทำอย่างไรให้สิ่งที่สมควรจะเกิด มันเกิด แล้วเกิดในเวลาซึ่งไม่ช้าเกินไปนัก มันถึงจะเป็นประเทศไทย 4.0 ได้อย่างแท้จริง

กลับมาเรื่องเฉพาะหน้า เศรษฐกิจโลก ยังไม่วิกฤตในความเห็นผม แต่เราไม่ประมาท ประเทศไทยไม่ประมาท ส่งออกเราถูกกระทบตั้งแต่ต้นปี ผลกระทบก็หนักขึ้นเรื่อยๆ แรงขึ้นเรื่อยๆ ตามภาวะเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น การซื้อ ความต้องการ การซื้อ อุปสงค์มันก็เลยหดไป หลายประเทศเห็นภาพเดียวกันหมด ประเทศไทย รัฐบาลเราเข้ามาใหม่ เราก็ออกมามาตรการ ชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทันที เพราะเรามีบทเรียนเยอะจากในอดีต หลายท่านคงจำได้ ปี 2540 น่วมเลย ผมเพิ่งเข้าวงการธนาคารใหม่ๆ เข้าไปเจอปุ๊บเลย เซเลย ธนาคาร เพราะฉะนั้นวันนี้เรามีบทเรียนว่า เราต้องออกชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เร็ว ต้องออกให้เร็ว ให้ยาเร็ว และให้ๆ ตรงจุด ด้วยกระบวนการวิธีที่ตรง ที่มีประสิทธิภาพ นี่คือสิ่งซึ่งออกมาแล้ว มาตรการการท่องเที่ยว เพราะอะไร เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประเทศไทย เดี๋ยวนี้เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญเลย ท่องเที่ยวยึดโยงกับการค้าขาย ยึดโยงกับการทำธุรกิจอย่างอื่นเยอะแยะไปหมด แรงงานอยู่ในภาคการท่องเที่ยวจำนวนมาก ก็ชัดเจนว่า ถ้าเราจะกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจไทยภายใน มีความคึกคักหมุนเวียน ในขณะที่ความต้องการภายนอก สินค้าต่อสินค้าเราลดลง แต่ถ้าภายในพวกเราเองจับจ่ายใช้สอย ช่วยกันซื้อ มันก็จะประคองกันไปได้ เราก็ออกมาตรการมา ชิมช้อปใช้ ที่ท่านประธานกรุงไทยพูดถึงเมื่อกี้ ก็ธรรมดา ก็มีคำถามว่า ไปแจกของฟรีทำไม เงินภาษีพวกเรา ก็เงินภาษีผมเหมือนกัน พวกท่านเหมือนกัน เป็นอย่างนี้

ชิมช้อปใช้จริงๆ แล้วหัวใจมันอยู่ที่ว่า เราอยากให้พวกเราออกไปท่องเที่ยวเพื่อจับจ่ายใช้สอย ร้านค้าในชุมชน ร้านค้าเล็กๆ เขาจะได้อยู่ได้ ในช่วงเวลาที่มีความอ่อนไหวในช่วงนี้ ความไม่แน่นอนสูง มีความกังวลอยู่ แต่ถ้าพวกเราช่วยกัน ไปเที่ยว รัฐบาลให้ภายในวงเงิน วงเงินของพวกเราเองนะ ไม่ใช่รัฐบาลให้พวกท่าน 30,000 บาทนะ ถ้าเราไปเที่ยว เราใช้ แต่ก็มีแรงจูงใจว่าท่านให้ 30,000 รัฐบาลก็จัดกลับไปให้ 4,500 คือ 15% ถามว่าเงินไปไหน เงินก็เข้ากระเป๋าคนไทยด้วยกัน มันก็คึกคัก มันก็จะมีผลต่อเนื่อง ไม่ใช่โยนเงินไปเปล่าๆ แน่นอน เขาคิดมาแล้ว มีผู้เกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ ช่วยกันคิดว่าอะไรที่มันจะตอบโจทย์ตรง นี่ก็เป็นมาตรการหนึ่ง

ภาคเกษตร อย่างไรก็ต้องช่วย ภาคเกษตร ก็ถึงมีการดูแลพี่น้องเกษตรกร ทั้งที่กระทบ ถูกกระทบด้วยภัยพิบัติ และช่วยเกษตรกร เช่น ข้าว ในเรื่องของการอุดหนุนต้นทุนการปลูก เราพูดถึงการประกันรายได้ จำเป็นต้องดูแลอยู่ แต่เราหวังว่าในอนาคตเมื่อภาคเกษตรยกระดับแล้ว การดูแลเหล่านี้ก็น่าจะลดลง แล้วไปเพิ่มการลงทุนในการสร้าง ต่อยอดเกษตรอุตสาหกรรมในประเทศไทย

การดูแลสวัสดิการ ผ่านสวัสดิการของรัฐ ที่ผมเรียนแล้ว จริงๆ ไม่ได้มากเลย แต่สำหรับผู้มีรายได้น้อยนั้น มีความจำเป็นและมีคุณค่ามาก ถ้าช่วยกันได้ตรงนี้ เวลานี้ ผมว่าน่าจะช่วยกัน แล้วชุดมาตรการมีอายุ ไม่ใช่ให้แล้วให้ตลอดไป มีอายุ เพราะเราต้องการกระตุ้นขณะนี้ เพราะฉะนั้นก็เป็นมาตรการเฉพาะกิจ เล็งให้ถูกกลุ่ม ใช้วิธีให้ถูก นี่คือที่มาที่ไป ก็อยากจะเรียนว่านี่คือสิ่งซึ่งเรากำลังทำเพื่อบรรเทาสถานการณ์ผลกระทบซึ่งมีจากภายนอก แต่ผมเชื่อว่าเราบรรเทาได้ ได้แค่ไหนผมยังตอบไม่ได้เหมือนกัน เพราะไม่มีใครรู้ว่าเศรษฐกิจข้างนอก เศรษฐกิจโลกมันจะไปทางใด แต่เราทำอย่างเต็มที่เพื่อให้เรามีภูมิคุ้มกันที่เรามีได้ในวันนี้ ก็เป็นเรื่องของทุกภาคส่วนที่ต้องช่วยๆ กัน และต้องเข้าใจว่าวันนี้เราทำด้วยเหตุนี้ และทำเพื่อคนไทยด้วยกัน

นี่คือภาพใหญ่ๆ ที่ผมอยากจะเรียนว่า ถ้าบอกว่าวันนี้เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน ฝ่าวิกฤตได้ไหม นี่คือสิ่งที่เรากำลังทำกันอยู่ และทิศทางซึ่งหากเราเดินได้ เราก็น่าจะก้าวหน้าไปได้ และบรรลุในสิ่งที่เราต้องการ สุดท้ายคือตอบโจทย์คนไทย ตอบโจทย์คนไทยด้วยกัน ตัวเลข เป็นเพียงตัวเลขรวม จีดีพีดูไหม ดู ก็เป็นตัวชี้รวม แต่จริงๆ แล้วจีดีพีเท่าไรก็ตาม คนไทยมีความสุขหรือเปล่า สุขแค่ไหน ผมคิดว่าอันนั้นเป็นโจทย์หลักของประเทศไทยในวันนี้ และเป็นโจทย์สำคัญของประเทศไทย 4.0

ต้องขอขอบพระคุณทางผู้จัดงานอีกครั้ง และทุกท่านที่สละเวลามาร่วมกันในวันนี้ ขอบคุณครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น