เคยเล่าเรื่องเหลือเชื่อไปแล้วว่า ในยุคกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ จักรพรรดิญี่ปุ่นเคยอ้อนวอนขอปืนใหญ่และดินปืนไทยว่าเยี่ยมที่สุด เมื่อไม่ได้ไปจนถึงสมัยพระเจ้าทรงธรรมก็ยังอ้อนวอนมาอีกครั้งว่า “บัดนี้มีรับสั่งในพระเจ้ากรุงญี่ปุ่นให้แจ้งมายังท่านว่า พระองค์ต้องพระประสงค์จะได้ปืนใหญ่ในประเทศอันมีเกียรติของท่านอย่างที่สุด ถ้าท่านช่วยนำความขึ้นกราบทูลพระเจ้ากรุงสยามให้ทรงทราบพระประสงค์ และโปรดประทานสักสองสามกระบอกในปีหน้านี้แล้ว พระองค์จะทรงยินดีและนับว่าเป็นเอกลาภอย่างยิ่ง ทั้งดินปืนในประเทศของท่านก็เป็นดินปืนชนิดที่ดีอย่างประหลาด...”
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๖ ทูตทหารบกอังกฤษมาเห็นรถเกราะที่ช่างไทยสร้าง เข้าประลองยุทธเสือป่าในปี ๒๔๖๒ เกิดความทึ่ง แต่อยากจะแสดงความฉลาดเสียหน่อยท้วงว่าใช้ปืนผิดขาด เมื่อคนออกแบบอธิบาย ก็เลยขอจับมือยอมรับว่าตัวเองโง่ไปหน่อย
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๗ ต่อรัชกาลที่ ๘ ไทยยังสร้างเครื่องบินรบเอง และสร้างถึง ๒๐๐ กว่าเครื่อง จนมีเครื่องบินรบมากกว่าทุกประเทศในเอเซีย เข้าทำสงครามเวหาครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยกับฝรั่งเศสในอินโดจีน แม้คู่ต่อสู้มีตำแหน่งถึงจ้าวเวหาของยุโรป เรียกว่าครั้งแรกก็ท้าชิงกับแชมป์โลกเลย แต่ฝรั่งเศสกลับเป็นฝ่ายขอสงบศึก
วันนี้จะขอเล่าความเก่งเหลือเชื่อของคนไทยอีกเรื่องหนึ่ง ที่สร้างเรือรบใช้เครื่องยนต์แบบยุโรปขึ้นเองเป็นลำแรกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ โดยสร้างจากความรู้ที่กางตำราภาษาอังกฤษที่เพิ่งเรียนเท่านั้น
ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีชายุโรปกลับเข้ามาเมืองไทยอีกครั้ง หลังขาดหายไปตั้งแต่สิ้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงผนวชเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ จึงทรงขอให้มิชชันนารีอเมริกันมาช่วยสอนภาษาอังกฤษที่วัดบวรฯ ซึ่งนอกจากพระองค์จะทรงศึกษาเองแล้ว ยังมีคนหนุ่มหัวก้าวหน้ามาเรียนด้วยอีกหลายคน
เมื่อศึกษาจนสามารถอ่าน เขียน พูด ได้แล้ว หลายคนก็เปิดหน้าต่างให้แสงจากโลกตะวันตกส่องเข้ามา ด้วยการสั่งหนังสือวิชาการต่างๆมาศึกษาด้วยตนเองตามความสนใจของตน อย่าง “เจ้าฟ้าน้อย” กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ซึ่งต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์คู่ในรัชกาลที่ ๔ ทรงสนใจวิชาทหาร สั่งตำราปืนใหญ่และทรงแปลเป็นภาษาไทยเพื่อใช้ในกองทัพ ทั้งยังทรงแปลหนังสือเกี่ยวกับการทหารและเครื่องจักรไว้อีกหลายเล่ม ในปี พ.ศ.๒๓๙๐ ทรงดัดแปลงเรือลำหนึ่งให้เป็นเรือกลไฟลำแรกของไทย มีล้อใบพัดน้ำด้านข้าง ใช้เป็นเรือรบ นำออกอวดโฉมในแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม อันเป็นวันชาติของสหรัฐอเมริกาพอดี หนังสือพิมพ์ “The New York Tribune” ได้นำพระปรีชาสามารถในเรื่องนี้ไปลงพิมพ์สดุดี
นักเรียนอังกฤษรุ่นแรกอีกคนคือ หลวงนายสิทธิ์ ซึ่งก็คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ ๕ ท่านสนใจเรื่องเรือเป็นอันดับแรก เพราะบิดาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ ปกครองหัวเมืองชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก จึงสั่งตำราเรือกลไฟมา แล้วไปกางตำราต่อเรือกำปั่นรบที่เรียกว่าเรือกำปั่นบริค ที่จันทบุรีในขณะที่ท่านอายุเพียง ๒๗ ปีเท่านั้น นำมาถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ.๒๓๗๘ พระราชทานชื่อว่า “แกล้วกลางสมุทร” ถือได้ว่าเป็นเรือกลไฟลำแรกที่ต่อในไทย ฝรั่งเรียกกันว่า “เรือแอเรียล”
นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ มิชชันนารีอเมริกันผู้นำวิทยาการแผนใหม่มาสู่เมืองไทย ได้บันทึกไดอารีกล่าวถึง “เรือแกล้วกลางสมุทร” ไว้ว่า
“วันนี้ได้ขึ้นไปชมเรือบริค (เรือใบสองเสา) ชื่อแอเรียล ซึ่งเป็นเรือบริคลำแรกที่ได้ต่อขึ้นในเมืองไทย และผู้ต่อได้นำมาจากจันทบุรีเมื่อสองสามวันนี้เพื่อถวายพระเจ้าแผ่นดิน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่คนไทยต่อเรือแบบยุโรป เมื่อพิจารณาดูแล้ว ประกอบกับความคิดที่ว่าแบบที่ขุนนางผู้นี้ใช้อยู่ ก็เห็นจะไม่สู้ดีนัก และความรู้ในวิชาการต่อเรือของท่านก็คงเก็บเอาที่โน่นที่นี่บ้าง ข้าพเจ้าจึงขอยอมรับว่า เรือบริคลำนี้เป็นวัตถุพยานแสดงให้เห็นอัจฉริยะในการช่างของขุนนางหนุ่มผู้นี้ ว่ามีเหนือผู้อื่นทั้งหมดในเมืองไทย และถ้าจะเอาท่านไปเทียบกับคนฝรั่ง ก็จำต้องยอมนับท่านเข้าในจำพวกคนยุโรปผู้เฉียบแหลมผู้หนึ่ง ท่านผู้นี้กำลังต่อเรืออยู่ที่จันทบุรีหลายลำ มีระวางบรรทุกตั้ง ๓๐๐-๔๐๐ ตันทั้งนั้น เมื่อคนชั้นปกครองในเมืองไทยมีความกระหายที่จะเรียนรู้ความเจริญแบบยุโรปเช่นนี้ ก็ย่อมทำให้พวกเราเกิดมีใจมุมานะที่จะอยู่และปฏิบัติกิจการของเราต่อไปเป็นอันมาก...”
ในปี พ.ศ. ๒๓๗๙ หลวงนายสิทธิได้ต่อเรือกำปั่นเสร็จอีก ๔ ลำ ได้แก่ เรือรบวิทยาคม เรือรบวัฒนานาม (แอโร) เรือจินดาดวงแก้ว (ประเภทเรือบาร์ก ชื่อว่า ซักเซส) เรือลำที่สี่ชื่อ เทพโกสินทร์ (ประเภทเรือขิป ซึ่งเป็นเรือของแม่ทัพหน้าคราวยกไปตีเมืองบันทายมาศ)
เนื่องจากมีเรือกำปั่นใบแบบฝรั่งหลายลำ จึงจำเป็นต้องจ้างชาวต่างประเทศ มาช่วยฝึกสอนวิชาเดินเรือให้แก่คนไทย ใน พ.ศ. ๒๓๘๐ โปรดเกล้าฯ ให้จ้างชาวอังกฤษชื่อ กัปตันทริกซ์ มาสอนวิชาเดินเรือทั้งเรือรบและเรือเดินสินค้า
ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ หลวงนายสิทธิได้สร้างเรือกำปั่นแบบฝรั่งขึ้นอีกหลายลำ ได้แก่ เรือราชฤทธิ (พ.ศ. ๒๓๘๔) เรือสยามภพ (พ.ศ. ๒๓๘๕) เรือโผนเผ่นทะเล (พ.ศ. ๒๓๙๒) และเรือจรจบชล (พ.ศ. ๒๓๙๓)
หลวงสิทธินายเวร รับราชการมี ความดีความชอบมากจึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นโดยลำดับ ได้เลื่อนเป็น จมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก พ.ศ. ๒๓๘๔ เพิ่มสร้อยนามของท่านเป็น จมื่นไวยวรนาถภักดีศรีสุริยวงศ์
พ.ศ. ๒๓๙๓ โปรดเกล้าฯ ให้เป็น พระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก อาจกล่าวได้ว่าท่านเป็นมหาดเล็ก "คู่บุญ" ในรัชกาลที่ ๓ เพราะท่านเป็นผู้หนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งให้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด
ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ต่อเรือพระที่นั่งลำใหญ่ที่สุดขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๔๐๖ เดิมมีชื่อ “เรือบรมราชวรฤทธิ์” ต่อมาได้พระราชทานนามใหม่ว่า “เรืออรรคราชวรเดช” เรือพระที่นั่งลำนี้เป็นเรือกลไฟจักร ๒ ปล่อง ใหญ่กว่าเรือกลไฟพระที่นั่งทั้งปวงที่มีอยู่ในเวลานั้น ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้กระบวนเสด็จไปได้ในเรือลำเดียว ไม่ต้องกะเกณฑ์พาหนะให้ลำบาก ลักษณะเป็นเรือยอชต์ ตัวเรือไม้ ระวางขับน้ำ ๖๐๐ ตัน ความเร็ว ๑๒ นอต เป็นเรือจักรช้าง ยาว ๖๔.๖๑ เมตร กว้าง ๖.๐๙ เมตร มีพื้น ๒ ชั้น มีปืนใหญ่ ๒ กระบอก ถือกันว่าเป็นเรือยอร์ชสำหรับพระราชา ใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินไปในในที่ต่างๆทั้งในรัชกาลที่ ๔ และที่ ๕ ทั้งยังโปรดเกล้าฯให้สร้างอู่ต่อเรือขึ้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯขึ้นหลายอู่
การทหารเรือของไทยซึ่งเริ่มเปลี่ยนโฉมเข้าสู่สมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้โรยราจนหายไปหมดสิ้นจนต้องซื้อเขาใช้ทุกอย่างในวันนี้ เช่นเดียวกับเครื่องบิน และรถเกราะ แต่ก็เริ่มมีความหวังขึ้นอีกในยุคนี้ ที่เราสามารถต่อเรือตรวจฝั่งขึ้นใช้เอง สร้างเครื่องบินฝีกบินเองได้ และสร้างรถเกราะส่งไปขายต่างประเทศ แม้จะเป็นของเอกชนก็ตาม ซึ่งต่อไปเราก็คงพัฒนาจนสามารถลดงบประมาณด้านการซื้ออาวุธป้องกันประเทศลงได้