xs
xsm
sm
md
lg

จาก “สงครามฝิ่น” จนถึง “จลาจลในฮ่องกง” ! ถ้าไม่รู้อดีต ก็ไม่เข้าใจปัจจุบัน!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

เรือรบอังกฤษกับสำเภาจีนในสงครามฝิ่น
มีคำกล่าวไว้ว่า “ถ้าไม่รู้เรื่องราวในอดีต ก็ย่อมไม่เข้าใจปัจจุบัน และไม่อาจจะคาดเดาอนาคตได้”

เพราะอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ย่อมโยงใยถึงกัน มีบางสิ่งบางอย่างในปัจจุบัน ทำให้เราข้องใจสงสัยในความเป็นมา แต่ถ้ารู้อดีตของสิ่งนั้น ก็จะเข้าใจปัจจุบันที่ปรากฏอยู่ได้ดี

อย่างเช่นเหตุการณ์จลาจลในฮ่องกงขณะนี้ ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงเกินคาด คนที่ออกมาเคลื่อนไหวในถนนไม่ใช่มีแต่วัยรุ่นหัวรุนแรงเท่านั้น แต่คนในวัยทำงานก็เข้าร่วมด้วยจำนวนมาก มีการท้าทายอำนาจของรัฐบาลจีนที่ปกครองฮ่องกงอย่างเปิดเผย เรียกร้องขอความช่วยเหลือจากชาติตะวันตก ถึงขั้นถือธงชาติอเมริกาในการเดินขบวน และมีการโห่ฮาลั่นสนามกีฬาขณะบรรเลงเพลงชาติจีนในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก เสมือนไม่ใช่คนจีนหรือเป็นคน “ชังชาติ” ไปแล้ว

แน่นอนว่าฮ่องงเป็นแผ่นดินของจีน ทั้งในอดีตและปัจจุบัน แต่ตกไปอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษถึง ๑๐๐ กว่าปี เหตุนี้อาจเป็นไปได้ที่ทำให้คนฮ่องกงในวันนี้ที่เกิดใต้ธงอังกฤษ และถูกอบรมมาด้วยระบบการศึกษาตลอดจนคตินิยมแบบตะวันตก จึงไม่ได้รู้สึกว่าตัวเป็นคนจีน แต่ยังเป็นคนในอาณานิคมของอังกฤษ
ย้อนรอยประวัติศาสตร์เรื่องนี้ ต้องเริ่มในราวปี ค.ศ.๑๘๒๐ หรือ พ.ศ.๒๓๖๓ หลังจากอังกฤษยึดครองอินเดียแล้วได้ทำการค้ากับจีน โดยมีความต้องการใบชาจากจีนเป็นจำนวนมาก แต่ขายสินค้าของตนให้จีนได้น้อย ขาดดุลการค้าอย่างหนัก ต่อมาอังกฤษค้นพบสินค้นตัวใหม่ที่ทำกำไรได้อย่างมหาศาล คือนำฝิ่นจากอินเดียมาป้อนเข้าตลาดจีน ทำให้คนจีนติดฝิ่นกันงอมแงมทุกระดับชั้น

ใน ค.ศ.๑๘๓๘ จีนประกาศห้ามนำเข้าฝิ่น ผู้ฝ่าฝิ่นมีโทษถึงประหารชีวิตทั้งคนค้าและคนเสพ แต่ฝิ่นที่ทำกำไรงามก็ยังทะลักเข้าจีนไม่หยุด ใน ค.ศ.๑๘๓๙ จีนจับฝิ่นจำนวนมากได้ที่ท่าเรือกวางโจว อังกฤษขอคืน แต่จีนปฏิเสธ และบังคับให้พ่อค้าอังกฤษลงนามในข้อตกลงว่าจะไม่ค้าฝิ่นอีก พ่อค้าอังกฤษปฏิเสธ

รัฐบาลจีนได้มีหนังสือไปถึงควีนวิกตอเรีย ถามว่ารัฐบาลอังกฤษห้ามค้าฝิ่นโดยเด็ดขาดในอังกฤษ ไอร์แลนด์ และสกอตแลนด์ โดยอ้างว่าเป็นสิ่งเลวร้ายที่ผิดศีลธรรม แต่ทำไมกลับส่งฝิ่นมาขายให้จีนและตะวันออกไกล อังกฤษกลับตอบไม่ตรงคำถาม บอกว่ารัฐบาลจีนยึดสินค้าของชาวอังกฤษเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรม และขอสินค้าคืน จีนจึงตอบโต้ด้วยการทำลายฝิ่นของกลางทั้งหมด อังกฤษเลยได้โอกาสยึดเป็นข้ออ้าง ส่งกองเรือเข้าปิดล้อมชายฝั่งมณฑลกวางตุ้ง รวมทั้งเกาลูนและฮ่องกง

ที่ระรานไปทั่วโลกได้ก็เพราะทำปืนที่มีประสิทธิภาพได้ก่อน จีนจึงต้องยอมลงนามในสัญญานานกิงในวันที่๒๙ สิงหาคม ค.ศ.๑๘๔๒ จำใจรับเอาฝิ่นไปมอมเมาประชาชน และต้องชดใช้ค่าฝิ่นที่ถูกทำลาย พร้อมค่าปฏิกรณ์สงคราม ยอมเปิดเมืองท่าชายทะเล ๕ แห่ง มี กวางโจว เซียะเหมิน ผู้โจว หนิงโป เซี่ยงไฮ้ รวมทั้งเกาะฮ่องกงและเกาะเล็กๆที่อยู่โดยรอบให้อังกฤษเช่า และให้คนที่อยู่ในเขตเช่านี้ได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตไม่ต้องขึ้นศาลจีน

สัญญานี้ทำให้ฝิ่นกลายเป็นสินค้าถูกกฎหมาย ถือเป็นยารักษาโรค มีจำนวนประชาชนติดกันมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นสินค้าราคาถูกจากเครื่องจักรยังหลั่งไหลเข้ามา กระทบต่ออุตสาหกรรมพื้นบ้านอย่างหนัก อีกทั้งดินแดนเช่าเหล่านี้ยังเป็นที่หลบภัยของเหล่ามิจฉาชีพและอาชญากรที่ก่อคดีขึ้นในเขตจีน

แต่กระนั้นอังกฤษก็ยังไม่พอใจ จะขอแก้สัญญานานกิงเพื่อให้ตนได้รับประโยชน์ยิ่งขึ้นจากการค้าอีก แต่จีนไม่ยอมให้แก้ อังกฤษมาได้โอกาสเมื่อจีนได้ยึดเรือแอร์โรว์ พร้อมด้วยลูกเรือซึ่งเป็นชาวจีน ๑๒ คน ด้วยข้อหาว่าเป็นโจรสลัดและลอบขนสินค้าเข้าเมือง แต่เรือแอร์โรว์แม้จะมีเจ้าของเป็นคนจีนแต่จดทะเบียนกับอังกฤษ อังกฤษจึงขอให้จีนส่งเรือและลูกเรือทั้งหมดคืน อ้างว่าเรือชักธงอังกฤษต้องได้รับการปกป้องตามสัญญานานกิง จีนปฏิเสธ ขณะเดียวกันก็มีบาทหลวงฝรั่งเศสถูกฆ่าตาย อังกฤษกับฝรั่งเศสจึงถือเป็นข้ออ้างยกกองเรือมาปิดล้อมเมืองกวางโจว ครั้งนี้มีอเมริกาและรัสเซียซึ่งเข้ามามีผลประโยชน์ทางการค้าในจีนสมทบมาด้วย เพื่อหวังจะได้เพิ่มผลประโยชน์จากการแก้สัญญา

สงครามครั้งนี้จีนก็ต้องแพ้อีก ยอมทำสัญญาสงบศึกที่เมืองเทียนจินในเดือนมิถุนายน ค.ศ.๑๘๕๘ แต่แล้วการสู้รบก็เกิดขึ้นอีกทั้งในฮ่องกงและปักกิ่งในปีต่อมา เมื่อจีนปฏิเสธที่จะให้อังกฤษตั้งสถานทูตขึ้นที่ปักกิ่ง กองทหารของชาติตะวันตกได้ร่วมกันเข้าปล้นวัตถุโบราณและของมีค่าแล้วเผาพระราชวังฤดูร้อน ๒ หลัง คือ ชิงอี และหยวนหมิงหยวน ในเดือนตุลาคม ค.ศ.๑๘๖๐ จีนจึงยอมแพ้เพราะกลัวว่าจะถูกทำลายพระราชวังต้องห้ามที่ปักกิ่งด้วย

ผลของสัญญาสงบคึกครั้งนี้ที่ต้องทำกับ ๔ ชาติตะวันตก จีนต้องเปิดเมืองท่าขึ้น ๑๑ แห่งให้ชาติตะวันตกค้าขายได้อย่างเสรี โดยเสียภาษีนำเข้าไม่เกินร้อยละ ๒.๕ และทั้ง ๔ ชาติจัดตั้งสถานทูตขึ้นที่นครปักกิ่งได้รวมทั้งเรือรบของชาติเหล่านี้สามารถเข้าออกแม่น้ำฮวงโหได้อย่างเสรี

ใน ค.ศ.๑๘๙๘ อังกฤษบีบจีนอีก ขอเช่าพื้นที่รอบบริเวณเกาะฮ่องกงคือนิวเทอริทอรี่บนฝั่งเกาลูนเพิ่ม ทำให้อังกฤษครอบครองพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกเกือบ ๑๐ เท่า มีกำหนดเวลาเช่า ๙๙ ปี โดยจะคืนพื้นที่ทั้งหมดให้จีนในวันที่ ๑ กรกฎาคม ค.ศ.๑๙๙๗ และอังกฤษก็ต้องทำตามสัญญา คืนเกาะฮ่องกงและนิวเทอริทอรี่ให้จีนในวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๐

ฮ่องกงได้กลายเป็นเขตบริหารพิเศษที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางของจีนซึ่งใช้นโยบาย ๑ ประเทศ ๒ ระบบ ในขณะที่เศรษฐกิจจีนกำลังรุ่งเรืองอย่างสุดขีด ฮ่องกงก็พลอยเติบโตไปด้วย มีตัวเลขว่าในปี พ.ศ.๒๕๖๐ ชาวฮ่องกงมีรายได้ถึง ๑,๔๖๔,๓๑๘ บาทต่อปี

แต่อย่างไรก็ตาม ฮ่องกงจะอยู่ในระบบที่มีอิสระนี้ไปได้อีก ๒๘ ปีเท่านั้น จะต้องไปรวมอยู่ในระบบเดียวกับเมืองอื่นๆของจีนในปี พ.ศ.๒๕๙๐ ซึ่งหมายถึงระบบการปกครอง เศรษฐกิจ รวมทั้งเสรีภาพของฮ่องกงอย่างในวันนี้จะหมดไป จึงก่อให้เกิดความวิตกแก่คนฮ่องกงที่เกิดและเติบโตในระบบการปกครองที่เป็นอิสระ เมื่อเกิดกรณีสงครามการค้าระหว่าจีนกับอเมริกาขึ้น จึงมีตะวันตกหลายชาติได้ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนคนที่กำลังวิตก ซึ่งทำให้จีนต้องเหนื่อยใจพอสมควร
แต่จีนวันนี้ไม่ใช่ “คนขี้โรคแห่งเอเชีย” อย่างในสมัยก่อนอีกแล้ว มีอิทธิฤทธิ์พอที่จะตอบโต้และแก้ปัญหานี้ได้ไม่ยาก จึงเตือนผู้ชุมนุมว่า “ผู้ที่เล่นกับไฟ ยอมทำลายตัวเอง”

ไทยเราก็ต้องเผชิญกับฝิ่นของอังกฤษในยุคเดียวกับจีนเหมือนกัน มีพ่อค้าจีนลักลอบนำฝิ่นมาขึ้นตามชายทะเลไทยทั่วไปหมด ส่วนอังกฤษที่ส่งสายลับเข้ามาเป็นพ่อค้าบังหน้า เปิด “ห้างมอร์แกนและฮันเตอร์” เป็นห้างแรกของชาวยุโรปในกรุงเทพฯ ก็แอบค้าฝิ่นเช่นกัน

ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ อังกฤษได้ส่ง เซอร์เจมส์ บรู๊ค เป็นทูตการค้าเข้ามาขอเจรจาลดภาษีขาเข้าและเปิดตลาดการค้าฝิ่นอย่างถูกกฎหมายในเมืองไทย แต่ได้รับการปฏิเสธจากรัชกาลที่ ๓ ทำให้อังกฤษไม่พอใจ จะเอาเรือรบเข้ามาบังคับ เผอิญเปลี่ยนรัชกาลเสียก่อนมิฉะนั้นไทยอาจจะมีสงครามฝิ่นแบบจีนก็ได้

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๔ ทรงตระหนักว่าไม่อาจขัดขวางการเรียกร้องของอังกฤษได้ จึงมีพระราชสาส์นตอบรับข้อเรียกร้องทางภาษีของเซอร์เจมส์ บรู๊คทุกข้อ ส่วนเรื่องฝิ่นทรงเห็นว่าไม่อาจขัดขวางได้เช่นกัน เพราะเป็นผลประโยชน์มหาศาลของอังกฤษ จึงทรงมีเงื่อนไขว่าขอให้ขายกับรัฐบาลเท่านั้น รัฐบาลจะเอาไปจำหน่ายต่อเองเพื่อควบคุมได้ เลยไม่ต้องทำสงครามฝิ่นกับอังกฤษ

อ่านประวัติศาสตร์แล้วจะเข้าใจถึงความเลวร้ายของลัทธิล่าอาณานิคม ใช้ความเจริญก้าวหน้าด้านอาวุธเข้าปล้นประเทศที่ด้อยกว่า กวาดทรัพยากรไปบำรุงบำเรอประเทศของตนอย่างไร้มนุษยธรรมและความกระดากอาย แม้จำจะต้องวางมือด้วยยุคสมัยเปลี่ยนไป ก็ยังวางยาเอาไว้ในรูปแบบต่างๆ แม้วันนี้ก็อย่าคิดเชื้อชั่วจะหมดไป ยังได้เห็นการปล้นทรัพยากรประเทศที่ด้อยอาวุธกว่าอยู่เป็นประจำ โดยเจ้าเก่าๆที่ยังมีพฤติกรรมเดิม เปลี่ยนแต่รูปแบบไปตามยุค
กำลังโหลดความคิดเห็น