คำพยากรณ์ชะตาบ้านเมืองซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ก็คือ “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” เป็นบทร้อยกรองเกี่ยวกับการทำนายเหตุการณ์บ้านเมืองในสมัยกรุงศรีอยุธยา คาดว่าแต่งขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททองและสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ไม่ปรากฏตัวตนผู้แต่ง
นอกจากนี้ยังมีคำพยากรณ์ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๑๐ อีก ๒ ฉบับ ฉบับหนึ่งแต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา อีกฉบับหนึ่งแต่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แต่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันมาก อีกทั้งผู้แต่งก็เป็นเจ้าประคุณระดับสมเด็จด้วยกันทั้งสององค์ และชื่อก็ยังใกล้เคียงกันอีก
ฉบับสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้นว่าเป็นของ “สมเด็จโต” สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี และมีที่มาว่า
หลังจากที่ “สมเด็จโต” มรณภาพเมื่อเที่ยงคืนวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๑๕ ในรัชกาลที่ ๔ เช้าวันรุ่งขึ้น นายอาญาราช (อิ่ม) ศิษย์ก้นกุฏิได้เข้าไปเก็บกวาดในกุฏิ ก็พบกระดาษแผ่นหนึ่งซุกอยู่ใต้เสื่อ มีลายมือของท่านเขียนคำไว้ ๑๐ คำว่า
“มหากาฬ พาลยักษ์ รักมิตร สนิทธรรม จำแขนขาด ราษฎร์จน ชนร้องทุกข์ ยุคทมิฬ ถิ่นกาขาว ชาวศิวิไลซ์”
จึงตีความกันว่าเป็นคำพยากรณ์บ้านเมืองของท่าน
ก่อนหน้านั้นก็มีคำพยากรณ์ชะตาเมืองที่มีข้อความใกล้เคียงกันนี้อีกฉบับหนึ่ง ซึ่งแต่งขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ใย) หรือ “หลวงพ่อใย” ว่าเป็นอรหันต์องค์หนึ่งของกรุงศรีอยุธยา ได้พยากรณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์ไว้ ๑๐ รัชกาลคือ
รัชกาลที่ ๑ มหากาฬผ่านมหายักษ์
รัชกาลที่ ๒ รู้จักธรรม
รัชกาลที่ ๓ จำต้องคิด
รัชกาลที่ ๔ สนิทธรรม
รัชกาลที่ ๕ จำแขนขาด
รัชกาลที่ ๖ ราษฎร์ราชาโจร
รัชกาลที่ ๗ นั่งทนทุกข์
รัชกาลที่ ๘ ยุคทมิฬ
รัชกาลที่ ๙ ถิ่นกาขาว
รัชกาลที่ ๑๐ ชาววิไล
ซึ่งแตกต่างจากของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี อยู่ ๕ ยุค คือ
ฉบับของกรุงศรีอยุธยานี้นำมาเปิดเผยไว้ในหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ แจกจ่ายในหมู่ศิษยานุศิษย์ของ “หลวงพ่อฤาษีลิงดำ” โดยนำคำบรรยายธรรมของท่าเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ เรื่อง “พยากรณ์กรุงรัตนโกสินทร์” มาพิมพ์
มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“...ในสมัยที่อาตมาอยู่กับหลวงพ่อปาน ปีนั้นจำได้ว่า เป็นปี พ.ศ.๒๔๘๐ หลวงพ่อปานไม่อยู่...กุฏิหลวงพ่อปาน กุฏิหลวงพ่อเล็ก ๒ กุฏินี้ไม่มีใครเขากล้าค้น...หนังสือในกุฏิหลวงพ่อเล็กมีมาก มี ๒ ตู้ใหญ่ๆ เป็นหนังสือสมุดข่อย สงสัยไปได้สมุดข่อยกะรุ่งกะริ่ง แต่มีใจความน่าคิด เอามานั่งอ่าน สนใจ หนังสือฉบับนั้นเขียนไว้ หนังสือขาด ข้อความก็ขาด เป็นอันว่า เป็นคำพยากรณ์ของพระอรหันต์สมัยอยุธยา พยากรณ์ไว้ตั้งแต่กรุงเทพฯยังไม่ปรากฏ
ในหนังสือนั้นเขาว่ายังงี้นา ถ้าโกหกก็โกหกด้วยกัน ถ้าหนังสือโกหก อาตมาก็โกหก แต่ไม่มีเจตนาโกหก พูดตามหนังสือนี่ จะปรับเป็นโทษก็ตามใจซีพ่อคุณ จะเอาเทวดาที่ไหนมาปรับก็เชิญเถอะพ่อคุณเอ๊ย...”
และอีกตอนหนึ่ง
“...จนกระทั่งหลวงพ่อปานกลับมา ก็เข้าไปกราบเรียนท่าน เวลาที่ท่านว่างแขก สบายใจ ถามว่า หลวงพ่อขอรับ กระผมได้หนังสือนี้มาฉบับหนึ่ง แต่ทว่าข้อความมันขาดหายไปเสียหมด ปะติดปะต่อกันไม่ได้ แต่ข้อความจับใจมาก อยากทราบว่า หลวงพ่อทราบข้อความนี่ไหม หลวงพ่อก็ถามถึงข้อความจุดหนึ่ง อาตมาก็พูดให้ฟัง ท่านเลยบอกว่า มีลูกมี หนังสือฉบับนี้พ่อเห็นมาก่อนแล้วเหมือนกัน สมัยนั้นมันยังสมบูรณ์อยู่ แต่ทว่ามันผุเต็มที หนังสือนี้เป็นสมบัติของหลวงปู่คล้าย ท่านเอามาจากไหน หลวงพ่อก็ไม่ทราบเหมือนกัน ท่านก็เลยจ้างเขาเขียนไว้ในสมุดข่อยอีกเล่มหนึ่ง แล้วหลวงพ่อสั่งให้ไปหยิบหนังสือเล่มนั้นจากกุฏิของท่าน ท่านซุกไว้ใต้ตู้นาฬิกา เอาผ้าสีแดงห่อเข้าไว้”
คำพยากรณ์ทั้ง ๒ ฉบับนี้ ขยายความได้ว่า
สมัยรัชกาลที่ ๑ ที่เป็นยุค “มหากาฬ” หรือ “มหากาฬผ่านมหายักษ์” นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงปราบปรามการจลาจลวุ่นวายในกรุงธนบุรีเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชวิกลจริต เกิดความขัดแย้งกันมาก จึงต้องใช้ความเด็ดขาดปราบปรามและปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ ทรงสร้างความสงบสุขกลับมาสู่บ้านเมืองอีกครั้ง ผ่านความเลวร้ายครั้งใหญ่ของบ้านเมืองไปได้
สมัยรัชกาลที่ ๒ นั้นไม่เหมือนกัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ใย) ว่าเป็นยุค “รู้จักธรรม” ส่วนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ว่าเป็นยุค “พาลยักษ์” สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นั้นท่านมีชีวิตอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ด้วย ได้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดอหิวาต์ระบาดครั้งรุนแรง ศพลอยเกลื่อนตามลำน้ำจนใช้อาบกินไม่ได้ บ้านเมืองเงียบสงบเหมือนเป็นเมืองร้าง เหมือนมียักษ์มารมาผลาญชีวิตผู้คนในพระนคร ส่วนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ใย) ท่านว่า “รู้จักธรรม” เพราะพยากรณ์ไว้ว่าบ้านเมืองจะสงบ ทำให้พระสงฆ์มีเวลาสะสางพระไตรปิฎก ค้นคว้าพระธรรมวินัยมารวบรวมไว้
สมัยรัชกาลที่ ๓ สมเด็จโตท่านว่า “รักมิตร” แต่สมเด็จใยท่านว่า “จำต้องคิด”
สมเด็จโตท่านมีชีวิตอยู่ในช่วงรัชกาลที่ ๓ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ที่ชาวตะวันตกซึ่งหายไปจากเมืองไทยเมื่อสิ้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้เริ่มกลับเข้ามาใหม่ ทั้งอังกฤษและอเมริกาได้ส่งทูตเข้ามาขอทำสัญญาพระราชไมตรี ทั้งไทยยังส่งทหารไปช่วยรบกับพม่าตามคำขอของอังกฤษ ส่วนที่สมเด็จใยพยากรณ์ไว้ว่า “จำต้องคิด” ก็ต้องถือว่าถูกอีก เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงเห็นว่า การเปิดประตูประเทศให้ฝรั่งเข้ามาเพียงไม่กี่คนก็ยังก่อความวุ่นวายขึ้นมาก จะขอโน่นจะเอานี่ แม้แต่อังกฤษจะมอบดินแดนของพม่าที่ตีได้เมื่อไทยไปช่วยรบ ท่านก็ไม่รับ เพราะทรงเกิดความไม่ไว้ใจอังกฤษ ทรงเก็บเงินกำไรจากการค้าสำเภาใส่ถุงแดง รับสั่งว่า “เอาไว้ไถ่ประเทศ” ก็ได้ใช้ไถ่จริงๆจากฝรั่งเศส แม้ขณะประชวรหนักก่อนสวรรคตยังทรงเรียกพระยาศรีสุริยวงศ์ ขุนนางคนสนิท ไปเตือนสติไว้ว่า “การศึกข้างญวนข้างพม่าเห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่พวกข้างฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะร่ำเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่านับถือเลื่อมใสไปทีเดียว” ท่านทรงเห็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าวิตกเกิดในรัชสมัยของท่าน จึงทรงคิดหนัก
รัชกาลที่ ๔ คำพยากรณ์ของสองสมเด็จตรงกันที่ว่า “สนิทธรรม” สมเด็จโตนั้นท่านเป็นคู่ถกคู่เทศน์กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ทรงผนวชจนขึ้นครองราชย์ จึงรู้แน่ว่ายุคนี้เป็นยุคสนิทธรรม แต่สมเด็จใยท่านพยากรณ์มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่รู้ว่ากษัตริย์พระองค์ที่ ๔ ของกรุงรัตนโกสินทร์นั้นได้ทรงลาผนวชจากเจ้าอาวาสมาขึ้นครองราชย์ และยังเคร่งครัดทรงชุดขาวถือศีล ๘ ฟังธรรมทุกวันพระ ต้องถือว่าท่านแม่นจริงๆ
รัชกาลที่ ๕ “จำแขนขาด” ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นยุคขมขื่นใจสำหรับราชอาณาจักรไทยอีกครั้งหนึ่งจากลัทธิล่าอาณานิคมของอังกฤษ ฝรั่งเศส ที่เข้ายึดครองประเทศรอบด้านเป็นอาณานิคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้นโยบายสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต จึงถูก ๒ มหาอำนาจเชือดเฉือนดินแดนไปรอบด้าน เหมือนจำต้องแขนขาด
รัชกาลที่ ๖ สมเด็จโตท่านว่าเป็นยุค “ราษฎร์จน” แต่สมเด็จใยท่านว่าเป็นยุค “ราษฎร์ราชาโจร” ซึ่งความหมายก็ไม่ต่างกันนัก อธิบายความหมายกันไว้ว่า ในยุคนี้พระเจ้าอยู่หัวทรงมีน้ำพระทัยกว้างขวาง เมตตาต่อข้าราชบริพารเป็นพิเศษ ทำให้ข้าราชบริพารบางคนฉวยโอกาสกอบโกยความมั่งคั่ง จนเศรษฐกิจที่ต้องใช้พระราชทรัพย์มากในรัชกาลที่ ๕ มาแล้ว กลับทรุดหนักในรัชกาลนี้ ทำให้เกิดความยากจนในหมู่ราษฎร หรือเหมือนทรงเลี้ยงโจรปล้นราษฎร
รัชกาลที่ ๗ สมเด็จโตท่านว่าเป็นยุค “ชนร้องทุกข์” แต่สมเด็จใยท่านว่าเป็นยุค “นั่งทนทุกข์” ซึ่งก็ไม่ต่างกันอีก ชนร้องทุกข์มีอธิบายความหมายไว้ เป็นยุคที่เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ ไทยก็ตกหนักจนถึงไม่มีเงินจ่ายข้าราชการ ต้องดุลข้าราชการออกเพื่อลดค่าใช้จ่าย เกิดความเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า ส่วนด้านการเมืองก็เกิดความคิดต่างกัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอึดอัดพระทัยที่การเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพระราชอำนาจให้ถึงประชาชนโดยตรง จึงทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์เดียวของกรุงรัตนโกสินทร์ที่สละราชสมบัติ
รัชกาลที่ ๘ “ยุคทมิฬ” เป็นยุคทมิฬทางการเมืองที่ใช้ความรุนแรงต่อกัน พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม เพียงแค่เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในตอนนั้น ก็ถูกลอบยิงกลางสนามหลวง ยิงและวางยาพิษถึงในบ้าน แต่เมื่อไม่อาจสกัดดาวรุ่งได้ พอขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเผด็จการเต็มรูปแบบ จึงสั่งจับนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกลุ่มใหญ่ในข้อหากบฏ ซึ่งศาลพิเศษก็ตัดสินประหารชีวิตนักการเมืองคนดัง ๑๘ คนรวด จากนั้นกรุงรัตนโกสินทร์ยังถูกข้าศึกโจมตีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ สุดท้ายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็สิ้นพระชนม์ด้วยกระสุนปริศนา ซึ่งยังไม่มีความกระจ่างจนวันนี้
รัชกาลที่ ๙ “ถิ่นกาขาว” ตีความหมายว่าเป็นฝรั่ง ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นยุคที่มีฝรั่งเข้ามาเมืองไทยมากที่สุด นอกจากนักธุรกิจ ผู้เกษียณอายุที่มายึดเอาเมืองไทยเป็นเรือนตายแล้ว ยังมีนักท่องเที่ยวไหลบ่าเข้ามาอย่างมหาศาล จนเมืองไทยดังไปทั่วโลก รวมทั้งคนไทยก็พลอย “ฝรั่งจ๋า” ไปด้วย
รัชกาลที่ ๑๐ ชาวศิวิไลซ์ คำนี้ออกจะเป็นฝรั่งไปหน่อย จากคำว่า ศิวิไลซ์เซชั่น ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่เริ่มเรียนภาษาอังกฤษกันแล้ว ก็คงเป็นคำที่รู้จักกันได้ หมายถึงความเจริญรุ่งเรืองสงบสุขร่มเย็น แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จใยท่านใช้คำว่า “ชาววิไล” ซึ่งหมายถึงความงาม ก็คงจะเป็นความหมายเดียวกัน
ยุคศิวิไลซ์นี้คนสมัยก่อนท่านหมายถึง “ยุคพระศรีอาริย์” ซึ่งสมบูรณ์พูนสุข มีต้นกัลปพฤกษ์อยู่ ๔ มุมเมือง ชาวเมืองไม่ต้องทำอะไรให้เหนื่อยยาก อยากได้อะไรก็ไปที่ต้นกัลปพฤกษ์ คนสมัยก่อนบางคนตีความหมายว่าเป็นยุคโชเชียลิสม์ แต่ยุคนี้อาจจะหมายถึงบัตรสวัสดิการคนจน บัตรประกันสุขภาพ เบี้ยยังชีพคนชรา คนพิการ ฯลฯ ก็คงได้นะ
หลายคนอาจสงสัยว่า ประเทศไทยจะมีถึงรัชกาลที่ ๑๐ เท่านั้นหรือ หลวงพ่อฤาษีลิงดำได้บรรยายธรรมในครั้งที่นำมาพิมพ์นี้ด้วยว่า ท่านได้เรียนถามหลวงพ่อปานเหมือนกัน ซึ่งได้คำตอบว่า ประเทศไทยไม่ได้มีพระมหากษัตริย์แค่ ๑๐ พระองค์เท่านั้น แต่จะมีพระมหากษัตริย์อยู่คู่ประเทศไทยไปอีกจนกว่าโลกจะสลาย แต่เมื่อถึงรัชกาลที่ ๑๐ เป็นยุคชาววิไลแล้ว เป็นอันว่าจะสุขสบายด้วยประการทั้งปวง
“...การพยากรณ์นั้น ถ้าเป็นปกติก็ไม่มีใครพยากรณ์กันหรอก” ท่านว่า
นี่ก็เป็นเรื่องคำพยากรณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองเรื่องหนึ่งที่มีการบันทึกไว้ ส่วนจะเชื่อหรือไม่เชื่อแค่ไหนก็พิจารณากันตามอัธยาศัยเถอะนะ โยม