xs
xsm
sm
md
lg

ซูเปอร์โพล เผย คนไทยร้อยละ 60 รู้ กฟผ.อยู่คู่คนไทยมากว่า 50 ปี เตรียมก้าวสู่องค์การนวัตกรรมเพื่อความมั่นคง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา
50 ปี กฟผ.ก้าวสู่องค์การนวัตกรรมเพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าไทย สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เผยคนไทยส่วนใหญ่เกินกว่าครึ่ง รู้ กฟผ. อยู่คู่คนไทยมากว่า 50 ปี

“ไฟฟ้าดับ” เป็นประสบการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกหงุดหงิดและตระหนักถึงพลังงานไฟฟ้า ว่า เป็นสิ่งจำเป็นเปรียบเสมือนพลังงานให้กับการทำงานและชีวิตส่วนตัวโดยตลอดเวลา 50 ปีที่ผ่านมาของคนไทย หน่วยงานรัฐที่สำคัญในการผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน (โพล) มาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนข้อมูลการรับรู้การสื่อสารด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ กฟผ. ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน

วันนี้ (18 ก.ย.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลโพลว่า คนไทยส่วนใหญ่เกินกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 60 รู้ว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่คู่คนไทยมากว่า 50 ปี โดยส่วนใหญ่รับรู้ว่า กฟผ. พัฒนานวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า ร้อยละ 49.4 รองลงมาคือ รับรู้เรื่องโซลาร์เซลล์กึ่งใสใช้ในนาข้าวและพืชเติบโตตามปกติ ร้อยละ 41.9 และ รับรู้เรื่องการนำพลังงานไฟฟ้าที่ได้มาใช้ประโยชน์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ ร้อยละ 40.2 ที่น่าสนใจคือ ตลอดระยะเวลา 50 ปี ของ กฟผ. ประชาชนรับรู้ว่า กฟผ. มีจุดเด่นเรื่องความเชี่ยวชาญในการผลิตและรักษาความมั่นคงของระบบพลังงานไฟฟ้า ร้อยละ 38.9 รองลงมาอันดับสอง เรื่องความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า ร้อยละ 27.9 และอันดับสามเรื่องการประกอบธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้าและธุรกิจอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ ร้อยละ 15.4

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คนไทยรับรู้ว่า กฟผ.เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้า ตั้งแต่อดีตจนยุคปัจจุบันโดยมีการพัฒนาขยายการใช้ประโยชน์ของพลังงานไฟฟ้าสู่ประโยชน์สุขด้านอื่นๆ ทั้งที่จับต้องได้ (Tangible) และจับต้องไม่ได้ (Intangible) แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มเกษตรกร ได้รับประโยชน์จากระบบโซลาร์เซลล์แบบกึ่งใสใช้ในนาข้าว กลุ่มประชาชนทั่วไปใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวันในมิติต่างๆ ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รวมถึงประโยชน์ที่ จับต้องไม่ได้คือ ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดผ่านศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ.
ศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์
ในมุมมองของการสื่อสาร ศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ใน การบริหารการสื่อสาร การเสริมสร้างความใกล้ชิดและความผูกพันของสาธารณชนกลุ่มต่างๆ ต่อองค์กรเป็นองค์ประกอบ ที่สำคัญขององค์กรสมัยใหม่ โดยพลังของการสื่อสารจะเป็นที่ประจักษ์และต่อเนื่อง หากองค์กรเริ่มต้นจากการมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมสมัยที่ตอบโจทย์สังคมและตรงใจประชาชน ซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ กฟผ. จะมุ่งเน้นควรเป็นเทคโนโลยีในระดับครัวเรือนที่พร้อมใช้และเกี่ยวข้องกับแหล่งกำเนิดพลังงาน สมาชิกสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ หรือ ภาคเอกชน โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เช่น การร่วมมือกับเครือข่ายธุรกิจลงทุนสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าในจุดที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายในชุมชน ขยายพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในนาข้าวสู่ท้องถิ่น ชุมชน ศาสนสถาน สถานศึกษาหรือขยายเป็นธุรกิจในครัวเรือนเพื่อความยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นไปตามมาตรฐานระดับนานาชาติ นอกจากนี้ กฟผ. อาจใช้ศูนย์การเรียนรู้ที่มีอยู่ทั่วประเทศเป็นที่ถ่ายทอดความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าที่มีประโยชน์ควบคู่กันไป รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ในการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจระดับประเทศ เช่น กิจกรรมชวนตะลุยโลกพลังงานไฟฟ้า ยกกำลัง 2 ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
นายศรัณย์พงศ์ ฟุ้งเกียรติ
ขณะที่ นายศรัณย์พงศ์ ฟุ้งเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักกิจการสภาและวิชาการ สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในฐานะเป็นผู้มีประสบการณ์ทำงานร่วมกับเกษตรกร กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ประเทศอุตสาหกรรมการเกษตรที่เกษตรกรประมาณ 20 ล้านคนต้องมีส่วนร่วมทั้งในฐานะผู้ผลิตวัตถุดิบและยกระดับเป็นการแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นระบบเกษตรอุตสาหกรรมที่มีเกษตรกรหรือองค์กรเกษตรกรเป็นเจ้าของธุรกิจเองด้วย ดังนั้น เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ. จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยสนับสนุนบทบาทของเกษตรกรยุคใหม่ เช่น โครงการนวัตกรรมปันแสงแบ่งข้าวเพื่อชุมชน หรือ ระบบโซลาร์เซลล์แบบกึ่งใสใช้ในนาข้าว

นอกจากนี้ ตัวแทนสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ยังเห็นว่า กฟผ. สามารถนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานไฟฟ้า มาผนวกเข้ากับภารกิจ CSR ขยายเครือข่ายไปยังกลุ่มเกษตรกร อันเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกร และองค์กรเกษตรกร มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างแท้จริงและยั่งยืน กฟผ. ควรสร้างระบบ CSR ไปยังกลุ่มเฉพาะทางภาคเกษตรกรรมหรือกลุ่มเกษตรกรและเครือข่ายในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานไฟฟ้าไปช่วยเหลือเกษตรกรให้ตรงกับความต้องการ เช่นการส่งเสริมระบบพลังงานธรรมชาติ แสงแดด ลม น้ำ เป็นต้น เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรงกับการขับเคลื่อนภารกิจ CSR ตามที่ กฟผ. ได้มีโครงการต่างๆ มาแล้วนำมาขยายผลในการสนับสนุนให้เกษตรกรและองค์กรเกษตรกรได้รับประโยชน์เสริมความเข้มแข็งในคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างแท้จริงและยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น