xs
xsm
sm
md
lg

"มนัญญา"เดิมพันชีวิตชาวไทย ปิดเกม3สารเคมีหรือพ่ายแพ้ทุน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ถือเป็นความท้าท้ายครั้งสำคัญของรัฐบาลพล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ว่าสุดท้ายแล้วจะหาญกล้ายกเลิกการใช้ 3สารเคมีอันตรายประกอบด้วยไกลโฟเซต สารคลอร์ไพริฟอส และพาราควอตได้หรือไม่ หลังจากประเด็นเหล่านี้ ยืดเยื้อมานานตั้งแต่รัฐบาลคสช.ที่มีอำนาจครอบจักรวาลแต่ยังทำไม่สำเร็จ  
 
ขณะที่หลายประเทศในระดับสากลทั่วโลกได้ยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าวไปแล้ว แต่ประเทศไทยกลับนำเข้าสารเคมีวัตถุอันตราย ดังนี้ พาราควอต ปี 62 อยู่ที่จำนวน 21,709 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 61 จำนวน 21,412 ตัน , ไกลโฟเซต ปี 62 จำนวน 48,501 ตัน ลดลงจากปี 61 จำนวน 48,822 ตัน และคลอร์ไพริฟอส ปี 62 จำนวน 932 ตัน ลดลงจากปี 61 ที่มีจำนวน 1,928 ตัน รวมนำเข้า 3 สารเคมีจำนวน 71,142 ตัน
 
ที่สำคัญ ยังมีนโยบายการยกเว้นภาษีนำเข้า ประมาณ 5,600 ล้านบาทต่อปี ทั้งยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ประมาณ 5,900 ล้านบาทต่อปี แก่บริษัทสารพิษ ซึ่งมีมูลค่าภาษีที่รัฐต้องสูญเสียรวมกันมากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี โดยอ้างว่าเป็นการลดการผลักภาระต้นทุนแก่เกษตรกร และกระทรวงเกษตรฯ ยังของบเกือบร้อยล้านจัดอบรมการใช้สารเคมีดังกล่าวให้แก่เกษตรกรกว่า 1.5 ล้านครอบครัว
 
สวนทางกับความห่วงใยของวงการวิชาการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและยืนยันถึงผลร้ายของสารเคมีดังกล่าว เช่น องค์การอนามัยโลก จัดให้พาราควอตเป็นสารเคมีอันตรายปานกลาง และ กระทบต่อสุขภาพในระยะยาวหากถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกาย
 
ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่าในช่วง ต.ค. 61 - 17 ก.ค. 62 พบผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีสาเหตุจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จำนวน 3,067 ราย เสียชีวิต 407 ราย เบิกจ่ายค่ารักษากว่า 14.64 ล้านบาท
 
โดยปี 2559 มีผู้ป่วยจำนวน 4,876 ราย เสียชีวิต 606 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 22.19 ล้านบาท ปี 2560 มีผู้ป่วย 4,916 ราย เสียชีวิต 579 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 21.85 ล้านบาท และในปี 2561 มีผู้ป่วย 4,736 ราย เสียชีวิต 601 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 21.78 ล้านบาท
 
ซึ่งหากรวมจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในช่วง 4 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2562 มีจำนวนถึง 2,193 ราย  
 
รวมถึงงบประมาณค่ารักษาพยาบาลกว่า 20 ล้านบาทต่อปี ไม่รวมผู้ป่วยในสิทธิรักษาพยาบาลอื่นๆ  นี่คือข้อมูลเชิงประจักษ์ของผลกระทบของการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชที่เกิดขึ้น
 
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ภาคประชาชนและองค์กรอิสระออกมาสนับสนุน ให้ยกเลิก 3สารเคมี เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สภาเกษตรกรแห่งชาติ รวมถึงมูลนิธิชีววิถี(ไบโอไทย)
 
สำหรับประเด็นนี้กลับมามีความหวังอีกครั้งเมื่อ  “พรรคภูมิใจไทย”ได้ประกาศ เป็นนโยบายช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่าจะแบน 3สารเคมีให้ได้เพื่อกอบกู้สุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้คนไทย กระทั้งเมื่อเข้าร่วมชายคาของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์  
 
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ก็ไม่รอช้า ประกาศยกเลิก3สารเคมีอันตรายนี้ทันที
 
"ขอถามกลับว่า เห็นคนเจ็บคนป่วยจากสารพิษเหล่านี้แล้ว ยังจะสนับสนุนให้ใช้กันอีกหรือ ส่วนตัวเมื่อเห็นผลลัพธ์แล้ว จะให้ใช้สารพิษดังกล่าวต่อไป ก็ลำบากใจ แต่เรื่องนี้ต้องคุยกันหลายภาคส่วน หวังว่าจะได้คำตอบที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด”  รองนายกฯและรมว.สาธารณสุขกล่าวยืนยัน
 
แต่อีกคนหนึ่ง ที่สังคมต้องเอาใจช่วย ท่ามกลางกระแสกดดันทางการเมือง โดยมีกลุ่มทุนที่เสียผลประโยชน์หนุนหลังคัดค้านการยกเลิก  คือ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช. เกษตรและสหกรณ์ หรือ รมต.หญิง หนึ่งเดียวในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่บัดนี้กำลังต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ขณที่อีก 3 รัฐมนตรีผู้ชายจากกระทรวงเกษตรฯ ที่เปี่ยมและมากบารมีทางการเมือง แต่กลับไม่แยแสประเด็นนี้เลย
 
น.ส.มนัญญากลับแสดงท่าทีชัดเจนยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตรทั้ง 3 ชนิด รวมถึงปุ๋ย ยา และสารเคมีชนิดอื่น ๆ ให้เร็วที่สุดภายในสิ้นปี 2562
 
หากทำสำเร็จถือว่าสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้ธุรกิจและชาวเกษตรกร มากกว่า 40 ล้านคน พร้อมทำให้คนไทย 67 ล้านคน ปลอดภัยจากสารเคมีเกษตร ที่กัดกร่อนชีวิตและสุขภาพประชาชนมายาวนานกว่า 40 ปี
 
หลังจากสังคมฝันค้างมาก่อนหน้านี้ แม้จะได้ "อาจารย์ยักษ์" หรือนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีต รมช.เกษตรฯ ที่ภาพลักษณ์ นักวิชาการด้านเกษตรอินทรีย์ NGOหมายเลข 1 พร้อมความคาดหวังจากสังคม แต่สุดท้ายก็ยังยอมแพ้...
 
น.ส.มนัญญา ที่ถูกมองว่าไร้เดียงสาทางการเมืองกล่าวย้ำว่า ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรทบทวนการใช้ 3 สารเคมีอันตรายที่มีความเสี่ยงสูงให้รอบด้าน และเข้าตรวจสอบสต๊อกสินค้าที่เหลืออยู่ เพื่อเร่งรัดหาสารทดแทนโดยเร็วที่สุด ก่อนจะเตรียมเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในเดือนกันยายน ปีนี้  
 
ขณะที่ พรรคภูมิใจไทย ก็พร้อมเปิดหน้าชนเช่นเดียวกัน ล่าสุด เฟสบุ๊ค “เพจคนภูมิใจไทย” ได้นำเสนอข้อมูลคัดค้านการใช้3สารเคมี เพื่อหวังใช้กระแสสังคมเข้ามาช่วยสนับสนุนอีกช่องทาง
 
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมามีการเสนอตั้งญัตติพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ของสภาฯ
 
พรรคภูมิใจไทย ได้เสนอตัวแทนของนักวิชาการ และภาคประชาสังคม จำนวนถึง  3 คน เข้ามาเป็นคณะกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคภูมิใจไทย  จำนวน4คน
 
ประกอบไปด้วย   1.ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาสุขภาพ โรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ ร.พ.จุฬาฯ แกนนำการต่อต้าน 3 สารเคมี ที่มีมวลชนสนับสนุนจำนวนมาก เป็นที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข  
 
2. รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม เป็นกรรมการวัตถุอันตราย  
 
3. นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai)  ที่มีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ใหญ่ที่สุด  
 
4. นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ที่มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการใช้สารเคมีอันตรายในภาคการเกษตร  
 
สะท้อนให้สังคมเห็นและยืนยันได้ว่า พรรคภูมิใจไทย  “มองสารพิษ เป็นศัตรู”
 
ในสถานการณ์ คณะกรรมการวัตถุอันตราย  จำนวน 29คนที่เป็นผู้อนุมัติให้นำเข้าสารเคมีพิษภาคเกษตร ได้เรียกประชุมกันในวันที่ 18 กันยายน 2562 นี้ ว่าจะอนุมัติอีกหรือไม่
 
เพราะเกรงว่าจะซ้ำรอยเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561  คณะกรรมการวัตถุอันตราย เคยลงมติลับอนุมัติ3สารเคมี มาแล้วสร้างความกังขาให้กับประชาชนจำนวนมาก  โดยมีรายงานแจ้งพบว่าคณะกรรมการบางส่วนเป็นคนของบริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และบางคนเป็นผู้จัดการอยู่ในบริษัทที่ขาย 1 ใน 3 สารเคมีอันตรายอีกด้วย
 
จึงต้องจับตาดูว่าพรรคภูมิใจไทย โดยมีรมต.หญิง 1เดียวในกระทรวงเกษตรฯจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าให้ประชาชนด้วยการปิดเกม แบน3สารเคมีอันตรายได้หรือไม่  หรือพ่ายแพ้ทุนหนุนหลังอีกเช่นเดิม โดยมีสุขภาพอนามัยของชาวไทยเป็นเดิมพัน...
 
ถือเป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด



กำลังโหลดความคิดเห็น