xs
xsm
sm
md
lg

สะดุ้งกันทั้งเมืองเมื่อหนังสือพิมพ์ขุดคุ้ยสังคมสมัย ร.๔! ขนาดพระเจ้าน้องยาเธอก็ไม่รอด!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า หนังสือพิมพ์ที่ออกในเมืองไทยฉบับแรก ก็คือ “บางกอกรีคอเดอร์” ของหมอบรัดเลย์ มิชชันนารีอเมริกัน แม้จะออกในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งอยู่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราช แต่ก็เอาจิตวิญญาณของหนังสือพิมพ์ตะวันตกมาใช้ กล้าแสดงออกความคิดเห็นต่อสังคมและวงราชการไทย แม้แต่พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางข้าราชการก็ไม่ยกเว้น ทำให้คนอ่านสะดุ้งกันไปทั้งเมือง

สิ่งที่ทำให้คนอ่านสนใจหนังสือพิมพ์ของหมอบรัดเลย์มากที่สุด ก็คือการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปที่ได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจ ได้ระบายความคับแค้นที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมออกมาให้สังคมรับรู้ หรือแม้แต่ประจานความประพฤติที่มิชอบของคนระดับเจ้านายชั้นสูงอย่างไม่เกรงกลัว

อย่างเช่นได้ตีพิมพ์จดหมายของคนอ่านฉบับหนึ่ง มีความว่า

“เราผู้เป็นเจ้าของจดหมายเหคุ มีความเศร้าหมองใจ เพราะข่าวฤาว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นถาวรยศ ไปเที่ยวเสวยสุราเมาแทบทุกวัน...ไปเที่ยวตามโรงกุงสีโปและโรงสุรา ขอสุราเสวยบ้าง ขอสิ่งของเล็กน้อยบ้าง คนทั้งปวงก็ไม่อาจขัดขืนได้...”

ส่วนเรื่องของคนมีอำนาจหน้าที่ รังแกชาวบ้านอย่างไร้มนุษยธรรม จนผู้พบเห็นมีความรู้สึกสะเทือนใจ และสังเวชต่อผู้ที่ได้รับเคราะห์กรรมจนทนไม่ได้ ต้องทำหนังสือร้องเรียนมายังบางกอกรีคอเดอร์ มีข้อความว่า

“ข้าพเจ้าได้ความว่า...จีนนิ่มที่เปนน้องเขยหลวงภาษีวิเศศ ซึ่งหลวงภาษีวิเศศได้ให้ออกไปเปนนายอากรเตาสุราที่เมืองสมุทรสงคราม เป็นที่ขุนอินทร์อากรนั้น ได้คุมสมักพักพวกในโรงเล่าประมาณ ๓๐ คน ไปจับน้ำกระแช่ที่ตำบลบ้านแขวง เมืองสมุทรสงคราม...เอาคนเหล่านั้นมาจำตรวนใส่โซร่ลั่นกุญแจไว้ แต่คนที่จับมาไว้นั้นมีลูกสาวติดมาคนหนึ่ง อายุประมาณ ๑๓ ปี ๑๔ ปี พวกโรงเล่าบังอาจทำการข่มเหงข่มขืน ผลัดเปลี่ยนกันมากคน หญิงนั้นร้องให้คนในโรงช่วย จีนนิ่มเป็นที่ขุนอินทร์อากร กับจีนเงียบเป็นน้องหลวงภาษีวิเศศ ที่เป็นหลงจุ๊ กับคนในโรง ก็พากันหัวเราะเยาะเย้ยเสีย...”

เป็นการแสดงความบัดสีชั่วร้ายยิ่งกว่าเดรัจฉานเสียอีก ต่อหน้าต่อตาผู้มีอำนาจหน้าที่ ณ ที่นั้น ซึ่งแทนที่จะห้ามปราม กลีบหัวเราะเยาะเย้ยเสียอีก

หนังสือพิมพ์บางกอกรีคอเดอร์ยังได้ตีพิมพ์ความชั่วร้ายมาเปิดเผย กรณีนายด่านใช้อำนาจและกำลังบังคับเอาทรัพย์สินจากพ่อค้า ตามหนังสือร้องเรียนความว่า

“...ข้าพเจ้าบรรทุกข้าวเปลือกล่องเรือใหญ่ลงมาขายยังกรุงเทพฯ...น้ำเชี่ยวเรือหนักจอดไม่ทัน...พวกชาวด่านว่า มึงหนีด่าน กูจะเอาเงินมึง ข้าพเจ้าจีนสี จีนพา ถามว่าจะเอาเท่าไร มึงมีอยู่เท่าไรก็เอามาให้กูเถิด ข้าพเจ้าว่าไม่มี เขาก็ด่าเป็นคำหยาบต่างๆไม่ควรเอาลงพิมพ์...แล้วเขาเตะถึบเอาข้าพเจ้า..ข้าพเจ้ากลัวต้องให้เงินสี่บาทเขา พวกด่านทำดังนี้ ข้าพเจ้าได้ความเดือดร้อนคับแค้นนัก...

...จีนจุ่น จีนมิง จีนหยง...ฯลฯ พวกจีน ๑๑ ลำเหล่านี้ ผู้รักษาด่านก็ได้ทำข่มเหงชกต่อยเตะถีบทุกลำไป และผู้รักษาด่านก็บังคับให้ไถ่แจวแลหางเสือที่ยื้อแย่งเอาไปนั้น...จีนจุ่นเสียค่าไถ่เงินตำลึงสองบาท รวมเป็น ๑๒ คน ๑๒ ลำ เสียค่าไถ่เป็นเงินสิบสองตำลึง บาทสลึง และพวกรักษาด่านกระทำข่มเหงเรือจรเช่นนี้ ข้าพเจ้าเหนว่าราษฎรจะได้รับความเดือดร้อนยิ่งนัก...”

การฟ้องร้องต่อสาธารณชนถึงความไม่ชอบธรรมที่ได้รับจากผู้มีอำนาจผ่านทางหนังสือพิมพ์นั้น บางครั้งก็เป็นเรื่องอื้อฉาวระคายเคืองถึงเบื้องพระยุคลบาทเหมือนกัน เช่น

“ข้าพเจ้ามีความทุกข์ร้อนมาออกหนังสือพิมพ์เรื่องหนึ่ง ข้าพเจ้าไปค้าขาย ณ เมืองสมุทรสงคราม ข้าพเจ้าได้เอาม้าเขียวม้าหนึ่งไปฝากหม่อมเจ้าประเสริฐภักดีไว้...หม่อมเจ้าประเสริฐภักดีพูดบิดพริ้วไป หาคืนให้ข้าพเจ้าไม่...ข้าพเจ้าไปภบม้าของข้าพเจ้าเข้า...จึงเอาม้าของข้าพเจ้าไปขายให้กับหมื่นชำนาน อยู่ในพระอินทราบดีสีหราชรองเมือง ...หม่อมเจ้าประเสริฐศักดิกลับไปอายัดกับพระอินทราบดีสีหราชรองเมือง ว่าม้าตัวนี้ของหม่อมเจ้าประเสริฐศักดิ มีผู้ร้ายลักมา พระอินทราบดีสีหราชรองเมืองก็เอาตัวข้าพเจ้าจำตรวนขังตารางไว้ ให้ข้าพเจ้าได้ความทุกข์ยากอยู่ถึง ๕๑ วัน...พระอินทราบดีสีหราชรองเมืองเหนว่าหม่อมเจ้าประเสริฐศักดิ์ภักดีไม่มาสู้ความกับข้าพเจ้า...จึงปล่อยตัวข้าพเจ้ามา ครั้นข้าพเจ้าจะทูลเกล้าถวายฎีกา ก็เหนว่าเป็นแต่การเล็กน้อย ไม่ควรจะให้ขัดเคืองใต้ฝ่าละอองพระเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้ามีความคับแค้นอยู่ในใจ จึงได้มาออกหนังสือพิมพ์ ภอให้ท่านทั้งปวงทราบว่า หม่อมเจ้าประเสริฐศักดิอยู่ในราชสกูล ไม่ควรจะมาคดโกงให้ข้าพเจ้าสัตว์ผู้ยากได้รับความเดือดร้อน ท่านทั้งหลายทราบเรื่องความนี้แล้ว ขอท่านทั้งปวงจงได้จำใส่ใจไว้ อย่าได้คบหาหม่อมเจ้าประเสริฐศักดิภักดีอีกเลย...”

การใช้หนังสือพิมพ์ระบายความคับแค้นใจแบบนี้ ย่อมทำให้ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นเจ้านายชันสูงจะต้องถูกมองไปในทางที่เสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงเปิดให้หนังสือพิมพ์วิพากย์วิจารณ์การบ้านการเมืองได้อย่างกว้างขวาง แต่ไม่ทรงเห็นด้วยกับเรื่องประเภทนี้ ทรงมีพระราชดำริว่า

“หนังสือไปลงพิมพ์บ้านหมออเมริกัน...จะเชื่อฟังเอาเป็นจริงไม่ได้...ถ้าจริงแล้วทางที่จะว่านั้นมีอยู่คือที่โรงศาล แลร้องถวายฎีกาเปิดเผยอยู่ไม่ห้าม ทางมีอย่างนี้ไม่เดินตามทาง กลับไปลงหนังสือพิมพ์...”

เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมไทยยุคนั้น เรื่องประเภทที่เป็นน้ำท่วมปาก จึงมีหนังสือพิมพ์ของหมอบรัดเลย์มาช่วยระบายความอึดอัดใจ และยังให้สังคมรับรู้ความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นในซอกหลืบ ทำให้คนไทยเริ่มตื่นตัวเข้าร่วมรับรู้ปัญหาของสังคมก่อนที่จะกดไลค์กดแชร์กันสนั่นในวันนี้ จึงถือได้ว่าหมอบรัดเลย์เป็นคนหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมไทยในเรื่องเสรีภาพ นอกเหนือจากที่เป็นผู้นำการแพทย์สมัยใหม่มาสู่เมืองไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น